26 August 2007
ผมได้มีโอกาสหยิบหนังสือที่ซื้อไว้หลายปีแต่ยังไม่ได้อ่านชื่อ Toxic Emotions at Work โดย Peter J. Frost มาอ่านครับ และคิดว่าน่าสนใจและน่าจะตรงกับสิ่งที่หลายๆ ท่านกำลังประสบในปัจจุบันนะครับ เลยขออนุญาตินำเนื้อหาบางส่วนมาเสนอครับ ในหนังสือเล่มนี้เขาเปิดประเด็นว่าในชีวิตการทำงานของทุกคนนั้นย่อมประสบกับความเจ็บปวด หรือ ความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นจากที่ทำงานนั้นอาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในองค์กรในด้านต่างๆ หรือการกระทำของผู้บริหารต่อลูกน้อง และความเจ็บปวดหรือความไม่สบายใจดังกล่าว ก็อาจจะพัฒนาสู่พิษร้ายที่ฝังลึกในองค์กร
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรที่เป็นพิษ (Toxicity) นั้นส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการทำงานของบุคลากรและสุดท้ายแล้วย่อมส่งผลเสียต่อตัวองค์กรเอง บุคลากรที่เผชิญกับความเจ็บปวดในการทำงาน มักจะสูญเสียกำลังใจในการทำงาน ความเชื่อมั่น และความมุ่งมั่นในการทำงาน ซึ่งสุดท้ายแล้วย่อมส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการทำงาน และสุดท้ายแล้วย่อมนำไปสู่ผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงานที่ลดลงและกำไรขององค์กรที่ลดลง
นอกจากนี้ถ้าบุคลากรมีความรู้สึกว่าตนเองได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือ ไม่ได้รับเกียรติจากเจ้านาย บุคลากรมักจะหาทางเอาคืนกับตัวเจ้านายและองค์กร นับตั้งแต่การปล่อยเกียร์ว่างในการทำงาน หรือ การทำงานอย่างไม่เต็มความสามารถ การปล่อยข่าวลือ ข่าวไม่ดีต่างๆ เกี่ยวกับองค์กร การสูญเสียความภักดีที่มีต่อองค์กร หรือแม้กระทั่งการทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร
ทีนี้ในเมื่อเรารู้แล้วว่าองค์กรที่มีลักษณะเป็นพิษนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีและต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน เรามาดูกันต่อซิครับว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นพิษภายในองค์กร เชื่อว่าสาเหตุหลักๆ ท่านผู้อ่านก็คงพอเดาได้นะครับว่า องค์กรที่เป็นพิษมักจะมาจากผู้บริหารที่เป็นพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติและพฤติกรรมของคนที่เป็นผู้บังคับบัญชา เราลองมาดูตัวอย่างของบางพฤติกรรมของผู้บังคับบัญชาที่นำไปสู่องค์กรที่เป็นพิษกันนะครับ
ที่พบเจอกันบ่อยมากคือเจ้านายที่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะชอบทำร้ายจิตใจของลูกน้องครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้ลูกน้องต้องอับอาย เสียหน้า สูญเสียความมั่นใจ ความเชื่อมั่นของตนเอง อาจจะบอกได้ว่าเจ้านายพวกนี้ชอบทำให้ผู้อื่นได้รู้สึกอับอายหรือเจ็บปวดทางจิตใจ และส่วนใหญ่ลูกน้องก็ไม่มีสิทธิ์หรือโอกาสตอบโต้ เนื่องจากสายบังคับบัญชาที่มีอยู่ เจ้านายเหล่านี้จะชอบค่อนขอด เหน็บ กัด ทำให้ลูกน้องได้รู้สึกอับอาย หรือ ดูไม่ฉลาด ต่อหน้าผู้อื่น ถ้าเจ้านายเหล่านี้ไม่ชอบหน้าใครแล้ว ก็จะคอยจองล้างจองผลาญลูกน้องคนนั้นตลอดเวลาจนเรียกได้ว่าไม่ได้ผุดได้เกิด
ในบางครั้งเจ้านายประเภทนี้ก็จะโจมตีทุกๆ คนโดยไม่เลือกหน้าครับ เรียกได้ว่าใครขวางหน้าหรืออยู่ในรัศมีก็จะโดนโจมตีทำลายล้างหมด และที่แย่ไปกว่านั้นคือเดาไม่ได้ด้วยครับว่า ลูกน้องคนไหน หรือ เมื่อไรที่จะโดนเจ้านายตนเองโจมตี ทำให้เวลาบุคลากรต้องประชุมกับเจ้านายที่มีลักษณะดังกล่าวจะไม่มีความสุขในการประชุมเลย เนื่องจากไม่สามารถเดาอารมณ์เจ้านายได้เลยว่าจะขึ้นหรือจะลง และใครจะเป็นผู้ถูกโจมตีเป็นรายต่อไป
ถ้าจะมาวิเคราะห์สาเหตุว่าทำไมเจ้านายถึงได้มีพฤติกรรมที่จ้องจะโจมตีผู้อื่นนั้น ก็จะมีสาเหตุของพฤติกรรมที่หลากหลายออกไปครับ เช่น มีความต้องการที่จะควบคุมหรือชี้นำผู้อื่น หรือ อคติส่วนตัวต่อผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ หรือ ความไม่เชื่อใจในลูกน้อง หรือ ความรู้สึกที่ปลูกฝังอยู่ตลอดเวลาว่าลูกน้องทำงานไม่เคยถูกใจ ฯลฯ และเจ้านายเหล่านี้ก็เชื่อว่าการจิก กัด หรือ โจมตีลูกน้อง นั้นเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการกระตุ้นและจูงใจลูกน้อง เพื่อให้ได้งานออกมาดีที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใดก็ตามนะครับฝ่ายถูกกระทำหรือลูกน้องนั้นก็มักจะมีความรู้สึก หวาดกลัว สับสน โกรธ หรือ ท้อแท้ สุดท้ายทุกคนก็พยายามทำตัวให้ปลอดภัยที่สุด เพื่อลดโอกาสในการถูกโจมตีจากเจ้านาย ไม่ว่าจะเป็นการลดความพยายามในการทำงาน การไม่พยายามเข้าร่วมประชุมกับเจ้านาย หรือ การไม่นำเสนองานที่ตัวเองทำให้เจ้านายได้ประจักษ์
ประเด็นที่น่าสนใจคือพฤติกรรมที่เป็นพิษของเจ้านายประเภทนี้ ถ้าไม่ดูโดยละเอียดอาจจะไม่พบความเสียหายต่อองค์กรอย่างชัดเจนเท่าไร เจ้านายหลายคนที่มีลักษณะดังกล่าวก็ยังประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานต่อไปได้ แต่สิ่งที่ลืมดูกันคือขวัญกำลังใจของบุคลากรที่ทำงานร่วมกับเจ้านายประเภทนี้ครับ รวมทั้งบรรยากาศในการทำงานที่เป็นพิษ ที่สำคัญคือผลกระทบต่อจิตใจที่ลูกน้องได้รับจากเจ้านายประเภทนี้ก็จะอยู่ไปนานพอสมควรครับ ทั้งส่งผลต่อสุขภาพด้วยครับ มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าระดับความดันโลหิตของลูกน้องจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อต้องพบปะ ทำงาน หรือ ประชุม ร่วมกับเจ้านายที่ตนเองไม่ชอบหน้า ซึ่งย่อมจะส่งผลในระยะยาวต่อสุขภาพของบุคคลผู้นั้นด้วยนะครับ
ท่านผู้อ่านที่เป็นเจ้านายทั้งหลายก็ลองสำรวจตัวเองดูนะครับว่ามีลักษณะตามที่ผมนำเสนอมาหรือไม่? ถ้าใช่ ก็อาจจะต้องเร่งปรับตัวครับ ก่อนที่จะทำให้บรรยากาศในการทำงานของหน่วยงานท่านเป็นพิษมากกว่านี้ และนี้ไม่ได้เป็นเพียงพฤติกรรมเดียวของเจ้านายที่ทำให้เกิดพิษในที่ทำงานนะครับ สัปดาห์หน้าเราลองมาดูพฤติกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมครับ