16 August 2006
ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Small Giants: Companies that choose to be great instead of big เขียนโดย Bo Burlingham ซึ่งจุดประกายที่น่าสนใจพอสมควรครับ เลยคิดว่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างนะครับ
ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตดูดีๆ จะพบว่าองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่จะมีรูปแบบในการเจริญเติบโตที่คล้ายๆ กัน นั้นคือเริ่มจากการเป็นธุรกิจส่วนตัวที่มีขนาดเล็ก จากนั้นค่อยๆ เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะโดยการเติบโตจากภายใน การไปซื้อกิจการคนอื่น การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งวิธีอื่นๆ อีกสารพันที่จะเติบใหญ่ต่อไปได้ สุดท้ายแล้วองค์กรดังกล่าวก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและแปลงสภาพจากธุรกิจขนาดเล็ก เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ดูเหมือนว่ารูปแบบในการเติบโตข้างต้นจะเป็นรูปแบบมาตรฐานและความต้องการของผู้บริหารทั่วๆ ไปนะครับ
แต่ทีนี้ถ้าเราหันมามองอีกมุมหนึ่งนะครับ ว่าน่าจะมีนักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการบางท่านที่เริ่มต้นในรูปแบบคล้ายๆ กับรูปแบบข้างต้น แต่แทนที่จะมุ่งเน้นการขยายกิจการของตนเองให้เติบใหญ่มากขึ้น กลับมุ่งเน้นให้องค์กรของตนเองดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยไม่มุ่งเน้นที่จะขยายกิจการให้ใหญ่โตยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่การไม่มุ่งเน้นทำให้องค์กรของตนเองเติบใหญ่ขึ้นนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าองค์กรดังกล่าวจะมีผลการทำงานที่ไม่ดีนะครับ แต่องค์กรเหล่านั้นสามารถเลือกที่จะไม่เติบใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ สามารถทำให้องค์กรตนเองเป็นสถานที่ๆ น่าทำงาน มุ่งเน้นในการให้บริการต่อลูกค้า และสุดท้ายผู้บริหารเองก็มีชีวิตส่วนตัวที่มีความสุข
ถ้าท่านผู้อ่านเป็นผู้บริหารสูงสุดหรือเจ้าของกิจการ ท่านผู้อ่านจะเลือกเดินทางไหนครับ? ทางแรกก็เหมือนกับผู้บริหารจำนวนมากที่มุ่งเน้นทำให้องค์กรของตนเองเติบใหญ่ขึ้น ซึ่งก็น่าภูมิใจนะครับ แต่ก็ต้องแลกด้วยปัญหาสารพันที่จะติดตามมา และทางที่สองคือ ทำให้องค์กรของตนเองเป็นเลิศในด้านต่างๆ แต่ก็ไม่ได้เน้นทำให้องค์กรของตนเองเติบโตจนมีขนาดใหญ่? ในหนังสือ Small Giants ผู้เขียนเขาได้ศึกษาธุรกิจที่มีการดำเนินงานที่เป็นเลิศแต่ไม่มุ่งเน้นที่จะขยายตัวจนเติบโต (ทั้งๆ ที่มีโอกาส) จำนวน 14 แห่ง และสรุปออกมาเป็นประเด็นหรือบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่คิดจะเลือกเดินในเส้นทางนี้ครับ
จริงๆ แล้วการที่องค์กรใดจะตัดสินใจที่จะขยายตัวจนมีขนาดใหญ่ หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารเป็นหลักเลยครับ สังเกตว่าในปัจจุบันหลายๆ บริษัทพอมีโอกาสหรือเติบใหญ่จนถึงขั้นหนึ่งก็มักจะตัดสินใจที่จะนำพาบริษัทตนเองเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้บริหารเองก็เป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้ายอยู่ดีนะครับว่าจะนำพาบริษัทตนเองเข้าจดทะเบียนหรือไม่? บริษัทหลายแห่งที่มีโอกาสจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แต่เลือกที่จะไม่เข้าตลาดฯ เพราะผู้บริหารมองว่าตนเองสามารถที่จะเป็นผู้บริหารองค์กรที่มีขนาดไม่ใหญ่ แต่มีกำไรที่ดี มีความภูมิใจและความสุขกับงานที่ทำ และผลของการเลือกเดินในเส้นทางนี้ก็มีหลายประการครับ เช่น บรรยากาศและความสัมพันธ์ในการทำงานที่ดีในบริษัท (จะสังเกตนะครับว่าหลายๆ บริษัทพอเติบใหญ่มากขึ้น บรรยากาศในการทำงานแบบเดิมๆ ก็มักจะเปลี่ยนไป) ตนเองเป็นเจ้านายของเวลา (เนื่องจากขนาดของบริษัทที่ไม่ใหญ่ ดังนั้นความวุ่นวาย ยุ่งยาก จึงไม่มาก ผู้บริหารมีเวลาและอิสระที่จะทำในสิ่งที่ตนเองอยากจะทำ)
อ่านๆ ดูก็น่าจูงใจไม่น้อยนะครับ ที่จะเลือกที่จะไม่เติบใหญ่ แต่ในทางปฏิบัตินั้นก็ไม่ง่ายนะครับ ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจจะมองว่าในบางอุตสาหกรรมก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะเติบใหญ่ เนื่องจากในอุตสาหกรรมดังกล่าว ขนาด (Size) เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความสำเร็จ ดังนั้นองค์กรไหนต้องการประสบความสำเร็จก็ต้องมีขนาดใหญ่ เรียกว่าไม่ใหญ่ไม่ได้ครับ เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าว การได้เปรียบเนื่องจากขนาด (Economy of Scale) เป็นสิ่งที่สำคัญ
ถึงแม้การที่จะคงสภาพของบริษัทให้มีขนาดที่จิ๋วแต่แจ๋วจะมีข้อน่าดึงดูดใจหลายประการ แต่กมีความกดดันหลายๆ อย่างที่จะทำให้บริษัทต้องมีการขยายตัวและเติบใหญ่ขึ้นนะครับ นอกเหนือจากสภาวะของอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใหญ่แล้วก็ยังมีเรื่องของคู่แข่งที่มีขนาดใหญ่กว่า เนื่องจากคู่แข่งที่มีขนาดใหญ่ก็กลายเป็นแรงบีบบังคับให้เรามีขนาดใหญ่ด้วย เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ นอกจากนี้บุคลากรภายในองค์กรก็เป็นแรงกดดันให้มีการขยายขนาดของบริษัทให้ใหญ่ขึ้นครับ เนื่องจากคนทำงานที่มีคุณภาพส่วนใหญ่ก็ต้องการที่จะมีโอกาสในการเติบโตและก้าวหน้าในอาชีพการงาน รวมทั้งงานที่มีความท้าทาย ดังนั้นการที่จะรักษาบุคลากรเหล่านี้ไว้ให้ได้ จึงจำเป็นต้องมีขนาดของบริษัทที่ใหญ่เพียงพอที่จะรองรับและตอบสนองต่อการเติบโตของพนักงาน
นอกจากนี้ความกดดันที่จะต้องเติบใหญ่ก็ยังมาจากปัจจัยทางด้านจิตใจอีกครับ เช่น เมื่อมีโอกาสที่จะเติบโตผู้บริหารที่เป็นเจ้าของกิจการทั้งหลาย (ส่วนใหญ่เป็นสุภาพบุรุษครับ) มักจะปฏิเสธโอกาสดังกล่าวลำบากครับ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ลูกผู้ชายทุกคนไม่กล้าที่จะปฏิเสธ ทั้งๆ ที่รู้ว่าบริษัทตัวเองไม่พร้อมที่จะเติบโต หรือ รู้ว่าเมื่อเติบใหญ่แล้วจะมีผลเสียอะไรเกิดขึ้น นึกภาพง่ายๆ ครับว่าถ้าท่านทำธุรกิจของท่านอยู่ดีๆ แล้ววันหนึ่งก็มีลูกค้าใหญ่จากต่างประเทศต้องการให้ท่านผลิตสินค้าให้เป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันท่านยังไม่พร้อมที่จะผลิตในปริมาณมากขนาดนั้น ซึ่งถ้าท่านจะทำเช่นนั้นท่านก็ต้องขยายโรงงานเพิ่ม รับคนเพิ่ม ท่านผู้อ่านจะทำอย่างไรครับ? รีบกระโดดเข้าไปเกาะกุมโอกาสดังกล่าว (ซึ่งอาจจะไม่มาอีกเลย) หรือ ปฏิเสธที่จะไม่เติบใหญ่อย่างรวดเร็ว แต่เน้นให้เป็นบริษัทที่จิ๋วแต่แจ๋วครับ? ผมเชื่อว่าความกดดันและเย้ายวนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นคงเป็นสิ่งที่หลายๆ คนยากที่จะปฏิเสธครับ
นอกจากนี้เรื่องของความภาคภูมิใจก็เป็นแรงกดดันอีกประการครับ เนื่องจากเรามีการรับรู้กันมาแต่โบราณแล้วว่าสิ่งไหนใหญ่ สิ่งนั้นมีความสำคัญมากกว่า (The Bigger, the Better) และผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการทุกคนก็อยากจะให้บริษัทตนเองได้เติบโตเป็นยักษ์ใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือสหพัฒน์ ทั้งนั้น และยิ่งเมื่อเป็นเจ้าของบริษัทที่มีขนาดใหญ่แล้ว ก็จะมีสิ่งอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเกียรติ ศักดิ์ศรี ตำแหน่ง หรือ การยอมรับของสังคม ดังนั้นแรงกดดันทางจิตใจจึงเป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธนะครับ เชื่อว่าท่านผู้บริหารที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและเล็กทุกท่านต้องหันมาย้อนถามคำถามตนเองนะครับว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการในชีวิต และจำเป็นหรือเปล่าที่จะต้องขยายธุรกิจของตนเองให้เป็นยักษ์ใหญ่เหมือนคนอื่น หรือ เราสามารถมีชีวิตที่มีความสุขได้กับการเป็นเจ้าของและผู้บริหารของบริษัทที่จิ๋วแต่แจ๋ว