resource: Today’s Veterinary Practice

10 September 2007

สัปดาห์นี้ยังคงต่อเนื่องในเรื่องของพิษในที่ทำงาน โดยพิษเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงสารพิษนะครับ แต่เป็นอารมณ์ที่เป็นพิษ (Toxic Emotions) ซึ่งได้นำมาจากหนังสือขายดีเมื่อหลายปีก่อนของPeter Frost ชื่อ Toxic Emotions at Work นะครับ สองสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอถึงสาเหตุของความเป็นพิษในที่ทำงาน มาในสัปดาห์นี้เรามาดูกันนะครับว่า คนที่เป็นผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาสูงสุดขององค์กรจะมีหน้าที่เป็นผู้ขจัดหรือจัดการพิษในองค์กรได้อย่างไร จริงๆ ท่านผู้อ่านไม่ต้องเพียงแค่ในองค์กรก็ได้นะครับ แม้กระทั่งในประเทศไทยนั้น ท่านผู้อ่านลองดูซิครับว่ามีบรรยากาศที่เป็นพิษหรือไม่ และบรรดาผู้นำของเราจะมีหน้าจัดการพิษในอารมณ์ของคนในประเทศได้อย่างไร?

จริงๆ เราจะถือได้ไหมครับว่าหน้าที่ประการหนึ่งของผู้นำคือการเป็นผู้จัดการหรือขจัดบรรยากาศที่เป็นพิษภายในองค์กร (นอกเหนือจากการไม่เป็นผู้สร้างความเป็นพิษให้เกิดขึ้นภายในองค์กรเองนะครับ) ท่านผู้อ่านบางท่านที่เป็นผู้บริหารอาจจะเถียงผมนะครับว่า หน้าที่หลักของท่านในการเป็นผู้นำองค์กร คือการผลักดัน หรือ นำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ ท่านไม่มีเวลาไปนั่งคอยดูอารมณ์ของลูกน้องแล้ว คอยดูว่าใครมีความเป็นพิษในอารมณ์หรือบรรยากาศการทำงานหรือไม่

แต่ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่าองค์กรจะเดินได้ หรือ งานจะสำเร็จได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวผู้นำสูงสุดเพียงท่านเดียว แต่ต้องอาศัยบุคลากรทั่วทั้งองค์กรในการช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดขึ้น ดังนั้นถ้าบรรยากาศในการทำงาน หรือ อารมณ์ของบุคลากรเกิดเป็นพิษเสียแล้ว ความทุ่มเท ความมุ่งมั่น ที่เกิดขึ้นจากบุคลากรก็จะไม่เต็มร้อย และสุดท้ายตัวผู้นำเองก็จะเหนื่อยเอง และก็ยากที่จะนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ

ผู้เขียนหนังสือ Toxic Emotions แนะนำไว้เลยครับว่าการเข้าไปบริหารและจัดการกับความเป็นพิษในบรรยากาศหรืออารมณ์พนักงานนั้นเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้บริหาร โดยจะต้องเริ่มต้นจากการที่ผู้บริหารเปิดใจและยอมรับต่อความเป็นพิษที่เกิดขึ้นภายในองค์กร และยังได้แนะนำไว้ด้วยนะครับว่าผู้บริหารจะเป็นผู้จัดการความเป็นพิษที่เกิดขึ้นในองค์กรได้นั้น คุณสมบัติที่สำคัญประการแรกคือ ความใส่ใจครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความใส่ใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวเองครับ

ความใส่ใจของผู้บริหารนั้น เป็นความใส่ใจต่อความเป็นพิษที่เกิดขึ้นในบรรยากาศการทำงาน หรือ ในอารมณ์ ความรู้สึกของลูกน้อง ซึ่งถ้าผู้บริหารใส่ใจแล้วก็จะทำให้สามารถรับรู้ถึงความเป็นพิษที่เกิดขึ้น และสามารถเข้าไปบริหารจัดการให้หายไปได้ ความใส่ใจของผู้บริหารนั้น ก็มักจะนำไปสู่พฤติกรรมที่เอาใจใส่และให้ความสำคัญต่ออารมณ์และความรู้สึกของลูกน้อง เนื่องจากเวลาลูกน้องมีปัญหา (ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในที่ทำงาน หรือ ปัญหาส่วนตัว) ลูกน้องมักจะเก็บไว้กับตัว ไม่แสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เป็นเจ้านายตัวเอง ดังนั้นคนที่เป็นผู้นำที่ดี จะต้องมองเห็นสัญญาณบางอย่างจากตัวลูกน้องและตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนที่พิษที่เกิดขึ้นจะลุกลามไปมากขึ้นและส่งผลเสียต่อองค์กร และที่สำคัญคือเวลาเข้าไปจัดการนั้น ต้องเข้าไปด้วยใจที่เปิดกว้างและเป็นกลางนะครับ เพราะบางครั้งสาเหตุของพิษนั้นเกิดขึ้นจากตัวผู้นำเอง

อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัตินั้น จะให้คนที่เป็นผู้นำคอยเฝ้าสังเกตอาการ น้ำเสียง สีหน้า แววตา ของลูกน้อง เพื่อแสวงหาอาการของการถูกพิษอยู่ตลอดเวลานั้นก็คงเป็นไปได้ยากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้นำจะต้องเผชิญกับภาระงานต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาอย่างมากมาย และจากภาระงานที่หนักทั้งวันทั้งสัปดาห์แล้ว ผู้นำอาจจะเปราะบางต่อความใส่ใจและรับรู้ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกน้อง

การให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรกนั้นหมายถึง ผู้นำจะต้องระลึกไว้เสมอเวลาตัดสินใจในเรื่องต่างๆ  ว่าจะส่งผลกระทบต่อบุคลากรในองค์กรของท่านอย่างไรบ้าง เนื่องจากการตัดสินใจในทุกครั้งจะส่งผลกระทบต่อบุคลากรภายในองค์กรไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และถ้าไม่ได้คิดหรือพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็จะทำให้เกิดความเป็นพิษในบรรยากาศการทำงานได้ ท่านผู้อ่านได้อ่านถึงตรงนี้อาจจะเถียงผมได้นะครับว่า การเป็นผู้นำองค์กรแล้วต้องทำการตัดสินใจที่สำคัญและเร่งด่วน ถ้ามัวต้องมาคำนึงว่าการตัดสินใจนั้นจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของพนักงานอย่างไร ก็คงไม่ต้องทำธุรกิจกันแล้วครับ เนื่องจากสุดท้ายก็จะทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่ว่าจะตัดสินใจอะไรไป ก็ส่งผลกระทบต่อพนักงานหมด

ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยนะครับว่าเวลาผู้นำตัดสินใจเราคงไม่สามารถคิดถึงจิตใจของทุกคนได้ เพียงแต่ถ้าผู้นำได้มีเรื่องของคนอยู่ในใจเป็นอันดับแรก จะทำให้เวลาผู้นำตัดสินใจหรือทำอะไรบางอย่างลงไปแล้ว ได้เริ่มมีมุมมองในเรื่องของคนบ้าง และถึงแม้เราไม่สามารถคำนึงถึงจิตใจหรือความต้องการของทุกคนในองค์กรได้ แต่ในการตัดสินใจนั้นก็จะมีเรื่องของคนเข้ามาเป็นปัจจัยในการคิดด้วย ไม่ใช่คิดแต่เรื่องความสำเร็จของงาน หรือ กำไรของผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว มิฉะนั้นอาจจะเป็นเหมือนผู้นำในหลายๆ องค์กร ที่งานครั้งแรกอาจจะสำเร็จ แต่พอไม่ได้ใจจากลูกน้อง ซึ่งสุดท้ายจะไม่ส่งผลที่ดีในระยะยาวต่อองค์กร