11 October 2006
ผมได้อ่านรายงานการศึกษาของ IBM มาฉบับหนึ่งครับ โดยเป็นรายงานการศึกษาเรื่อง “Expanding the Innovation Horizon: The Global CEO Study 2006” ครับ ซึ่งเป็นรายงานการสำรวจของทาง IBM ที่เขาไปสอบถาม CEO ทั่วโลกจำนวน 765 คน จากทั้งภาครัฐและเอกชน จาก 20 อุตสาหกรรม และ 11 ประเทศทั่วโลก โดยกว่าร้อยละ 80 เป็นการสัมภาษณ์ในลักษณะ Face to face interview และที่เหลือก็เป็นการสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ อ่านจากชื่อรายงานการศึกษาก็น่าจะทราบแล้วนะครับว่างานชิ้นนี้ต้องเกี่ยวกับเรื่องร้อนๆ ที่ได้นำเสนอติดต่อกันมาหลายสัปดาห์แล้ว นั้นคือเรื่องของนวัตกรรม ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการศึกษาครั้งนี้ก็คือ เพื่อให้ทราบถึงมุมมองของบรรดา CEO ต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม
เราลองมาดูผลของการสำรวจในครั้งนี้กันเลยนะครับ ประเด็นแรก ก็คือ “ทำไมต้องมีการขยายขอบเขตของนวัตกรรม?” กว่าสองในสามของซีฮีโอที่ให้สัมภาษณ์คาดว่าองค์กรของตนเองจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงภายในอีกสองปีข้างหน้า โดยปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็มีหลากหลายครับ โดยประเด็นต้นๆ เลยก็เป็นปัจจัยทางด้านการตลาดครับ ไม่ว่าจะเป็นภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ความคาดหวังของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของภาวะด้านการตลาด นอกจากสามประเด็นข้างต้นแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่เป็นที่กังวลของบรรดาซีอีโอด้วยครับ เช่น ประเด็นเรื่องตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป พัฒนาการของเทคโนโลยี ภาวะโลกาภิวัฒน์ เป็นต้น ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้องค์กรต้องมีการเปลี่ยนแปลงครับ
อย่างไรก็ดี CEO ที่ให้สัมภาษณ์นั้นก็ไม่ได้หวาดกลัวค่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นครับ ดูเหมือนว่าผู้ที่เป็น CEO ในโลกปัจจุบันจะพร้อมและยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นนั้นเอง ที่ซีอีโอต่างมองว่าเป็นปัจจัยและเหตุผลสำคัญของการที่ต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายขอบเขตของนวัตกรรมให้กว้างกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต โดยเน้นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ มองทั้งจากภายนอกและภายใน รวมทั้งนวัตกรรมทั้งภายนอกและภายในองค์กร
เมื่อพิจารณาประเด็นแรกคือสาเหตุที่ต้องให้มีการขยายขอบเขตของนวัตกรรมแล้ว เราลองมาดูกันต่อนะครับว่าซีอีโอในปัจจุบันจะเน้นนวัตกรรมในด้านไหน? IBM เขาแบ่งลักษณะของนวัตกรรมเป็นสามประเภทครับ ได้แก่ นวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ซึ่งเป็นนวัตกรรมในรูปแบบหรือวิธีการดำเนินธุรกิจ นวัตกรรมในด้านการดำเนินงาน (Operational) ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานในกระบวนงานหลัก และนวัตกรรมในสินค้า บริการ และตลาด (Product / Services / Markets) ซึ่งคงไม่ต้องแปลนะครับ เนื่องจากค่อนข้างตรงตัวอยู่แล้ว
ทีนี้ประเด็นที่น่าสนใจที่พบก็คือ ในปัจจุบันซีอีโอทั้งหลายได้ให้ความสนใจต่อนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ (Business Model Innovation) มากกว่าที่คาดไว้ครับ เนื่องจากในอดีตเราค่อนข้างคุ้นเคยกับนวัตกรรมในสินค้า บริการ และการตลาด รวมทั้งนวัตกรรมในด้านการดำเนินงานอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบัน นวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ จะกลายเป็นหัวข้อหลักที่ซีอีโอให้ความสนใจ ไม่แพ้นวัตกรรมอีกสองประเภทครับ โดยถ้าดูจากสัดส่วนของนวัตกรรมที่ซีอีโอให้ความสำคัญแล้ว จะพบว่านวัตกรรมในสินค้า บริการ และตลาดยังเป็นอันดับหนึ่ง โดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 กว่าๆ ส่วนด้านการดำเนินงานนั้นอยู่ที่ร้อยละ 30 และ ด้านรูปแบบธุรกิจอยู่เกือบร้อยละสามสิบ
นอกจากนี้ทาง IBM เขายังมีการสำรวจผลการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ ที่เข้าไปสัมภาษณ์เปรียบเทียบกับคำตอบที่ได้ และพบว่าในองค์กรที่มีอัตราการเติบโตของกำไรเร็วกว่าคู่แข่งถึงสองเท่านั้น จะให้ความสำคัญกับนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจมากกว่าผู้ที่มีอัตราการเติบโตของกำไรที่ต่ำ โดยประโยชน์ที่ได้จากนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจนั้น ผลจากการสำรวจพบว่าอันดับแรกคือ การลดต้นทุน ตามด้วยความยืดหยุ่นทางกลยุทธ์ (Strategic Flexibility) การมุ่งเน้นและสร้างความเชี่ยวชาญ (Focus and Specialization) และ การเข้าไปเกาะกุมโอกาสและตลาดใหม่ๆ ส่วนนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจที่มักจะพบนั้น ก็หนีไม่พ้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร การมีพันธมิตรในรูปแบบต่างๆ การใช้หน่วยบริการร่วม (Shared Services) เป็นต้น
สำหรับนวัตกรรมในด้านการดำเนินงานนั้น มักจะเกิดขึ้นจากต้นทุนในการดำเนินงานที่สูง การตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่ช้า และการไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ถึงแม้ว่าในองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของการแสวงหารายได้ แต่การดำเนินงานภายในก็จะต้องมีประสิทธิภาพเพื่อให้เป็นรากฐานที่ดี สำหรับการแสวงหารายได้ โดยนวัตกรรมทางด้านการดำเนินงานที่มักจะพบนั้นเรียงตามลำดับได้ดังนี้ การตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า การใช้เทคโนโลยีหรือไอทีในการปรับปรุงกระบวนงานหลัก การลดรอบระยะเวลาหรือขั้นตอนของกระบวนงาน
นวัตกรรมประการสุดท้ายที่ผู้บริหารให้ความสนใจก็คือนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ บริการ และตลาดใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมพื้นฐานที่ซีอีโอส่วนใหญ่จะให้ความมุ่งเน้น นอกจากนี้ซีอีโอหลายๆ ท่านยังให้ความเห็นว่านวัตกรรมในสินค้า บริการ และผลิตภัณฑ์ ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของนวัตกรรมในด้านการดำเนินงาน และนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ โดยรูปแบบของนวัตกรรมประเภทนี้ประกอบไปด้วย การเจาะเข้าไปในตลาดเดิม การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเดิม การใช้การขายตรง การบุกเบิกช่องทางอิเลกทรอนิกส์ และการเข้าสู่ภูมิภาคใหม่ๆ
ประเด็นที่น่าสนใจจากรายงานการสำรวจของ IBM ก็คือ องค์กรมักจะใช้นวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างการเติบโตของกำไร ส่วนนวัตกรรมในสินค้า บริการ และตลาด และนวัตกรรมในด้านการดำเนินงาน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษากำไรไว้ ดังนั้นการที่องค์กรต่างๆ ได้มุ่งเน้นในเรื่องของนวัตกรรมของสินค้า บริการ และตลาด เป็นหลัก กลับไม่ได้สร้างให้เกิดการเติบโตอย่างแท้จริง เพียงแต่ทำให้สามารถดำรงอยู่และรักษาตนเองให้อยู่รอดปลอดภัยในการแข่งขันเท่านั้นครับ ซึ่งประเด็นที่ค้นพบในจุดนี้ก็น่าสนใจครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากลำบากและท้าทายในนวัตกรรมรูปแบบธุรกิจครับ ผมเองก็ยังอยากจะแนะนำแนวคิดเรื่อง Blue Ocean Strategy ไว้อีกครั้งนะครับ ว่าเป็นเครื่องมือและวิธีการคิดที่สำคัญที่ทำให้องค์กรธุรกิจสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาได้
สัปดาห์หน้าเรามาศึกษาข้อค้นพบในด้านอื่นๆ จากรายงานการศึกษาของ IBM กันต่อนะครับ