25 December 2007

สวัสดีปีใหม่ 2551 นะครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน ในตอนแรกผมก็ได้วางแผนไว้ว่าฉบับขึ้นปีใหม่นั้นจะเขียนถึงเรื่องของอนาคตของการจัดการที่ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว แต่เนื่องจากกระแสการเมืองหลังการเลือกตั้ง ทำให้ผมเองอดไม่ไหวว่าจะต้องขอยกยอดเกี่ยวกับเรื่องของการอนาคตการจัดการไปครั้งต่อไป โดยสัปดาห์นี้ขอเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหน่อยแล้วกันนะครับ แต่เพื่อไม่ให้ผิดหลักการเดิมก็เลยขอเป็นการเปรียบเทียบระหว่างสมรภูมิการแข่งขันทางการเมือง กับสมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจนะครับ

ช่วงที่มีการเลือกตั้งเสร็จใหม่ๆ แล้วได้มีโอกาสติดตามข่าวสารต่างๆ ทางด้านการเมือง ก็มีความรู้สึกเหมือนกับการติดตามกรณีศึกษาทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจขององค์กรธุรกิจทั่วๆ ไป เนื่องจากคำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์และการบริหารองค์กรจะผุดขึ้นมาในใจผมตลอดเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า Industry Consolidation, Strategic Alliances, Ethics and Corporate Governance, Shareholder Value, Innovation, EQ เป็นต้น ลองมาดูกันนะครับว่าสมรภูมิการเมืองกับธุรกิจนั้นมีความใกล้เคียงกันเพียงใด

เริ่มแรกลองดูภาพใหญ่ก่อนก็ได้นะครับ ในธุรกิจนั้นมีการศึกษาจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่ายิ่งอุตสาหกรรมมีการพัฒนาและเจริญขึ้นเท่าใด อุตสาหกรรมนั้นจะมีลักษณะของการเป็น Consolidate มากขึ้น นั้นคือ จากในอดีตที่อุตสาหกรรมประกอบด้วยบริษัทต่างๆ ขนาดกลางและเล็กจำนวนมาก เมื่อพัฒนาการถึงขึ้นหนึ่งก็จะเหลือบริษัทใหญ่ๆ อยู่เพียงแค่ไม่กี่บริษัท สังเกตได้จากบริษัทยาต่างๆ หรือ บริษัทผลิตรถยนต์ ก็ได้ครับ ทีนี้ถ้าเปรียบการเมืองเหมือนเป็นอุตสาหกรรมๆ หนึ่ง ผมก็คิดว่าสุดท้ายแล้วเมื่อการเมืองพัฒนาไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าสู่ภาวะ Consolidate เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมครับ เหมือนกับหลายๆ ประเทศที่เขาจะมีพรรคการเมืองหลักๆ อยู่เพียงไม่กี่พรรคแล้วแต่ละพรรคก็มีขนาดใหญ่กัน ทีนี้เมื่อกลับมาดูประเทศไทย ผมเองก็นึกว่าการเมืองไทยจะพัฒนาเข้าสู่ภาวะ Consolidate ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกันครับ

แต่พอเลือกตั้งคราวนี้เสร็จกลับดูเหมือนจะเป็นวัฎจักรจะกลับเข้าสู่ภาวะเดิมเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วใหม่ ที่ประกอบด้วยพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้เกิดข้อสังเกตสองประการนะครับ นั้นคือ ถ้าไม่ใช่เพราะการเมืองไทยมีพัฒนาที่สวนกลับกับสิ่งที่ควรจะเป็น ก็เป็นเพราะทฤษฎีทางด้านธุรกิจไม่สามารถนำมาใช้กับการเมืองไทยได้

ทีนี้มาดูคำที่สองบ้างนะครับ นั้นคือคำว่า Innovation หรือ นวัตกรรม ซึ่งถือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ของทางภาคธุรกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากองค์กรธุรกิจต่างๆ จะต้องอาศัยเรื่องของนวัตกรรมเป็นแนวทางในการเจริญเติบโตและการสร้างความแตกต่าง ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ของนวัตกรรมออกมากันเยอะแยะไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Open Innovation หรือ Blue Ocean Strategy ทีนี้ลองหันมาดูการเมืองไทยกันบ้าง ดูเหมือนว่าคำๆ นี้จะยังไม่แพร่หลายเท่าไรนะครับ หรือ อาจจะเป็นคำที่สื่อได้ยาก ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ไม่ง่าย ทำให้เคยมีอดีตพรรคการเมืองหันไปใช้คำอื่นที่ประชาชนเข้าใจได้ง่ายกว่า ได้แก่คำว่า “คิดใหม่ ทำใหม่” ซึ่งในช่วงนั้นก็สามารถสร้างสีสรรและแนวทางสำหรับการเมืองในมิติใหม่ๆ ได้พอสมควร

อย่างไรก็ดีพอมาเลือกตั้งคราวนี้ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็จะกลับไปแข่งขันในทะเลแดงเดือด (Red Ocean) กันเหมือนเดิม นโยบายและวิธีการต่างๆ ก็ไม่สร้างความโดดเด่นหรือแตกต่างได้อย่างชัดเจน ทำให้เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากก็ไม่รู้จะเลือกพรรคไหนเนื่องจากขาดความแตกต่าง หรือ Differentiated ที่ชัดเจน ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าทฤษฎี Red Ocean Strategy จะสามารถนำมาใช้ได้กับการเมืองไทยหรือไม่? นั้นคือพอสินค้าหรือบริการไม่มีความแตกต่างกันแล้ว สุดท้ายผู้บริโภคก็ย่อมจะเลือกที่ราคาเป็นหลัก ถ้านโยบายและแนวทางของพรรคการเมืองต่างๆ ไม่มีความแตกต่างกันแล้ว คำถามคือสุดท้ายประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองไหนเพราะอะไร?

ถ้าเขียนถึงเรื่องนวัตกรรมแล้วไม่เขียนถึงเรื่อง Corporate Governance (ซึ่งคำในไทยก็เรียกกันหลากหลายครับ ทั้งบรรษัทภิบาล หรือ ธรรมาภิบาล) ก็กระไรอยู่นะครับ เนื่องจากเดี๋ยวนี้ก็เป็นอีกคำที่ฮิตไม่แพ้นวัตกรรม ในประเด็นนี้เรายังเห็นภาพที่ไม่ชัดเจนเท่าไรจากภาคการเมือง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีองค์กรกลางที่เข้ามาช่วยในการตรวจสอบกันอยู่แล้ว แต่กระแสข่าวในเชิงลบก็ยังออกมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งพรรคการเมืองบางพรรคมีความโดดเด่นในเรื่องนวัตกรรม แต่ขาดระบบธรรมาภิบาลในการกำกับ ก็อาจจะส่งผลเสียในการนำนวัตกรรมทางการเมืองไปใช้โดยไม่ก่อให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใสได้

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ ครับ เนื่องจากในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิตหรือการทำธุรกิจ เราจะให้ความสำคัญกับ EQ กันมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ IQ อย่างเดียว แถมนักจิตวิทยาก็พยายามคิดค้นอะไรใหม่ๆ ออกมาเรื่อย อาทิเช่นความฉลาดทางสังคม สำหรับนักการเมืองนั้น ถ้าจะมีความฉลาดทางการเมืองก็คงจะเรียกเป็น PQ (Political Intelligence) ซึ่งนักการเมืองที่มีประสบการณ์แก่กล้าทั้งหลายคงจะมีกันเยอะ แต่ดูเหมือนยังมีนักการเมืองจำนวนหนึ่งเหมือนกันนะครับ ที่ยังขาดความฉลาดทางอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ในสถานการณ์ต่างๆ พรรคการเมืองอาจจะต้องเริ่มปลูกฝัง EQ ให้กับนักการเมืองรุ่นใหม่ เหมือนกับที่องค์กรธุรกิจต่างๆ ก็พยายามพัฒนา EQ ให้กับพนักงานใหม่ๆ เพื่ออนาคตของประเทศที่ดีขึ้น