Photo by Tim Collins on Unsplash

14 October 2006

สัปดาห์นี้เรามาถึงตอนสุดท้ายของการนำเสนอผลการศึกษาของบริษัท IBM ในเรื่อง “Expanding the Innovation Horizon: The Global CEO Study 2006” กันนะครับ ทบทวนนิดหนึ่งว่า ในการศึกษาครั้งนี้ทาง IBM เขาได้สอบถามไปยัง CEO จำนวน 765 คนทั่วโลก ถึงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในด้านนวัตกรรม ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการทั้งสาเหตุที่ต้องมีนวัตกรรม รูปแบบของนวัตกรรม แหล่งของนวัตกรรม ซึ่งได้นำเสนอไว้ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ สำหรับสัปดาห์นี้เรามาดูในเรื่องของตัวบุคคลที่จะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาภายในองค์กรกันครับ ซึ่งก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านก็คงทราบกันอยู่แล้วนะครับว่าการที่องค์กรจะเน้นหรือให้ความสำคัญกับนวัตกรรมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวผู้บริหารสูงสุดเป็นหลักครับ Ed Zander ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของ Motorola เคยกล่าวไว้เลยครับว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งที่บริษัทนั้น เขาเองได้ให้ความสนใจกับคำๆ เดียวเท่านั้นครับ คือคำว่า “นวัตกรรม”

            ผลจากการศึกษาของ IBM ก็ยืนยันในเรื่องนี้เช่นเดียวกันครับ โดยเมื่อถามว่าใครคือบุคคลสำคัญที่จะต้องคอยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กรคือใคร? คำตอบอันดับหนึ่งก็คือตัว CEO เองครับ ส่วนอันดับสองคือไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งถ้าอ่านในความหมายจริงๆ ก็คือผู้บริหารสูงสุดนั้นแหละต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนผู้บริหารของหน่วยวิจัยและพัฒนานั้น ปรากฎว่ามี CEO ที่นึกถึงผู้บริหารของหน่วยงานนี้เพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้นเองครับ ซึ่งตรงนี้ก็ยืนยันตรงกับเนื้อหาในสัปดาห์ที่แล้วนะครับว่าบทบาทของหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาอาจจะต้องเปลี่ยนไป

            อย่างไรก็ดีถึงแม้ส่วนใหญ่จะตอบตรงกันว่าตัวผู้บริหารสูงสุดคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการทำให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กร แต่ก็ดูเหมือนว่าจะพูดง่ายแต่ทำยากอีกนะครับ ผมเองก็พบผู้บริหารหลายๆ ท่านที่ชอบพูดถึงและให้ความสำคัญกับนวัตกรรม แต่กลับไม่สามารถผลักดันให้องค์กรของตนเองเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งจากที่ผมสังเกตนั้นปัญหาสำคัญมาจากสองส่วนครับ ส่วนแรกคือตัวผู้บริหารสูงสุดเอง ที่เห่อใช้คำว่านวัตกรรม โดยไม่มีความมุ่งมั่นหรือตั้งใจจริงที่จะทำให้องค์กรตนเองมีความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมอย่างแท้จริง ผู้บริหารพวกนี้จะดีแต่พูดครับ แต่ไม่ได้มุ่งมั่นในเรื่องนวัตกรรมอย่างแท้จริง ส่วนที่สองนั้นเกิดขึ้นจากการที่ผู้บริหารไม่สามารถผลักดันให้บุคลากรในองค์กรเห็นและให้ความสำคัญต่อนวัตกรรม เรียกง่ายๆ ว่า CEO ไม่สามารถสร้างความตื่นตัวหรือทำให้บุคลากรเห็นถึงความจำเป็นและเร่งด่วนในเรื่องของนวัตกรรม ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาคลาสสิกในการบริหารการเปลี่ยนแปลงในทุกแห่งครับ

            ผู้บริหารมักจะมองว่าการที่จะทำให้บุคลากรได้เห็นความสำคัญนั้นคงหนีไม่พ้นที่จะทำให้นวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ทำให้ผู้บริหารส่วนใหญ่เห็นความจำเป็นในเรื่องของการฝังนวัตกรรมเข้าไปในวัฒนธรรมองค์กร (Innovative Culture) แต่ยังดูเหมือนว่า CEO ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะมีวิธีการหรือแนวทางอย่างไรในการทำให้องค์กรมีวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นนวัตกรรม ผมเองในช่วงหลังได้มีโอกาสเห็นและอ่านวัฒนธรรมหรือค่านิยมขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก และคำๆ หนึ่งที่มักจะพบมากกว่าครึ่งในวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรต่างๆ คือคำว่านวัตกรรม ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับถ้าองค์กรไหนเวลาเขียนวัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวย่อภาษาอังกฤษ และถ้ามีตัวอักษร I (ไอ) ปรากฎอยู่ ก็มั่นใจได้ประมาณร้อยละแปดสิบเลยครับว่า ตัว “I” นั้นมาจาก Innovation ทีนี้เมื่อท่านผู้อ่านลองสังเกตดูดีๆ จะพบว่าในองค์กรที่อยากจะมีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นนวัตกรรมนั้น จริงๆ แล้วเป็นอย่างที่ต้องการมากน้อยเพียงใด?

            ดังนั้นความท้าทายที่เกิดขึ้นกับบรรดาผู้บริหารที่อยากจะเห็นนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรก็คือ ทำอย่างไร? ผลจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารทั่วโลกของ IBM ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมและวัฒนธรรมองค์กรสองประการครับ ประการแรกก็คือ จะต้องสร้างวัฒนธรรมของการทำงานร่วมกันระหว่างสมาชิกต่างๆ ภายในองค์กร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องจูงใจและให้รางวัลบุคลากรในองค์กรเป็นรายบุคคล ซึ่งประเด็นนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกัน แต่ก็มีความน่าสนใจนะครับ เนื่องจากผลการสำรวจบรรดาซีอีโอต่างๆ พบว่าวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นนวัตกรรมนั้น จะต้องเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีม อย่างไรก็ดีใช่ว่าการทำงานร่วมกันเป็นทีมเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นนวัตกรรมนะครับ CEO กว่าร้อยละ 77 เห็นตรงกันว่านอกเหนือจากการทำงานร่วมกันเป็นทีมแล้ว องค์กรจะต้องให้ความสำคัญ จูงใจ ให้รางวัล บุคลากรเป็นรายบุคคล นั้นคือทำงานเป็นทีม แต่ให้รางวัลเป็นบุคคล ครับ ฟังดูอาจจะยากหน่อยนะครับ แต่อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เรามองข้ามไป เนื่องจากเรามักจะคิดแบบเดิมว่า ถ้าทำงานเป็นทีม ก็ต้องให้รางวัลเป็นทีม แต่ปัญหาที่มักจะพบคือ การให้รางวัลเป็นทีมนั้น มักจะนำไปสู่พฤติกรรมของการกินแรงเพื่อนในกลุ่ม ดังนั้นการทำงานเป็นทีม แต่ให้รางวัลเป็นรายบุคคล อาจจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกทางนะครับ

            นอกเหนือจากเรื่องการทำงานเป็นทีม แต่ให้รางวัลเป็นบุคคลแล้ว การสร้างวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นนวัตกรรมนั้น ยังจะต้องสามารถบูรณาการหรือกลืนกันระหว่างเทคโนโลยีและธุรกิจให้ได้ครับ ผู้บริหารสูงสุดส่วนใหญ่จะมองว่าการที่นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้นั้นปัจจัยทางด้านเทคโนโลยี ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นหรือผลักดันให้เกิดนวัตกรรม เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือในการทำให้เกิดนวัตกรรมนั้นเรามักจะไม่สามารถผสมผสานระหว่างแนวคิดทางธุรกิจเข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้อาจจะเป็นเนื่องจากการที่ผู้บริหารสูงสุดส่วนใหญ่จะมองเทคโนโลยีเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ไม่ค่อยได้สนใจในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของเทคโนโลยีเท่าใด ซึ่งทำให้ผู้บริหารมักจะให้ความสนใจแต่ด้านธุรกิจอย่างเดียว โดยไม่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีเข้าไป เพื่อนำไปสู่นวัตกรรม

            แต่สำหรับองค์กรที่สามารถผสมผสานปัจจัยทั้งสองประการเข้าด้วยกันนั้น งานศึกษาของ IBM แสดงให้เห็นเลยครับว่าองค์กรเหล่านี้จะมีอัตราการเติบโตของรายได้สูงกว่าองค์กรที่ไม่สามารถผสมผสานได้ถึงสามเท่า ดังนั้นท่านผู้อ่านที่เป็นผู้บริหารทั้งหลายต้องเริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารเทคโนโลยีมากขึ้นนะครับ อย่ามองเทคโนโลยีเป็นเรื่องแปลกประหลาดของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และที่สำคัญคือเทคโนโลยีไม่ได้มีเพียงแค่เทคโนโลยีสารสนเทศเท่านั้นนะครับ

            การสร้างวัฒนธรรมของการทำงานเป็นทีม แต่ให้รางวัลเป็นรายบุคคล และการผสมผสานระหว่างธุรกิจและเทคโนโลยี ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการฝังเรื่องของนวัตกรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรนะครับ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าลอง เผื่อว่าองค์กรของท่านจะเป็น Innovative Organization