ในช่วงก่อนปีใหม่ผมได้รับหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งจาก ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน อาจารย์จุฬาฯ ซึ่งเป็นนักประชากรศาสตร์ชั้นนำของเมืองไทย ชื่อ “โครงสร้างประชากรของไทยยุคโพสต์โมเดิร์น การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกินกว่าจะถูกมองข้าม” ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะจำได้ว่าเมื่อปีที่แล้วผมเองก็ได้รับหนังสือเล่มเล็กๆ จากอาจารย์เกื้อชื่อ “สังคม ส.ว. หรือสังคมสูงวัย” ซึ่งก็ได้เคยนำเสนอผ่านทางบทความนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง และเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่าน ดังนั้นคราวนี้เราลองมาดูกันนะครับว่า โครงสร้างประชากรไทยยุคโพสต์โมเดิร์น เป็นอย่างไร

ในหนังสือเล่มนี้อาจารย์เกื้อได้เริ่มต้นจากการชี้ประเด็นให้เห็นถึงโครงสร้างของประชากรไทยที่กำลังเปลี่ยนไป โดยอัตราการเจริญพันธุ์รวมลดลงจาก 6.3 คนในช่วงปี 2507-8 เป็น 1.61 คนในช่วงปี 2548 – 2553 ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่าสตรีวัยเจริญพันธุ์จะสามารถให้กำเนิดบุตรเพื่อทดแทนตนเองและคู่สมรสได้กี่คน (ตัวเลข 1.61 คนแสดงว่าพ่อแม่หนึ่งคู่ ไม่สามารถสร้างทายาทเพื่อทดแทนตนเองได้) ผลจากการลดลงของประชากรนั้นทำให้ประชากรวัยแรงงานลดลง และส่งผลให้เกิดปัญหาอัตราส่วนเกื้อหนุนประชากรสูงอายุ (อัตราส่วนที่แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุหนึ่งคน จะมีประชากรวัยแรงงานช่วยเหลือดูแลกี่คน) โดยในปี 2543 มีประชากรวัยแรงงาน 7 คนดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และจะลดลงเหลือเพียง 4 คนในปี 2563 และเพียง 2 คนในปี 2593

ผลจากการลดลงของประชากรนี้ทำให้โครงสร้างของครอบครัวไทยเป็นอัตราส่วน 1:2:4 (หลานหนึ่งคน ดูแลพ่อแม่สองคน และปู่ย่าตายาย 4 คน) ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อตัวเด็กของไทยในอนาคตที่ต่อไปจะมีแนวโน้มเป็นลูกคนเดียวของครอบครัวมากขึ้น ประกอบกับพัฒนาการของสังคมและเทคโนโลยี ทำให้เด็กที่เป็นลูกคนเดียวในปัจจุบันมีปัญหาของการขาดพี่น้องในวัยต่างๆ ทำให้ขาดการฝึกการอยู่ร่วมกัน การแบ่งปัน การทำงานร่วมกัน ซึ่งสุดท้ายย่อมส่งผลต่อคุณลักษณะของประชากรในยุคนี้ที่จะเปลี่ยนไปและเข้าสู่ยุคโพสต์โมเดิร์น

ถ้าท่านผู้อ่านนึกไม่ออกว่าประชากรไทยยุคโพสต์โมเดิร์นนั้นมีลักษณะอย่างไรนั้น อ.เกื้อ ได้ให้ทัศนะไว้ว่าคนในยุคนี้จะมีความรู้สึก นึกคิด ทัศนคติในด้านต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ ผมเองก็ได้ยินบ่อยครับ ที่บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายจะปรารถว่าวิธีคิด วิธีทำงานของคนในยุคนี้จะมีความแตกต่างจากรุ่นตัวเอง ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่เราอาจจะไม่ได้นึกถึงก็คือความแตกต่างนั้นเกิดขึ้นจากโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นผลกระทบสำคัญต่อโครงสร้างของครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อวิธีคิดตลอดจนทัศนคติของคนในสังคม

อ.เกื้อได้ให้ข้อคิดเห็นว่าคุณลักษณะที่สำคัญของคนในยุคโพสต์โมเดิร์นนั้นได้แก่ (ท่านผู้อ่านลองสำรวจตนเองดูนะครับแล้วจะทราบว่าเราเป็นคนยุคไหน) จะเน้นความไม่มีกฎเกณฑ์ เน้นความหลากหลายมากกว่าความเป็นเอกภาพ เน้นการสังเคราะห์เพื่อให้เกิดความต่างมากกว่าความเหมือน เน้นการมองหลายมิติมากกว่ามิติเดียว ท่านผู้อ่านอาจจะงงนะครับว่าคุณลักษณะต่างๆ เหล่านี้หมายถึงอะไร แต่ถ้ามาสังเกตพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันเราจะพบคุณลักษณะต่างๆ เหล่านี้กันมากขึ้น เช่น จะสังเกตว่าคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์หรือระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อน ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่จะชอบความแตกต่างในหลายๆ ด้าน ทั้งการใช้สินค้าที่ต้องแตกต่างจากผู้อื่น การมีชื่อเรียกที่แตกต่างจากผู้อื่น (ลองสังเกตบรรดาชื่อเล่นที่ตั้งขึ้นเองของคนรุ่นใหม่ดูก็ได้ครับ) ส่วนการมองหลายมิตินั้น เช่น ในอดีตเราจะมองว่าการเลี้ยงลูกเป็นเรื่องของมารดาเพียงฝ่ายเดียว แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหน้าที่ของทั้งบิดา มารดา หรือ แม้กระทั่งการที่ผู้หญิงอายุมากกว่าแต่งงานกับผู้ชายที่อายุน้อยกว่า ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพบในสังคม ในปัจจุบันก็ดูเหมือนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือเราต้องทำความเข้าใจกับคนในยุคโพสต์โมเดิร์นให้ดีๆ ครับ นักธรุกิจก็ต้องออกสินค้า บริการ ทำการตลาดเพื่อจับลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ ในขณะเดียวกันผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ก็ต้องเข้าใจคนในยุคโพสต์โมเดิร์น เพื่อเข้าใจในความแตกต่างของคนรุ่นใหม่ ที่แตกต่างจากรุ่นตัวเอง รวมทั้งการปรับวิธีการเลี้ยงคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนคติและวิธีคิดที่ไม่เหมือนตัวเอง

นักการตลาดเองเขาก็มองว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นพวกผู้บริโภคระยะสั้น ที่เน้นของฉาบฉวย หรือ มีความเห่อเป็นพักๆ ในต่างประเทศเองเขาก็เรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็นพวก Snack Culture ที่ไม่เน้นอาหารหนัก แต่เน้นอาหารว่างเล็กๆ น้อยๆ แต่ทานบ่อย นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังมีลักษณะประจำตัวที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ชอบของจริง แต่ชอบของเสมือนจริง (Virtual) ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่าคนรุ่นใหม่จะมีโลกส่วนตัวที่เป็นโลกเสมือนจริงอยู่มากโดยเฉพาะตามเน็ต ซึ่งนักการตลาดหรือผู้บริโภคก็จะต้องรู้จักที่จะปรับตัวให้เข้ากับทัศนคติที่เปลี่ยนไปของคนกลุ่มนี้

เนื้อหาข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของหนังสือประชากรยุคโพสต์โมเดิร์นของอ.เกื้อนะครับ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจอ่านเพิ่มเติมลองไปหาดูที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ นะครับ และรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของหนังสือเล่มนี้ก็ยกให้การกุศลครับ

14 January 2008