10 December 2007
สัปดาห์นี้ยังคงต่อเนื่องจากเนื้อหาในครั้งที่แล้วที่ผมนำเสนอเนื้อหาจากบทความชื่อ Cognitive Fitness โดย Roderick Gilkey และ Clint Kilts ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอถึงความสำคัญและความจำเป็นในการออกกำลังสมองเรา เพื่อพัฒนาสมองเราอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อไม่ให้สมองของเราค่อยๆ ฝ่อไปพร้อมกับวัยของพวกเราที่เริ่มร่วงโรยกันไป และสัปดาห์นี้จะขอนำแนวทางหรือวิธีการที่ผู้เขียนบทความทั้งสองได้เสนอแนะถึงการออกกำลังสมอง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของสมองเรา
เริ่มแรกเลยคือถ้าเราอยากจะเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ เราก็ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าเราสามารถเรียนรู้ได้ทั้งผ่านประสบการณ์โดยตรงและจากการสังเกต ในอดีตเรามักจะเข้าใจว่าเราจะเกิดการเรียนรู้ทักษะหรือสิ่งใหม่ๆ ได้โดยประสบการณ์ในการทำจริงๆ แต่การค้นพบเกี่ยวกับสมองสมัยใหม่พบว่าเราย่อมสามารถเรียนรู้ผ่านการสังเกตได้เช่นเดียวกันครับ โดยเมื่อเราสังเกตแล้วจะไปกระตุ้นเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ทำให้เราสามารถเรียนรู้และเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ ซึ่งการค้นพบดังกล่าวทำให้ยิ่งเป็นการตอกย้ำครับว่าการใช้กรณีศึกษาหรือการจำลองสถานการณ์จริงนั้นเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาผู้บริหาร นอกจากนี้ข้อค้นพบที่สำคัญอีกประการที่เกี่ยวเนื่องก็คือผู้บริหารจะต้องบริหารโดยการเดินสำรวจ หรือ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Walkabout หรือ ศัพท์ทางการจัดการที่เรียกว่า Management by Walking Around
ผู้บริหารที่ดีจะต้องไม่นั่งอยู่แต่ในห้องทำงานสวยหรูของตัวเองแล้วคอยสั่งการจากในห้องนั้นเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องรู้จักที่จะเดินไปเยี่ยมฝ่ายต่างๆ เยี่ยมโรงงาน อย่างสม่ำเสมอ หรือ แม้กระทั่งการรับทานอาหารกลางวัน ก็ไม่ใช่ว่าจะนั่งทานแต่ในห้องอาหารของผู้บริหารอยู่ตลดเวลา แต่อาจจะลองเปลี่ยนไปนั่งทานในโรงอาหารร่วมกับพนักงานดู ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อการสร้างสัมพันธภาพหรือภาพลักษณ์ที่ดีอย่างเดียวนะครับ แต่ยังเป็นการพัฒนาสมองของผู้บริหารด้วย เนื่องจากการที่ผู้บริหารเข้าไปอยู่ในดินแดนหรือถิ่นที่ไม่คุ้นเคย จะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการของสมองของผู้บริหาร อีกทั้งทำให้ผู้บริหารได้เกิดการเรียนรู้จากการสังเกตประสบการณ์ต่างๆ ของลูกน้องในการทำงาน ท่านผู้อ่านลองสังเกตไหมครับ บางครั้งที่เรานั่งอยู่ในห้องทำงานแล้วคิดอะไรบางอย่างแล้วมันติดขัด การออกไปเดินเล่นภายนอก อาจจะช่วยทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาที่ติดขัดอยู่ก็ได้
เรื่องที่สองคือเรื่องของการเล่น หรือ Play ครับ ซึ่งในบทความนั้นเขาให้ความหมายของคำว่า play ไว้ว่าเป็นสิ่งที่เราทำแล้วทำให้เราเกิดความสุข เป็นเสมือนกับของขวัญหรือรางวัลให้กับสมองเรา อีกทั้งนำไปสู่ความสามารถในการคิดและสร้างสรรค์ จากการศึกษาเรื่องของสมอง ทำให้เราพบว่าความสุข (Joy) ที่เกิดขึ้นจากการเล่นนั้นเป็นเสมือนเชื้อเพลิงในการหล่อเลี้ยงพัฒนาการของสมองเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทุกวันนี้เราต้องทำงานกันอย่างหนักหนาสาหัสแล้ว เราต้องอย่าลืมที่จะแบ่งเวลาให้กับการ “เล่น” บ้างนะครับ โดยเฉพาะเมื่อเราอายุมากขึ้น หรือ ก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น เราก็มักจะ “เล่น” น้อยลง การ “เล่น” จริงๆ แล้วหลายองค์กรก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการ “เล่น” แล้วนะครับ บริษัทชั้นนำด้าน IT หลายๆ แห่งของอเมริกามีการแบ่งพื้นที่ในที่ทำงานให้เป็นสถานที่เล่น พักผ่อน หย่อนใจ ของพนักงานเขา เนื่องจากการ “เล่น” จะมีส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาความสามารถในด้านความคิดสร้างสรรค์และสุขภาพของสมองเรา
ถ้าองค์กรของท่านผู้อ่านไม่สนับสนุนให้มีการ “เล่น” เพื่อพัฒนาสมอง ท่านผู้อ่านก็อาจจะหาการ “เล่น” ของท่านเองก็ได้นะครับ เช่น การเล่น Sudoku การแก้ไขปัญหา Crossword ในหนังสือพิมพ์ หรือ แม้กระทั่งเกมส์เล็กๆ สั้น ออนไลน์ก็ได้เช่นเดียวกันครับ แต่สำคัญคือต้องอย่าลืมแบ่งเวลาให้เหมาะสมนะครับ ไม่ใช่มัวแต่ “เล่น” จนลืมที่จะทำงานให้เสร็จ
การเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการออกกำลังและพัฒนาสมองของเราครับ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ เรียนรู้เครื่องดนตรีใหม่ๆ หรือ การเปลี่ยนประเภทของหนังสือที่อ่านเป็นประจำ เช่น จากที่เคยอ่านแต่นิยายรักหวานแหววก็หันมาอ่านนิยายกำลังภายในบ้าง หรือ เวลาท่านเดินทางไปประเทศต่างๆ ก็ต้องหมั่นที่จะเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณี ประวัติศาสตร์ ของประเทศนั้นๆ หรือ การเรียนรู้ในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อพัฒนาการของสมองเราทั้งสิ้นครับ การเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ย่อมส่งผลทำให้สมองเราพัฒนาขึ้น และถ้ายิ่งสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้เข้ากับงานที่เราทำอยู่ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์สองทางเลยครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับ แนวทางง่ายๆ ในการออกกำลังและพัฒนาสมองเรา ดูเหมือนไม่ยากนะครับ และก็น่าจะเป็นสิ่งที่องค์กรสามารถส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน เพื่อพัฒนาสมองของบุคลากรตนเอง และท่านผู้อ่านก็อย่าลืมนะครับว่าการจากพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เราค้นพบความลับต่างๆ ของสมองคนได้มากขึ้น และเชื่อว่าสิ่งที่ค้นพบใหม่ๆ นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ ทั้งการบริหารองค์กรและบริหารตนเอง