12 May 2008

ท่านผู้อ่านเคยสังเกตบ้างไหมครับว่าเราจะได้สังเกตเห็นหรือรับทราบกลยุทธ์ดีๆ ของบริษัทได้ก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปพอสมควร กรณีศึกษาทางกลยุทธ์ทั้งหลายมักจะเป็นการศึกษาย้อนหลังถึงนวัตกรรมทางกลยุทธ์ของบริษัทที่ประสบความสำเร็จไปนานแล้วพอสมควร กรณีศึกษาของบริษัทชั้นนำอย่าง Wal-Mart, South West, Starbucks, Google ฯลฯ เป็นการศึกษาถึงกลยุทธ์ใหม่ๆ ของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในอดีต แต่เวลาบริษัทไหนที่คิดกลยุทธ์ใหม่ๆ เรามักจะไม่ค่อยได้ระแคะระคาย หรือ รับทราบกันเท่าใด

            จริงๆ แล้วเชื่อว่าในประเทศไทยหรือในโลกธุรกิจใบนี้ ย่อมมีบริษัทอยู่เป็นจำนวนมากที่กำลังคิดหรือเริ่มนำกลยุทธ์ใหม่ๆ มาใช้ เพียงแต่กลยุทธ์หรือสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้นอาจจะยังไม่ได้เป็นที่รับทราบและรับรู้กันอย่างแพร่หลาย แต่เชื่อเถอะครับว่าไม่ช้าไม่นาน ถ้าบริษัทเหล่านั้นประสบความสำเร็จกับกลยุทธ์ใหม่ๆ ของตนเอง เราก็จะได้เห็นกรณีศึกษาใหม่ๆ ที่โด่งดังทางกลยุทธ์เช่นในอดีต

            ผมได้อ่านหนังสือเล่มเล็กๆ แต่น่าสนใจเล่มหนึ่งชื่อ 5 Future Strategies You Need Right Now เขียนโดย George Stalk ซึ่งเป็นที่ปรึกษาชื่อดังทางด้านกลยุทธ์อยู่ที่ Boston Consult Group บริษัทที่ปรึกษาทางด้านกลยุทธ์ชื่อดัง โดยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เขาได้ให้ข้อเสนอแนะถึงกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจและมีโอกาสหรือแนวโน้มที่ผู้บริหารควรจะให้ความสนใจ เนื่องจากโอกาสที่จะอาจจะพัฒนากลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในอนาคต เรามาดูกลยุทธ์แห่งอนาคตทั้งห้าประการกันคร่าวๆ นะครับ

            ประการแรกเขาเรียกว่า Supply Chain Gymnastics ซึ่งไม่ใช่เรื่องของห่วงโซ่อุปทานแบบที่เราคุ้น

เคยกันอยู่แล้วในปัจจุบันนะครับ แต่เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทต่างๆ ในโลกตะวันตกไม่ว่าจะอเมริกาหรือยุโรปต่างๆ ได้ใช้กลยุทธ์การ Outsource กำลังการผลิตต่างๆ ของตนเองมายังประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือความพร้อมทางด้านโครงสร้างของท่าเรือและการขนส่งทางชายฝั่งด้านตะวันตกของอเมริกา และยุโรป กลับไม่เพียงพอต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตขึ้นจากทางฝั่งเอเชีย แล้วส่งกลับไปยังอเมริกาและยุโรป

            จากตัวเลขทางสถิตินั้นพบว่าการขนส่งทางเรือมายังท่าเรือทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐนั้น จะถึงจุดตันหรือเต็มกำลังความสามารถที่ท่าเรือจะรับได้ในปี 2010 และจะส่งผลให้อุปสงค์และอุปทานในด้านการ

ขนส่งไม่สมดุลกัน ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่าปัญหาเรื่องของห่วงโซ่อุปทานที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่เห็นเกี่ยวกับเรื่องของกลยุทธ์แต่อย่างใด แต่เราก็ต้องอย่าลืมด้วยนะครับว่าทั้งสองเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกันมาก บริษัทหลายแห่งในอเมริกาเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น และได้เริ่มเตรียมแผนที่จะรองรับปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสต็อกสินค้า การพยายามที่จะพยากรณ์ความต้องการให้แม่นยำขึ้น หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางน้ำเป็นทางอากาศ (ถึงแม้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น) ฯลฯ

            ผลกระทบของสถานการณ์ในครั้งนี้คงส่งผลต่อธุรกิจของอเมริกาพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของต้นทุนต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้น แล้วคงส่งผลต่อการปรับและคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่เหมาะสมออกมา สำหรับประเทศไทยนั้นผลกระทบที่จะได้รับนั้นก็คงต้องมองในมุมกลับกันนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ที่ต้องมีการส่งสินค้าของตนเองไปอเมริกา ที่คงจะได้รับผลกระทบจากความแออัด ล่าช้าของการขนส่งสินค้าเข้าทางฝั่งตะวันตกของอเมริกา รวมทั้งต้องเริ่มศึกษาและเตรียมพร้อมที่จะรองรับต่อการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทอเมริกาด้วย

            นอกเหนือจากเรื่องของ Supply Chain Gymnastics ที่เล่าคร่าวๆ ไปข้างต้นแล้วกลยุทธ์แห่งอนาคตอีกสี่ประการที่หนังสือเล่มนี้ได้เขียนถึงไว้ยังประกอบไปด้วย Sidestepping Economies of Scale ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ในด้านของการผลิตที่ไม่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ลดลงเนื่องจากขนาดที่เพิ่มขึ้น หรือ เรื่องของ Dynamic Pricing ที่ต่อไปบริษัทต่างๆ สามารถตั้งราคาสินค้าได้อย่างเป็นปัจจุบันเพื่อ

สะท้อนถึงราคาสินค้าหรือบริการของคู่แข่งขัน รวมทั้งสะท้อนถึงความต้องการของลูกค้า และอุปทานที่มีอยู่ หรือเรื่องของ Embracing Complexity ซึ่งสะท้อนให้เห็นอีกมุมมองของความเรียบง่ายที่กำลังเป็นที่นิยมกัน

ในปัจจุบัน โดยบริษัทต่างๆ ยังคงเสนอสินค้าหรือบริการที่สลับซับซ้อน มีหลากหลาย (และอาจจะสร้างความสับสนให้กับลูกค้าได้) ต่อไป เพียงแต่ต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับความหลากหลายดังกล่าว และกลยุทธ์แห่งอนาคตประการสุดท้ายคือเรื่องของ Infinite Bandwidth ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในอนาคตเลยนะครับ เรื่องของการไม่มีข้อจำกัดในการส่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งจะทำให้บริษัทที่รู้ตัว และตระหนักได้ทันสามารถที่จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยการใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าวในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การสร้างรูปแบบของธุรกิจใหม่ๆ หรือ การสร้างธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาเลย

            จะสังเกตนะครับว่ากลยุทธ์แห่งอนาคตทั้งห้านั้น ปัจจุบันยังมีสภาพเป็นวุ้นอยู่เลย แต่ถ้าเราตระหนักและมองเห็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์กับการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กรไม่มากก็น้อยนะครับ