16 September 2007

ท่านผู้อ่านลองสังเกตไหมครับว่าวันๆ หนึ่งท่านคิดถึงเรื่องอะไรบ้าง และเคยสังเกตต่อไหมครับว่าเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันท่านผู้อ่านใช้ไปในการคิดเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าคนเราชอบคิดเกี่ยวกับอนาคตครับ ไม่ว่าจะเป็นอนาคตอันใกล้หรืออนาคตอันไกล เมื่อนักวิจัยเริ่มนับว่าวันๆ หนึ่งคนเราคิดเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง เราพบว่าร้อยละ 12 ของเรื่องที่เราคิดนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคตครับ หรือ ถ้าคิดง่ายๆ ก็คือทุกแปดชั่วโมงของการคิดนั้น เราจะใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงในการคิดถึงอนาคต หรือ คิดในสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น ในหนังสือขายดีเมื่อปีที่แล้วโดย Daniel Gilbert จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ชื่อ Stumbling on Happiness นั้น เขาระบุไว้อย่างชัดเลยครับ ว่าความโดดเด่นของสมองมนุษย์เราคือการคิดไปในอนาคตถึงสิ่งที่ยังไม่ได้เกิด

ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับมาดูตัวท่านเองด้วยใจที่เป็นธรรมนิดหนึ่งนะครับ แล้วท่านจะพบว่าวันๆ ท่านใช้เวลาคิดถึงอนาคต มองไปในอนาคต หรือ ฝันกลางวันมากน้อยแค่ไหน เรื่องของการที่สมองเราชอบคิดไปในอนาคตนั้นอาจจะเป็นได้ในหลายรูปแบบครับ อาทิเช่น คิดถึงสิ่งที่จะทำให้ช่วงหยุดสุดสัปดาห์นี้ คิดถึงความสำเร็จของงานที่จะเกิดขึ้น คิดถึงความสำเร็จของลูกหลานในการเรียนหรือกิจกรรมต่างๆ คิดถึงสถานที่ๆ จะไปเที่ยวกับครอบครัวในช่วงวันหยุดปิดเทอมนี้ คิดถึงว่าตัวเองถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ฯลฯ แล้วท่านผู้อ่านลองสังเกตนะครับว่าเวลาเรานั่งคิดไปในอนาคตหรือฝันกลางวันนั้น เรามักจะคิดถึงแต่เรื่องดีๆ มากกว่าความล้มเหลว ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ดีเราก็มักจะไม่คิดถึงหรือตัดไปจากความคิด

ปัญหาสำคัญของเราคือ ทำไมสมองเราต้องคิดถึงอนาคตกันมากขนาดนั้น ทั้งๆ ที่มีเรื่องของปัจจุบันให้ต้องคิดอยู่มากมาย นอกจากนี้เมื่อเราคิดถึงความสำเร็จต่างๆ ในอนาคต ทำให้หลายครั้งเราละเลยที่จะหาหนทางไปถึงสิ่งที่เราหวังหรือฝันถึง แถมบางครั้งความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอาจจะไม่หอมหวานเหมือนกับสิ่งที่เราฝันถึงก็ได้ เช่น ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งจะชอบฝันหวานถึงการไปกินอาหารที่ร้านอร่อยๆ ในตอนเย็นหลังเลิกงานกับแฟนหนุ่มที่เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ แต่พอไปกินจริงๆ แล้วรสชาดของอาหารที่ร้านดังกล่าวมักจะไม่อร่อยสุดยอดเหมือนที่ฝันหวานไว้

นอกจากชอบฝันหวานถึงอนาคตแล้ว เรายังชอบไปดูหมอดูชื่อดังตามที่ต่างๆ ซึ่งความอยากรู้อนาคต คิดถึงอนาคตนั้น ไม่ใช่เพราะเรามีความสุขจากการรู้อนาคตหรอกครับ แต่เป็นเพราะเราสามารถทำบางอย่างเกี่ยวกับอนาคต  เช่น ถ้าเรารู้ว่าน้ำมันจะขึ้นราคา เราก็จะได้เติมน้ำมันไว้ก่อน หรือ ถ้าเรารู้ว่าจะมีเทศกาลลดราคาของห้างดัง เราก็จะยังไม่ซื้อของที่ต้องการ หรือ แม้กระทั่งการดูพยากรณ์อากาศแล้วพบว่าบ่ายนี้จะมีพายุฝนฟ้าคะนองโดยทั่วไป เราก็จะหยิบร่มก่อนออกจากบ้าน

จะสังเกตนะครับว่าคนเรานั้นชอบที่จะรู้ถึงสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดจากการพยากรณ์ หรือ การดูจากแนวโน้ม หรือ แม้กระทั่งการคาดเดา และเมื่อเรารู้แล้ว เราก็สามารถที่จะดำเนินการหรือจัดการอะไรซักอย่างกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และเพื่อเป็นการสนองความอยากจะรู้ถึงแนวโน้มต่างๆ ในอนาคตนั้น ก็มักจะมีพวกนักมองอนาคตเกิดขึ้นมากมายครับ โดยนักมองอนาคตเหล่านี้ไม่ใช่หมอดู แต่เป็นพวกนักวิชาการ ที่ปรึกษา ที่สามารถมองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ซึ่งอาจจะถูกบ้าง หรือ ผิดบ้าง แต่สำหรับบุคคลทั่วไปแล้วก็ถือว่าดีกว่าไม่มีคนมาชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเสียเลย

ผมเองก็ไปได้หนังสือเล่มหนึ่งมาครับชื่อ  Microtrends เขียนโดย Mark Penn ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton หรือ Bill Gates ที่เขาจะมองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกว่า  75 ประการ เพียงแต่แนวโน้มต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ Megatrends เหมือนในอดีตที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ เพียงไม่กี่ประการ แต่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องเล็กๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชากรเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสังคม ธุรกิจ และการเมืองได้พอสมควรครับ

เราลองเริ่มต้นดูแนวโน้มเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญเหล่านี้ก่อนนะครับว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง ผมคงไม่สามารถนำเสนอได้หมดแต่ขอนำเสนอบางประเด็นที่คิดว่าตรงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยนะครับ

เรื่องแรกเลยก็คือ Sex-Ratio Singles หรือสัดส่วนของเพศของผู้ที่ครองตนเป็นโสดครับ หรือ ถ้าเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือปัจจุบันแนวโน้มของสุภาพสตรีที่จะครองตัวเป็นโสดนั้นมีมากขึ้น ผมเองยังไม่เห็นตัวเลขของไทยนะครับ (เชื่อว่ามี) แต่คิดว่าแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทยคงจะไม่ต่างจากอเมริกามากนัก เนื่องจากเราจะพบว่าในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นที่สุภาพสตรีจะอยู่เป็นโสดมากขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งก็ต้องเรียนว่าไม่ใช่ความผิดของบรรดาคุณสุภาพสตรีหรอกนะครับ แต่ปัจจุบันจำนวนผู้ชายแท้ๆ กลับมีน้อยลงและเริ่มที่จะไม่เพียงพอสำหรับสุภาพสตรี

เราลองมาดูสถิติของอเมริกากันหน่อยก็ได้ครับ ในช่วงแรกเกิดขึ้นอัตราส่วนของเพศชายจะมีมากกว่าเพศหญิง โดยในแต่ละปีจะมีทารกเพศชายมากกว่าถึง 90,000 คน แต่พอเด็กเหล่านี้อายุครบ 18 อัตราส่วนเพศชายต่อหญิงจะเหลือ 51:49 เนื่องจากเด็กผู้ชายมีโอกาสเสียชีวิตด้วยสาเหตุต่างๆ มากกว่าเพศหญิง และเมื่อโตขึ้น ผู้ชายชาวอเมริกาประมาณ 5% ที่เป็นเกย์ ทำให้สุดท้ายสัดส่วนชายต่อหญิงกลายเป็น 47:53 ไม่แน่ใจว่าสถิติเหล่านี้ในไทยเป็นเท่าไรนะครับ แต่ดูแนวโน้มไม่น่าจะต่างกันมาก

เสียดายที่เนื้อที่หมดก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาต่อกันในเรื่องของ Microtrends ครับ พร้อมทั้งมาเฉลยด้วยว่าการที่ผู้หญิงอยู่เป็นโสดมากขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคม ธุรกิจ การเมือง เพื่อช่วยให้เรามองอนาคตกันได้สนุกขึ้นครับ