Photo by airfocus on Unsplash

16 December 2007

พอถึงช่วงปลายปีต่อต้นปีโจทย์อันท้าทายสำหรับผู้เขียนบทความต่างๆ ก็คงหนีไม่พ้นเนื้อหาที่จะนำเสนอที่ควรจะเข้ากับช่วงเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นการส่งท้ายปีเก่าหรือต้อนรับปีใหม่ และยิ่งในปัจจุบันที่เป็นช่วงหลังการเลือกตั้ง โจทย์ในการเขียนก็เลยยิ่งยากเข้าไปใหญ่เลยครับ โชคดีที่ผมกำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ The Future of Management เขียนโดย Gary Hamel ซึ่งคิดว่าหลายๆ ประเด็นของหนังสือเล่มนี้น่าจะมีความเหมาะสมที่จะนำมาฝากท่านผู้อ่านในช่วงเทศกาลเช่นนี้ ทั้งนี้เนื่องจากพอปลายปี เราก็มักจะมีการสรุปบรรดาสุดยอดของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลอดปี และพูดถึงแนวโน้มของสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีถัดมา ซึ่งในด้านการบริหารจัดการแล้ว ประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งที่พูดถึงหรือให้ความสำคัญกันอย่างมากในปีที่ผ่านมาก็หนีไม่พ้นเรื่องของนวัตกรรม ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ของหลายๆ องค์กร ในขณะเดียวกันผมเองก็เชื่อว่านวัตกรรมเองก็จะยังเป็นคำยอดฮิตทางด้านการบริหารจัดการสำหรับปีหน้าต่อไป

ประจวบกับการเลือกตั้งที่ผ่านพ้นไป เรากำลังจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เชื่อว่าพวกเราเองก็อยากจะเห็นรัฐบาลใหม่ หรือ บรรดานักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจะมีนวัตกรรมในการบริหารประเทศ ในการเล่นการเมืองกันบ้าง ไม่ใช่ย้อนรอยอดีตเอารูปแบบเดิมๆ มาใช้ซ้ำ แต่ในขณะเดียวกันนวัตกรรมที่ดีก็ย่อมต้องมาคู่กับจริยธรรมด้วยนะครับ มิฉะนั้นอาจจะเป็นเหมือนผู้บริหารประเทศในบางยุคที่ผ่านมาที่มีนวัตกรรม หรือ วิธีการใหม่ๆ ในการบริหารปกครองประเทศ แต่กลับละเลยในเรื่องของจริยธรรมไป ทำให้ใช้นวัตกรรมนั้นในทางที่ผิด

กลับมาเรื่องของการบริหารจัดการกันต่อดีกว่าครับ เชื่อว่าเวลาใช้คำว่านวัตกรรม หรือ Innovation ท่านผู้อ่านจำนวนมากก็คงนึกถึงนวัตกรรมในลักษณะที่สามารถจับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมในด้านของเทคโนโลยีและสินค้าต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะเริ่มพ้นเห็นนวัตกรรมในด้านของสิ่งที่จับต้องไม่ได้มากขึ้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมในด้านการให้บริการ นวัตกรรมทางการตลาด หรือ แม้กระทั่งนวัตกรรมทางด้านกลยุทธ์ ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องมีความตื่นตัวกันในเรื่องของนวัตกรรมกันอย่างมากมายในปัจจุบัน ก็หนีไม่พ้นสภาพการแข่งขันและการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ที่ทำให้หลายๆ องค์กรเริ่มถึงทางตันในการเติบโต เนื่องจากไม่รู้ว่าจะใช้กลยุทธ์ใดในการเติบโตต่อไป หรือ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าหรือบริการของตนเองแตกต่างจากคู่แข่งขัน หรือ ความต้องการที่จะฉีกตัวเองให้หนีจากคู่แข่งขัน ฯลฯ

อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่าถึงแม้เราจะให้ความสนใจกับนวัตกรรมเพียงใด เราก็ยังละเลยต่อนวัตกรรมในเรื่องที่สำคัญไปเรื่องหนึ่งครับ และก็เป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะนึกไม่ถึงเลยก็ได้ นั้นคือนวัตกรรมทางการจัดการ หรือ Management Innovation ซึ่งท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่าการบริหารจัดการที่ดี ถือเป็นรากฐานของทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นสินค้าหรือบริการใหม่ การตลาดรูปแบบใหม่ หรือ กลยุทธ์แบบใหม่ๆ เพราะองค์กรจะต้องมีการจัดการที่ดีถึงจะสามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ได้ และเราก็มักจะนึกว่าเรื่องของการจัดการนั้นเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว คงที่แล้ว นิ่งแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรใหม่เพิ่มเติม แต่จริงๆ แล้วถ้าพิจารณาดีๆ เราจะพบว่าองค์กรใดก็ตามที่มีนวัตกรรมทางการจัดการ องค์กรนั้นจะมีพื้นฐานที่ดีสำหรับความสำเร็จต่อไปในอนาคต

ถ้าจะถามว่านวัตกรรมทางการจัดการคืออะไร ก็ขอดัดแปลงจากนิยามของ Gary Hamel ในหนังสือ The Future of Management นิดหนึ่งนะครับ โดยนวัตกรรมทางการจัดการ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนต่อกระบวนการจัดการขององค์กรที่จะช่วยนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ ถ้าท่านผู้อ่านจะถามต่อว่าแล้ว “กระบวนการจัดการ” นั้นหมายถึงอะไร ท่านผู้อ่านก็มองไปในองค์กรท่านเลยครับ เนื่องจากกระบวนการจัดการนั้นครอบคลุมหลายสิ่งหลายอย่างมาก ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การกำหนดสิ่งที่จะทำเพื่อบรรลุเป้า การจัดโครงสร้างและวิธีการทำงานภายในองค์กร การจูงใจบุคลากร การสรรหา การพัฒนาบุคลากร การทบทวนผลการดำเนินงาน การจัดสรรทรัพยากร การแสวงหาและใช้ประโยชน์จากความรู้ ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องบอกว่ากระบวนการจัดการนั้นครอบคลุมทุกอณูภายในองค์กรเลยครับ

คำถามต่อมาก็คือ ทำไมต้องมีนวัตกรรมทางการจัดการ? ในเมื่อกระบวนการจัดการที่ผมนำเสนอข้างต้นนั้นเป็นสิ่งที่องค์กรดำเนินมาเป็นสิบๆ ปี จนอยู่ตัว และกลายเป็นองคาพยพหนึ่งของการบริหารไปเสียแล้ว ซึ่งนั้นแหละครับคือตัวคำตอบ เนื่องจากกระบวนการบริหารจัดการที่เราคุ้นเคยและใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นวิธีการและแนวคิดที่มีมานานหลายทศวรรษแล้ว เราจะไม่ค่อยพบนวัตกรรมทางการจัดการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในช่วงสิบหรือยี่สิบปีที่ผ่านมาเท่าไร เรียกได้ว่าเราอาศัยนวัตกรรมหรือความรู้ทางด้านการจัดการแบบเดิมๆ หากินกันไปเรื่อยๆ

ท่านผู้อ่านลองนึกดูให้ดีนะครับ ว่าพวกแนวคิดหรือวิธีการบริหารองค์กรต่างๆ เหล่านี้เกิดกันมานานหรือยัง – การจัดองค์กรแบบ Matrix การบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) การวางแผนกลยุทธ์ การประเมินผลการดำเนินงานขององค์กร หรือ แม้กระทั่ง Balanced Scorecard – ท่านที่ติดตามความรู้ทางด้านการจัดการ คงจะทราบนะครับว่าวิธีการบริหารองค์กรเหล่านี้มีกันมาเป็นหลายทศวรรษแล้ว ถ้าใหม่สุดก็คือ Balanced Scorecard ก็มีมามากกว่าสิบปีแล้ว

เพราะฉะนั้นถึงเวลาหรือยังครับ ที่เราจะต้องพัฒนานวัตกรรมทางการจัดการใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่บริหารองค์กรอยู่บนวิธีการแบบเดิมๆ ที่มีมาเกือบร้อยปีแล้ว (หรือถ้ามองอีกมุมหนึ่งคือสิ่งที่ใช้อยู่นั้นดีสุดยอดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว) ดังนั้นในปีใหม่นี้องค์กรต่างๆ จะเริ่มหันมาให้ความสนใจกับนวัตกรรมทางการจัดการกันบ้างก็ดีนะครับ แล้วที่สำคัญควรจะเป็นแบบไทยๆ ด้วย