11 November 2007

สัปดาห์นี้ผมขอคั่นเนื้อหาที่นำเสนอในสัปดาห์ที่แล้ว (เรื่องข้อแตกต่างระหว่างหญิงกับชาย) หน่อยนะครับ เพราะมีเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องที่อยากจะเล่า และเผอิญเรื่องดังกล่าวก็เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 – 11 พฤศิกายน) เลยขอลัดคิวมานำเสนอก่อนนะครับ (เดี๋ยวลืม)

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมพานิสิตในภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ในชั้นปีที่สามไปเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม Into The Wild ของอาจารย์วิชัย สมมิตร และทีมงาน ที่จัดขึ้นที่ศรีปทุม ลองสเตย์ ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งต้องเรียนว่าผลลัพธ์ที่ได้เกินกว่าที่คาดหวังไว้เยอะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ทางด้านการบริหารจัดการและการพัฒนาตนเอง จากการเข้าร่วมกิจกรรม Rope Course ที่ทางอาจารย์วิชัย และทีมได้เตรียมไว้ เท่าที่ทราบปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้พอสมควร และผมเองก็เชื่อว่าจะเป็นวิธีการในการเรียนรู้ในด้านการบริหาร การจัดการ การทำงานเป็นทีม และการเอาชนะตนเอง ที่จะเป็นที่นิยมต่อไปในอนาคต

แนวคิดที่สำคัญที่ผมมองเห็นนั้นคือการเรียนรู้ทางด้านการบริหารจัดการ ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านทางห้องเรียน กรณีศึกษา หรือ การทำงานจริงๆ เท่านั้นครับ การเข้าร่วมกิจกรรมเชิงผจญภัย ในรูปแบบต่างๆ ก็ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ได้เช่นกัน และไม่ใช่เพียงแค่ความรู้เพียงอย่างเดียวนะครับ การพัฒนาตนเองทั้งในด้านความคิด กำลังใจ อีกทั้งความสนุกก็เป็นสิ่งที่ได้รับ

ผมขออนุญาติยกตัวอย่างหลายๆ แนวคิดทางด้านการบริหารจัดการ ที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมผจญภัยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานะครับ ซึ่งจริงๆ แนวคิดเหล่านี้ก็มีเขียน มีบรรยายอยู่ทั่วไป แต่การเข้าร่วมกิจกรรมผจญภัยก็จะทำให้เราได้เรียนรู้ ซาบซึ้งกับแนวคิดเหล่านี้มากขึ้นครับ อย่างเช่นเรื่องแรกคือเรื่องของ Comfort Zone ครับ ซึ่งก็มีอยู่ในหนังสือเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลงเกือบทุกเล่ม ที่บอกว่าการบริหารการเปลี่ยนแปลงใดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็น หรือ เร่งด่วน เพียงพอที่จะทำให้คนออกจาก Comfort Zone หรือเหตุการณ์ / สถานการณ์อันคุ้นชินของแต่ละคน และการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้ายังคงยึดติดอยู่กับ Comfort Zone ดังกล่าว

อ่านตำราเพียงอย่างเดียวก็พอเข้าใจนะครับ แต่เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมผจญภัยแล้ว เราจะพบว่าจริงๆ แล้วการออกจาก Comfort Zone นั้นเป็นอย่างไร และให้ผลลัพธ์ที่ดีเพียงไร การเข้าร่วมกิจกรรมผจญภัยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้ทั้งอาจารย์และนิสิตของภาควิชาพาณิชยศาสตร์ ได้ออกจาก Comfort Zone ของตนเองโดยการทำกิจกรรมเชิงผจญภัยหลายๆ อย่างที่ไม่เคยได้ทำมาก่อนหรือคิดว่าชีวิตนี้จะได้ทำ (ขออนุญาติไม่เฉลยว่าทำอะไรบ้างนะครับ เดี๋ยวไม่สนุกสำหรับคนที่ยังไม่เคยไป) ทำให้ทุกคนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับรู้ถึงรสชาดของการออกจาก Comfort Zone ของตนเอง และความรู้สึกถึงความสำเร็จ เมื่อสามารถออกจาก Comfort Zone ได้สำเร็จ ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และมีความกล้าที่จะลองคิด ลองทำสิ่งใหม่ๆ ต่อไป

อีกเรื่องที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมผจญภัย คือเรื่องของการทำงานเป็นทีมครับ จริงๆ แล้วก็มีพวกแบบฝึกหัดเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีมหลายรูปแบบนะครับ แต่การเข้าร่วมกิจกรรมผจญภัยนั้น คนที่อยู่ในทีมเดียวกันจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงต่ออันตรายสูง (แต่จริงๆ ปลอดภัยมากครับ) ทำให้ความสมัครสมานสามัคคี ความมุ่งมั่นของสมาชิกในทีมมีร่วมกันมากขึ้น นอกจากนี้ในบางกิจกรรมจะเป็นความท้าทายที่ดูแล้วไม่มีทางหรือโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้เลย แต่การออกแบบรูปแบบของกิจกรรมนั้นก็ทำให้ในแต่ละกลุ่มจะต้องพยายาม ไม่ย่อท้อในการแสวงหาหนทางในการแก้ไขความท้าทายที่เผชิญ จนสามารถผ่านกิจกรรมนั้นได้ในที่สุด

สุดท้ายประสบการณ์สำคัญที่ได้รับคือ การเอาชนะตัวเองครับ โดยเฉพาะความกลัวภายในของตัวเอง หลายคนอาจจะกลัวความสูง หลายคนอาจจะกลัวเปียก หลายคนอาจจะกลัวการปีนป่าย แต่พอเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว ทุกคนสามารถเอาชนะความกลัวดังกล่าวได้ ทุกคนได้ทำในสิ่งที่ชาตินี้อาจจะไม่คิดที่จะทำเลย ซึ่งเชื่อว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีและจะติดตัวทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ไปภายหลังจากจบกิจกรรมแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนิสิตในระดับปริญญาตรี ที่ยังจะต้องเรียนและเผชิญกับสิ่งต่างๆ อีกมากมาย

อยากจะแนะนำองค์กรธุรกิจและสถาบันการศึกษาต่างๆ นะครับว่าการเรียนรู้ทางด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาตนเอง โดยผ่านกิจกรรมผจญภัยนั้นเป็นทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาและบุคลากร ผู้บริหารหลายท่านอาจจะมองว่าเป็นกิจกรรมที่มีแต่สนุก ไร้สาระ แต่ถ้ามองอย่างลึกซึ้ง หรือ พอเวลาผ่านไปช่วงหนึ่งแล้วจะพบว่ากิจกรรมเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรและการทำงานเป็นทีมได้เป็นอย่างดี ในขณะที่บางองค์กรที่มีโจทย์อยู่ในใจ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาควมขัดแย้งภายในองค์กร หรือ การสร้างค่านิยมร่วมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ก็สามารถใช้กิจกรรมผจญภัยเหล่านี้ในการตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ได้นะครับ ลองพิจารณาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรนะครับ