5 August 2007

ท่านผู้อ่านได้สังเกตไหมครับว่าเราถูกสอนให้มีความสามารถในการบริหารในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารองค์กรกับบริหารลูกน้อง ซึ่งถ้าเราสามารถบริหารได้ดีก็ย่อมนำพาความสำเร็จสู่ตัวเราและองค์กรได้ แต่เราอาจจะลืมคิดไปนะครับว่าปัจจัยที่สำคัญอีกประการต่อความสำเร็จคือตัวเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาของเรา ซึ่งทักษะในการบริหารเจ้านายกลับมักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจหรือมีการพูดถึงเท่าไรนะครับ ดังนั้นสัปดาห์นี้ผมขอนำเสนอเรื่องการบริหารเจ้านายนะครับ แต่ก็หวังว่าเจ้านายผมทั้งอดีตและปัจจุบัน คงจะไม่ได้มาอ่านบทความนี้นะครับ

เชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านย่อมผ่านการมีเจ้านายมาแล้วทั้งสิ้น ต่อให้ท่านเป็นเจ้าของกิจการเอง ท่านก็น่าจะมีเจ้านายนะครับ เพียงแต่อาจจะเป็นเจ้านายที่บ้าน ไม่ใช่เจ้านายที่ทำงาน ผมเองลองนับๆ ดูพบว่าตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีจนกระทั่งปัจจุบันมีผู้ที่สามารถนับเป็นเจ้านายได้แล้วทั้งสิ้นกว่าสิบคน ซึ่งต้องยอมรับเลยนะครับว่าเราเองก็ได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากเจ้านายทุกคน แต่ในขณะเดียวกันพอจะได้เรียนรู้หลายๆ อย่างในการบริหารเจ้านายด้วยเช่นกัน แต่ก็ต้องยอมรับอีกเช่นเดียวกันครับว่าเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เนื่องจากเปลี่ยนเจ้านายทีก็ต้องเรียนรู้กันใหม่หรือแม้กระทั่งเจ้านายคนเดิมก็ต้องเรียนรู้ไปไม่สิ้นสุดครับ

ผมคิดว่าการบริหารเจ้านายนั้นไม่มีสูตรสำเร็จครับ เนื่องจากเจ้านายแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านอุปนิสัยส่วนตัว บุคลิกภาพ แนวทางหรือวิธีการในการบริหาร ความชอบหรือไม่ชอบ หรือ แม้กระทั่งประสบการณ์และความเฉลียวฉลาด ดังนั้นวิธีการบริหารเจ้านายแต่ละคนย่อมจะต้องแตกต่างกัน ต้องเรียนท่านผู้อ่านก่อนนะครับว่าการบริหารเจ้านายนั้นไม่ได้ใช้ในความหมายของการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของตัวเราเองเป็นสำคัญนะครับ แต่เป็นการบริหารเพื่อทำให้การทำงานระหว่างเราและผู้ที่เป็นเจ้านายเป็นไปอย่างราบรื่น งานต่างๆ ที่อยากหรือจะต้องทำก็บรรลุผลสัมฤทธิ์ และสุดท้าย ตัวเราเองก็ได้เรียนรู้และมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานครับ

ถ้าท่านผู้อ่านมีความรู้สึกว่าทำงานออกมาดีและใช้ความพยายามอย่างมาก แต่เจ้านายก็ยังไม่เห็นถึงผลงานของท่าน หรือ แม้กระทั่งเหมือนไม่รับรู้ว่าท่านมีตัวตนอยู่ในโลกนี้ แสดงว่าท่านยังไม่สามารถบริหารเจ้านายได้ดี หรือ ถ้าท่านรู้สึกว่างานที่ท่านกำลังทำอยู่นั้น เจ้านายไม่ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร แถมบางครั้งยังออกจะขัดๆ ด้วยซ้ำไป ก็แสดงว่าท่านยังบริหารเจ้านายได้ไม่ดีพอเช่นกัน

การจะบริหารเจ้านายให้ได้นั้น ไม่ได้เริ่มจากตัวเจ้านายนะครับ แต่ต้องเริ่มจากตัวท่านเองก่อน นั้นคืองานของท่านจะต้องออกมาดีหรือมีผลงานที่ดีจึงจะเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารเจ้านายได้ครับ เนื่องจากถ้าท่านทำงานไม่ดีหรือผลงานไม่ดี ต่อให้ท่านพยายามบริหารเจ้านายมากเพียงใด ก็จะไม่ช่วยท่านเท่าไรหรอกครับ ถ้าเราเริ่มต้นจากการมีผลงานออกมาดีแล้ว ขั้นต่อไปคือ ต้องหาวิธีการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเจ้านายเขาจะเห็นผลงานของเรา มิฉะนั้นผลงานที่ออกมาดีก็จะไม่ได้รับการรับรู้ ในขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้านาย เพื่อที่จะได้รับการสนับสนุนจากเจ้านายอย่างต่อเนื่อง

ผมเองลองค้นพวกเอกสารวิชาการต่างๆ เห็นเขาให้เคล็ดไว้เลยครับว่าในการจะบริหารเจ้ารายให้ได้ดีนั้นก็ต้องเริ่มจากการรู้จักที่จะเข้าไปหาหรือพูดคุยกับเจ้านาย ซึ่งฟังดูแล้วอาจจะไม่ค่อยน่าพิสมัยเท่าไรนะครับ แต่จริงๆ แล้วต้องขึ้นอยู่กับตัวของเจ้านายท่านผู้อ่านด้วยนะครับ ถ้าเป็นเจ้านายที่ดี เขาย่อมพร้อมที่จะคุยและต้อนรับเราอยู่แล้ว แถมบางครั้งท่านผู้อ่านอาจจะพบนะครับว่าคนเป็นเจ้านายนั้นบางครั้งก็เหงาเปล่าเปลี่ยวเหมือนกันนะครับ ท่านเหล่านั้นเขาก็ต้องการเพื่อนคุยเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเจ้านายที่น่ากลัวนั้นการเข้าไปหาถือเป็นกลยุทธ์การฆ่าตัวตายเลยครับ

การเข้าไปหาหรือพูดคุยกับเจ้านายนั้นไม่ใช่เข้าไปคุยแบบสัพเพเหระหรือไร้สาระนะครับ จะเข้าไปคุยก็ต้องมีประเด็นเป็นตัวเบิกโรงก่อนครับ เช่น เอางานหรือความคืบหน้าของงานไปให้ดู หรือ ไปขอรับคำปรึกษา พอคุยงานเสร็จแล้วท่านก็ต้องดูสถานการณ์ในขณะนั้นต่อนะครับว่าเจ้านายกำลังยุ่ง หรือ อารมณ์ไม่ดี หรือ กำลังต้องการหาเพื่อนคุย ซึ่งถ้าอยู่ในภาวะต้องการคนคุยด้วย ท่านผู้อ่านค่อยชวนคุยในเรื่องอื่นๆ ต่อครับ วัตถุประสงค์ก็เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างท่านกับเจ้านายครับ แต่ต้องอย่าลืมดูบรรยากาศและสถานการณ์ในขณะนั้นด้วยนะครับ

ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมเขียนพวกงานต่างๆ ที่ท่านผู้อ่านได้ทำสำเร็จไว้ด้วยนะครับ เพราะใครจะไปรู้ว่าเมื่อไรเจ้านายจะถามเรื่องอะไร หรือ ตามงานเรื่องอะไร หลายครั้งเราถูกเจ้านายถามแบบจู่โจมกระทันหันก็มักจะนึกอะไรไม่ค่อยออก หรือ อึกๆ อักๆ แต่ถ้าได้เตรียมการไว้เนิ่นๆ เราก็จะได้พร้อมตลอดเวลาเมื่อเจ้านายถาม ซึ่งก็แสดงถึงทั้งความมั่นใจและรู้จริงในงานที่เราทำ

ที่สำคัญเวลาเราได้รับมอบหมายงานจากเจ้านาย เราต้องพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรานะครับ ต้องลองเดาใจนายให้ออกนะครับว่าอะไรคือสิ่งที่นายต้องการและด้วยคุณภาพในระดับไหน เพื่อที่จะได้ทำงานตามที่นายต้องการจริงๆ ไม่ใช่ตามที่เราต้องการเพียงอย่างเดียว และถ้าเป็นไปได้ก็ทำให้เกินความคาดหวังของนายไปเลยครับ

สัปดาห์นี้เกริ่นไว้คร่าวๆ ก่อนนะครับ ถึงแนวทางในการบริหารเจ้านาย สัปดาห์หน้าเรามาดูรายละเอียดกันต่อนะครับ