
27 January 2008
ดูเหมือนว่าคำว่า “นวัตกรรม” หรือ Innovation จะไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำฮิตที่มาและไปเป็นพักๆ แล้วนะครับ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในปัจจุบันต่างเริ่มหันมาให้ความสนใจและสำคัญกับนวัตกรรมกันอย่างจริงจังมากขึ้น อย่างไรก็ดีถึงแม้ผู้บริหารระดับสูงจะเริ่มใช้คำว่านวัตกรรมกันมากขึ้น และอยากจะเห็นองค์กรของตนเองเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นนวัตกรรม อย่างจริงจัง แต่เชื่อว่าก็มีคำถามเกิดขึ้นเสมอนะครับว่าผู้บริหารระดับสูงเอาแต่พูดอย่างเดียวหรือเปล่า? หรือ ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมในทางปฏิบัติอย่างจริงจังเพียงใด?
บริษัทที่ปรึกษาทางด้านการจัดการชื่อดังอย่าง McKinsey เขาได้มีการสำรวจสอบถามบรรดาผู้บริหารจากองค์กรต่างๆ ทั่วโลกและพบว่าผู้บริหารกว่าร้อยละ 70 เห็นว่านวัตกรรมจะเป็นหนึ่งในสามตัวขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโตขององค์กรของตนเองต่อไปในช่วงอีกสามถึงห้าปีข้างหน้า อย่างไรก็ดีผู้บริหารส่วนใหญ่ยังดูเหมือนว่าจะไม่พอใจต่อความสามารถของตนเองในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมขึ้นภายในองค์กรดังที่ตนเองต้องการ ดูเหมือนว่าการพัฒนาองค์กรของตนเองให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมจะไม่ได้ง่ายเหมือนที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ได้ลั่นวาจาไว้ครับ การศึกษาหรือลอกเลียนแบบจากองค์กรอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จทางด้านนวัตกรรมก็ไม่สามารถช่วยเหลือที่จะพัฒนาหรือยกระดับองค์กรของตนเองได้ดังที่หวัง
กว่าร้อยละ 94 ของผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรและคน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะกระตุ้นและผลักดันให้เกิดนวัตกรรมขึ้นภายในองค์กรของตนเอง แต่จริงๆ แล้ว ถ้าองค์กรไม่สามารถเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมได้ตามที่มุ่งหวัง ผู้บริหารไม่ควรจะโทษผู้อื่นนอกเหนือจากโทษตัวเองนะครับ เพราะการเปลี่ยนแปลงหรือขับเคลื่อนใดๆ ให้เกิดขึ้นภายในองค์กรของตนเองนั้นย่อมจะต้องมาจากตัวผู้บริหารเป็นสำคัญ เรียกว่าแค่ผู้บริหารประกาศเรื่องของนวัตกรรมเป็นวิสัยทัศน์ หรือประกาศตอนรับตำแหน่งว่าอยากจะเห็นองค์กรของตนเองเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม แต่ไม่ทำอะไรเลยก็จะไม่เกิดผลหรอกครับ
ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังมองและบริหารนวัตกรรมเป็นครั้งๆ หรือ เป็นกิจกรรมไป โดยที่ไม่สามารถที่จะกลืนหรือผสมผสานนวัตกรรมเข้ากับกระบวนการในการบริหารกลยุทธ์และกระบวนการบริหารของตนเองได้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรจำนวนมากที่ปากบอกว่ามุ่งเน้นนวัตกรรม แต่ยังไม่สามารถกลืนเรื่องของนวัตกรรมเข้ากับพฤติกรรมและแนวประพฤติปฏิบัติของคนในองค์กรได้ การที่นวัตกรรมจะกลืนเข้ากับระบบบริหารและพฤติกรรมของคนในองค์กรได้นั้น ตัวผู้บริหารระดับสูงถือเป็นตัวขับเคลื่อนและผลักดันที่สำคัญเลยครับ เหมือนคำกล่าวโบราณที่กล่าวไว้เลยครับว่า ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่ขยับ
ผู้บริหารระดับสูงจะต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนและต่อเนื่องไปทั่วทั้งองค์กรครับ นอกจากนี้นวัตกรรมเองจะไม่ใช่สิ่งที่เห็นผลหรือประโยชน์ได้ในระยะสั้น ดังนั้นผู้บริหารที่จะเน้นในเรื่องของนวัตกรรมอย่างแท้จริงนั้น จะต้องปรับเปลี่ยนองค์กร รวมทั้งใช้ทรัพยากรให้เหมาะสม สำหรับผลสำเร็จในระยะยาวนะครับ ถ้าผู้บริหารมัวแต่สนใจแต่ผลประกอบการหรือผลการดำเนินงานในระยะสั้นเพียงอย่างเดียวก็จะเป็นการฆ่านวัตกรรมในทางอ้อมวิธีหนึ่งครับ
ผู้บริหารระดับสูงจะต้องให้และใช้เวลากับการบริหารนวัตกรรมในองค์กรอย่างแท้จริง การที่พูดแต่ปากว่าจะมุ่งเน้นนวัตกรรม แต่เวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับงานประจำนั้นเป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างชัดเจนเลยนะครับว่า นวัตกรรมเป็นเพียงแค่คำตามแฟชั่นที่เอาไว้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับองค์กรเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะกลายเป็นตัวทำลายล้างนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในองค์กร นอกจากการที่ผู้บริหารระดับสูงจะให้เวลาและให้ความสำคัญแล้ว นโยบายและแนวทางในการปฏิบัติต่างๆ ภายในองค์กรก็จะต้องสนับสนุนต่อการสร้างนวัตกรรมภายในองค์กรด้วย
องค์กรที่ไม่ยอมรับหรือกล้าที่จะเสี่ยง องค์กรที่ไม่พร้อมจะเปิดรับความคิดใหม่ๆ ไม่ว่าจะมาจากภายในหรือภายนอก ความกลัวที่จะล้มเหลว หรือ ไม่กล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมขององค์กรที่กีดขวางนวัตกรรมทั้งสิ้นครับ นอกจากนี้เรื่องของการประเมินผลหรือตัวชี้วัดภายในองค์กร ก็จะต้องสะท้อนภาพเรื่องของนวัตกรรมด้วย องค์กรในเมืองไทยกล้าหรือไม่? ที่จะกำหนดตัวชี้วัดที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเหมือนในต่างประเทศ เช่น ร้อยละ 20 ของรายได้จะต้องมาจากผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในสี่ปี หรือ ร้อยละ 25 ของความคิดใหม่ๆ จะต้องมาจากแหล่งภายนอก
ภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ที่ผมสังกัดอยู่นั้นก็เห็นความสำคัญของการศึกษาเรื่องของนวัตกรรมในด้านการบริหารครับ ดังนั้นเราได้ตกลงกันไว้อย่างชัดเจนเลยว่าในช่วงอีกสามปีข้างหน้านั้น ทางภาควิชาฯ จะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับเรื่องของ Sustainable Innovation for Competitiveness ซึ่งก็หวังว่าจะมีข้อมูลและผลต่างๆ มานำเสนอท่านผู้อ่านเป็นระยะนะครับ สำหรับในช่วงอันใกล้นั้นในเดือนมีนาคมนี้ทางภาควิชาฯ จะจัดสัมมนาเรื่องของ “ก้าวใหม่ในโลกธุรกิจ” โดยมีหัวข้อหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรมและการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมในองค์กรเช่น Blue Ocean Strategy, Strategic Corporate Responsibility, Virtual Century, Building LO and Managing Knowledge หรือ Creating Entrepreneur Mindset ซึ่งถ้าสนใจก็สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5764 นะครับ