21 January 2008
ขณะที่นั่งเขียนต้นฉบับนี้ผมอยู่ที่ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้พานิสิตในระดับบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ มาร่วมกับข้าราชการและผู้ประกอบการของจังหวัดในการจัดทำโครงการยุทธศาสตร์การค้าชายแดนจังหวัดน่าน ก่อนที่จะมาจังหวัดน่าน ทั้งผมและนิสิตทั้งชั้นปีที่จะมาร่วมชะตากรรมเดียวกัน ก็จะนึกภาพไม่ค่อยออกว่าน่านเป็นจังหวัดอย่างไร ทั้งนี้อาจจะเพราะน่านเป็นเมืองที่ฟู่ฟ่าเหมือนจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ
แต่เมื่อได้ใช้เวลากว่าสัปดาห์ในจังหวัดน่านและสัมผัสกับคนในพื้นที่ก็ต้องยอมรับครับว่าจังหวัดน่าน ถึงแม้จะเป็นจังหวัดเงียบๆ เล็กๆ ในภาคเหนือ แต่ก็เป็นจังหวัดที่มีเสน่ห์ในหลายๆ ด้านรวมทั้งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อไปในอีกมาก ทั้งนี้เนื่องจากในโครงการที่ผมกับนิสิตได้ขึ้นไปที่จังหวัดน่านในครั้งนี้ เริ่มจากการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ และผู้ประกอบการในการกำหนดยุทธศาสตร์การค้าชายแดนของจังหวัด จากนั้นแปลงยุทธศาสตร์เหล่านั้นสู่โครงการ ซึ่งมีทั้งหมดเจ็ดโครงการ และนิสิตในแต่ละกลุ่มก็จะลงไปศึกษาโครงการแต่ละโครงการโดยละเอียดทั้งในด้านของความเป็นไปได้ และแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อให้จังหวัดได้มีข้อมูลรายละเอียดสำหรับการดำเนินงานจริงในแต่ละโครงการ
จากการศึกษาโครงการต่างๆ พบว่าน่านเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในหลายด้านโดยเฉพาะด้านการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว สำหรับการค้าชายแดนนั้นที่ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีด่านการค้าระหว่างไทยลาว ซึ่งจากด่านชายแดนห้วยโก๋นเมื่อเข้าสู่ฝั่งลาวแล้วก็จะสามารถเดินทางไปประเทศจีนตอนใต้ รวมทั้งเมืองหลวงพระบางของลาวได้อย่างรวดเร็ว (ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาถนนในฝั่งของลาวอยู่) นอกจากศักยภาพในด้านของการค้าชายแดนแล้ว การท่องเที่ยวและสินค้าพื้นเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวก็ถือเป็นศักยภาพที่สำคัญอีกประการของจังหวัดครับ
น่านเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งด้านวัฒนธรรม ธรรมชาติ และผจญภัยครบอยู่ในที่เดียว เพียงแต่น่านยังขาดการประชาสัมพันธ์ทางด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ในเชิงวัฒนธรรมนั้น น่านมีวัดต่างๆ ที่มีศิลปและวัฒนธรรมที่ควรจะมาเยี่ยมเยือน ทั้งวัดภูมินทร์ วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุช้างค้ำ วัดมิ่งเมือง เป็นต้น รวมทั้งน่านยังมีชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ที่น่าสนใจ ทั้งชาวไทยวน ไทลื้อ ขมุ ตองเหลือง เป็นต้น ทางด้านธรรมชาตินั้นก็มีอุทยานแห่งชาติอยู่ในน่านถึงเจ็ดแห่ง อาทิเช่น ดอยภูคา ศรีน่าน แม่จริม ฯลฯ และด้านผจญภัยนั้นก็มีการล่องแก่งน้ำว้า รอให้นักท่องเที่ยวมาพิสูจน์ฝีมือ ที่สำคัญคือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของน่านยังคงมีความบริสุทธิ์ทั้งในด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม นิสิตที่รับผิดชอบการศึกษาในเรื่องของการท่องเที่ยวนั้นก็ได้เสนอให้น่านเน้นการท่องเที่ยวในลักษณะของ Green Tourism ภายใต้คำขวัญ “น่านฟ้า ป่าสวย รวยวัฒนธรรม”
สำหรับผลิตภัณฑ์ของน่านนั้นก็มีดีซ่อนไว้เยอะมากครับ ทั้งส้มสีทอง ซึ่งก็คือส้มเขียวหวานบางมดที่เราเคยทานกัน แต่พอมาปลูกที่น่านก็จะมีสีผิวที่ออกมาเป็นสีทอง ถือเป็นส้มที่มีรสชาดจัดจ้านดีครับ หรือ กาแฟอราบิกา ที่บ้านสันเจริญนั้นก็มีคนกล่าวไว้ว่าเป็นกาแฟที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย เนื่องจากสภาพดินและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย หรือ ผ้าทอพื้นเมืองของน่าน ซึ่งคนทั่วไปอาจจะรู้จักแต่ลายน้ำไหล แต่จริงๆ แล้วน่านยังมีผ้าทอลายโบราณที่มีความสวยงามอยู่อีกมากครับทั้งผ้าซิ่นคำเคิบ ซิ่นม่าน ซิ่นเชียงแสน หรือมัดก่าน สิ่งที่ยังขาดนั้นคือการส่งเสริมที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งโคน่าน ซึ่งเป็นโคพันธุ์พื้นเมือง ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาสายพันธุ์และวิธีการเลี้ยงให้เป็นโคอินทรีย์คุณภาพดีได้
โครงการที่นิสิตในหลักสูตร MBA ของคณะได้เข้าไปศึกษานั้นก็เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ที่ได้นำเสนอมาข้างต้น โดยนิสิตได้ลงไปในพื้นที่จริงเพื่อเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด เพื่อจัดทำเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ แผนธุรกิจ หรือ แผนการตลาด สำหรับแต่ละเรื่องแต่ละประเด็น จากนั้นแต่ละกลุ่มก็ได้นำเสนอโครงการต่อผู้ว่าราชการจังหวัดน่านและบุคคลสำคัญของจังหวัด ซึ่งทางจังหวัดเองก็จะได้นำไปพิจารณาโครงการที่น่าสนใจและมีความไปได้เพื่อบรรจุเข้าแผนยุทธศาสตร์และของบประมาณของจังหวัดต่อไป
ตอนที่คิดโครงการนี้ขึ้นมาผมก็หวังว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นจะเป็นทั้งสองฝ่ายครับ นั้นคือนิสิตเองก็ได้ศึกษาในสิ่งที่เป็นจริง สามารถนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งจะดีกว่าการสัมภาษณ์หรือนั่งทำกรณีศึกษาอยู่แต่ในกรุงเทพ รวมทั้งได้ประสบการณ์ในลงพื้นที่จริงและได้เข้าไปสัมผัสกับท้องถิ่นและชุมชนจริงๆ ในขณะเดียวกันจังหวัดเองก็จะได้นิสิตที่มีความรู้ทางด้านวิชาการเข้าไปศึกษาและเสนอทางเลือกต่างๆ ในการพัฒนาจังหวัด ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้นแล้วมีความพึงพอใจต่อผลลัพธ์ที่ได้ทั้งในส่วนของนิสิตและทางจังหวัด
ความประทับใจอีกประการคือความช่วยเหลือและร่วมมือจากข้าราชการและชาวน่านครับ เนื่องจากการทีนิสิตจะศึกษาโครงการต่างๆ ได้สำเร็จนั้น ทั้งข้าราชการและผู้ประกอบการของน่านได้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการดูแล ติดต่อประสานงานให้อย่างเต็มที่ครับ ทำให้เห็นเลยนะครับว่าในจังหวัดเล็กๆ ที่สงบ บริสุทธิ์นั้น คนจะมีน้ำใจต่อกันและกันดีจริงๆ ครับ