30 September 2007
สัปดาห์นี้ยังคงวนเวียนอยู่กับเนื้อหาจากหนังสือชื่อ Microtrends ของ Mark J. Penn ที่เขาศึกษาข้อมูล สถิติ และตัวเลข ต่างๆ เพื่อจับเทรนด์ แนวโน้ม หรือ กระแสต่างๆ ที่กำลังหรือได้เกิดขึ้น โดยแนวโน้มเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นแนวโน้มใหญ่โต แต่น่าสนใจและผมคิดว่าหลายๆ เรื่องก็เกิดขึ้นในเมืองไทยเช่นเดียวกับต่างประเทศ โดยสัปดาห์นี้เรามาดูกันในเรื่องของการดื่มการแฟกันดีกว่าครับ
ท่านผู้อ่านอาจจะสังเกตนะครับว่าปัจจุบันดูเหมือนว่าแนวโน้มการดื่มกาแฟในกรุงเทพจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นแนวโน้มเดียวกับที่อเมริกาเช่นเดียวกัน โดยของอเมริกานั้นเขามีตัวเลขหรือสถิติมายืนยันเลยครับ เช่นในปีนี้ (2007) คนอเมริกากว่าหกในสิบที่ดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละหนึ่งแก้ว ซึ่งเมื่อสามปีที่แล้วยังเป็นเพียงแค่สามในสิบเท่านั้นเอง หรือ คนทำงานในอเมริกาหนึ่งในสี่จะดื่มกาแฟวันละหนึ่งแก้ว มากขึ้นจากเมื่อสี่ปีที่แล้วที่ดื่มกันเพียงแค่หนึ่งในหก แล้วยิ่งเมื่อพิจารณาดูการเติบโตของร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Starbucks ก็จะพบว่ามีการเติบโตของทั้งรายได้และจำนวนสาขาเป็นปรากฎการณ์เลยครับ
หันกลับมาดูในเมืองไทยบ้าง ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เห็นตัวเลขการดื่มกาแฟในบ้านเรา แต่เชื่อว่าแนวโน้มความนิยมในการดื่มกาแฟที่มากขึ้นก็ไม่น่าจะต่างจากอเมริกาเท่าไรนะครับ สังเกตจากร้านกาแฟนานาสัญชาติที่เปิดอยู่ทั่วทุกมุมเมืองเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นในห้างสรรพสินค้า ในอาคารสำนักงาน ตามสถานีรถไฟฟ้า ตามถนน ตรอกซอกซอยต่างๆ หรือแม้กระทั่งตามสถานีบริการน้ำมันตามเส้นทางสำคัญ เราจะเจอร้านกาแฟอยู่ตลอด หรือ เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของคนรอบข้างแล้วก็ชัดเจนมากเลยครับ ภรรยาผมต้องดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละแก้วก่อนเที่ยงมิฉะนั้นจะรู้สึกใจสั่นแล้วไม่มีเรี่ยวแรงทำอะไรไปทั้งวัน (แต่ถ้าดื่มหลังเที่ยงจะนอนไม่หลับ?) ครอบครัวคนรู้จักหลายคนก็ซื้อเครื่องชงกาแฟกันอย่างเป็นเรื่องราว (ซื้อแล้วชงด้วยนะครับ ไม่ใช่ซื้อมาประดับบ้านเฉยๆ) หรือ ญาติคนหนึ่งก็ติดกาแฟมาก เจอทีไรต้องถือแก้วหรือกระติกใส่กาแฟตลอด ขนาดไปต่างจังหวัด ยังต้องซื้อกาแฟใส่ถุงแพ็คขึ้นเครื่องไปด้วย เนื่องจากเกรงไม่มีกาแฟดื่ม (ปรากฎว่าถุงแตกเลอะเสื้อผ้าหมด)
ความน่าสนใจคือทำไมเราถึงนิยมดื่มกาแฟมากขึ้น? ใช่เป็นเพราะค่านิยม หรือ เป็นเพราะมีร้านกาแฟดีๆ เปิดมากขึ้น หรือ เป็นเพราะเราเสพติดต่อสารคาเฟอีนในกาแฟ? ผมเองยังไม่เห็นผลการสำรวจเรื่องนี้ในเมืองไทยอย่างเป็นเรื่องราวนะครับ แต่ในอเมริกานั้นเขาพบว่ากระแสการดื่มที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้มีในเฉพาะกาแฟอย่างเดียวครับ แต่พวกเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนทั้งหลายก็มีแนวโน้มความนิยมในการดื่มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันครับ โดยเฉพาะเครื่องดื่มให้พลังงานอย่างเช่น Red Bull ซึ่งถือเป็นเครื่องดื่มที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของอเมริกา
โดยในอเมริกานั้นเขาวิเคราะห์ถึงกระแสความตื่นตัวในเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนทั้งหลายนั้นมาจากสภาวะแวดล้อมทั้งในการเรียนและการทำงานที่หนักและกดดันมากขึ้น ทำให้ชาวอเมริกาทั้งหลายต้องหาเครื่องมือที่จะช่วยกระตุ้นให้กระปรี่ประเปร่าตลอดวัน พอกลับมาดูในเมืองไทย ผมเชื่อว่าสาเหตุความตื่นตัวในการดื่มกาแฟก็น่าจะคล้ายๆ กันนะครับ ที่ชีวิตเราต้องเร่งรีบและแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการเสพคาเฟอีนเข้าไป ก็เพื่อที่จะช่วยให้เราคงความกระตือรือร้น กระปรี่กระเปร่าได้ทั้งวัน ผมเองสังเกตเห็นคนรอบๆ ตัวหลายคนที่มีสภาพเหมือนลูกโป่งที่ถูกปล่อยลมออก ถ้าในวันนั้นไม่ได้ดื่มกาแฟเข้าไป
นอกจากเพื่อให้เกิดความคึกคักแจ่มใสแล้ว ผมเชื่อว่าในเมืองไทยนั้นค่านิยมก็เป็นเรื่องสำคัญครับ การเข้าไปสั่งกาแฟเก๋ๆ ในร้านกาแฟเท่ห์ๆ ก็ถือเป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่ง (ถึงแม้ราคากาแฟแก้วหนึ่งนั้นจะพอๆ กับค่าอาหารของคนธรรมดาๆ ในหนึ่งวัน) ยิ่งสมัยนี้เป็นยุคของ DIY (Do-It-Yourself) กันมากขึ้น หลายบ้านก็จะมีเครื่องชงกาแฟชั้นเลิศอยู่ในห้องครัว ที่พร้อมจะชงกาแฟคุณภาพดีออกมาดื่มเอง หรือรับรองผู้อื่นเมื่อมีแขกมาเยือน
จากกระแสความตื่นตัวในเรื่องของการดื่มกาแฟในเมืองไทย ทำให้ตลาดและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกาแฟเติบโตกันอย่างมากมายครับ และมีอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องที่พลอยได้รับอานิสงค์ไปด้วย เริ่มตั้งแต่ร้านขายกาแฟในรูปแบบและราคาต่างๆ ที่เปิดกันเป็นดอกเห็ดทั่วกรุงเทพ ทำให้ธุรกิจอื่นที่พอจะเกี่ยวข้องกับกาแฟก็ต้องพลอยเปิดร้านกาแฟด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร หรือ ร้านขายหนังสือ หรือ ร้านให้บริการอินเตอร์เน็ต ก็พลอยขายกาแฟชั้นดี ยังไม่นับพวกร้านเบเกอรี่ต่างๆ ที่ดูเหมือนจะมีความใกล้เคียงกับร้านกาแฟอยู่แล้ว นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เกี่ยวกับกาแฟก็เติบโตไปด้วย ตั้งแต่เครื่องทำกาแฟหลากหลายรูปแบบ ถ้วน น้ำแข็ง หลอด รวมทั้งวัตถุดิบในการชงกาแฟ อย่างผงหรือเมล็ดกาแฟ ที่จากกระแสความเป็นโลกาภิวัตรทำให้หลายๆ คนแสวงหากาแฟคุณภาพดีจากต่างประเทศมาดื่มกันเป็นประจำ
อย่างไรก็ดีการดื่มกาแฟนั้นก็คงต้องยึดหลักพอเพียงนะครับ มากเกินไปก็ไม่ดีครับ เนื่องจากหลักฐานทางการแพทย์ก็ชี้ชัดแล้วว่าก่อให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ปวดหัว โรคกระเพาะ และที่สำคัญคือการเพิ่มน้ำหนักโดยไม่รู้ตัวครับ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มกาแฟผสมน้ำตาล ครีม หรือนมบ่อยๆ ซึ่งบางครั้งจะทำให้เราฟูพองโดยไม่รู้ตัวได้ครับ อย่างไรก็ดีใช่ว่ากาแฟจะมีแต่ผลเสียนะครับ ด้านดีก็มีเหมือนกัน ตั้งแต่การลดโอกาสการเกิดอัลไซเมอร์ มะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าคาเฟอีนนั้นมีส่วนช่วยเพิ่มเซลสมอง ทำให้เพิ่มความจำและความสามารถในการเรียนรู้ รวมทั้งลดโอกาสผมน้อยในท่านสุภาพบุรุษ (แต่ต้องดื่มวันละ 60 แก้วต่อวันนะครับ)
สรุปว่าจะมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคนไทย โดยเฉพาะคนในเมืองหลวงจะดื่มกาแฟกันมากขึ้นนะครับ ผลที่ชัดเจนคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็พลอยเติบโตไปด้วย