14 October 2006

เนื้อหาสัปดาห์นี้ยังคงสืบเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ โดยเป็นการนำเสนอรายงานการศึกษาของ IBM เรื่อง “Expanding the Innovation Horizon: The Global CEO Study 2006” ซึ่งทาง IBM เขาได้สอบถามไปยัง CEO จำนวน 765 คนทั่วโลก ถึงความเห็นเกี่ยวกับด้านนวัตกรรม ซึ่งในสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอเรื่องของสาเหตุที่ต้องมีนวัตกรรม และรูปแบบของนวัตกรรมที่ผู้บริหารสนใจ สัปดาห์นี้เรามาเริ่มจากแหล่งที่มาของนวัตกรรมกันนะครับ

            เวลาเรานึกว่านวัตกรรมขององค์กรนั้นมาจากไหน แนวคิดแบบดั้งเดิมก็มักจะคิดถึงแหล่งภายในองค์กรเป็นหลักใช่ไหมครับ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่มีหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ซึ่งต้องเรียนว่าการคิดในลักษณะดังกล่าว อาจจะล้าสมัยไปแล้วครับ เนื่องจากพบว่าในปัจจุบันแหล่งของนวัตกรรมจะมาจากภายนอกองค์กรมากกว่าภายในองค์กร ซึ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านก็ได้มีหนังสือหลายเล่มออกมาพูดถึงนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากภายนอกองค์กรกันเยอะพอสมควรครับ ถ้าเราดูผลการสำรวจแหล่งของนวัตกรรมจาก CEO 765 คน จะพบว่าแหล่งสำคัญอันดับแรกคือตัวบุคลากรภายในองค์กรครับ แต่อันดับที่สองที่ตามมาอย่างติดๆ คือ คู่ค้า หรือ เครือข่าย หรือ พันธมิตร (เขาใช้คำว่า Business Partner) ส่วนอันดับสามที่หายใจรดต้นคออันดับสอง ก็คือจาก ลูกค้าครับ สำหรับหน่วยงานวิจัยและพัฒนานั้น ตกไปอยู่อันดับที่ 8 เลยครับ ซึ่งมี CEO เพียงร้อยละ 17 ที่นึกถึงหน่วยงานวิจัยและพัฒนา ว่าเป็นแหล่งสำคัญของนวัตกรรม

            นอกจากนั้นทาง IBM เขายังได้หาความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งของนวัตกรรมกับผลการดำเนินงานทางด้านการเงินด้วยครับ และพบว่าในองค์กรที่มีอัตราการเติบโตของรายได้ที่สูง จะอาศัยแหล่งภายนอกเป็นจุดกำเนิดของนวัตกรรมมากกว่าองค์กรที่มีอัตราการเติบโตของรายได้ที่ต่ำ มี CEO ท่านหนึ่งกล่าวเลยครับว่า “ถ้าคิดว่ามีคำตอบทุกอย่างภายในองค์กรแล้ว เป็นความคิดที่ผิด”

            ผลจากการศึกษาในครั้งนี้น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้บริหารนะครับ เนื่องจากหลักฐานทั้งจากการศึกษาและแนวโน้มทางด้านวิชาการต่างชี้ชัดไปในทิศทางเดียวกันว่าการที่องค์กรจะสามารถก่อนให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาได้นั้น องค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับแหล่งภายนอกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคู่ค้า และลูกค้า ส่วนบุคลากรภายในก็ยังสำคัญอยู่ต่อการเกิดนวัตกรรม แต่บุคลากรในที่นี้หมายถึงบุคลากรทั่วทั้งองค์กรเลยครับ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงแต่หน่วยงานวิจัยและพัฒนา แถมหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาขององค์กรต่างๆ อาจจะต้องหันกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเองใหม่อีกครั้งว่า จะต้องเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต

            ทีนี้เรามามุ่งเน้นในนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากคู่ค้า หรือ พันธมิตรทางธุรกิจหน่อยนะครับ จากการศึกษานั้นก็พบว่าความร่วมมือและพันธมิตรทางธุรกิจจะมีความสำคัญต่อการเกิดนวัตกรรมในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางด้านรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ด้านผลิตภัณฑ์และบริการ (Product / Service) และด้านการดำเนินงาน (Operational) อย่างไรก็ดีการก่อเกิดนวัตกรรมจากคู่ค้าและพันธมิตรนั้น อ่านๆ ดูเหมือนจะง่ายครับ แต่เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ CEO ทั้งหลายว่าในทางปฏิบัตินั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด CEO จำนวนมากที่ยอมรับว่าความร่วมมือระหว่างบริษัทต่างๆ นั้นไม่ค่อยได้รับผลหรือประโยชน์เท่าที่ตั้งใจไว้ พูดง่ายๆ ก็คือ ง่ายทางทฤษฎี แต่ยากในทางปฏิบัติครับ

            จริงๆ แล้วเมื่อองค์กรสองแห่งเข้ามาเป็นคู่ค้าหรือพันธมิตรร่วมกัน สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและพิจารณาก็คือ ได้มีการถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันหรือไม่? ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่าสนใจและน่าศึกษานะครับ เนื่องจากปัจจุบันดูเหมือนว่ากลยุทธ์ในการเป็นพันธมิตรระหว่างแต่ละองค์กร จะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารหลายๆ ท่านใฝ่หา แต่คำถามสำคัญก็คือ เมื่อองค์กรสองแห่งได้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมกันแล้ว ได้มีการถ่ายทอดความรู้หรือแบ่งปันความรู้ระหว่างกันมากน้อยเพียงใด และเป็นไปตามที่คาดหวังหรือตั้งใจไว้หรือไม่? เนื่องจากนวัตกรรมจากภายนอกจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการเรียนรู้ ถ่ายทอดหรือแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน โดยจะเกิดการถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันมากน้อยเพียงใด ก็ต้องขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่ายนะครับ ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมว่าตบมือข้างเดียวมันไม่ดัง แต่อย่างที่เรียนไว้แล้วครับว่าพูดง่ายแต่ทำยาก เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างพันธมิตร          (ขณะนี้นิสิตในที่ปรึกษาของผมที่จุฬาฯ กำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้อยู่พอดีครับ ถ้าได้ผลออกมาอย่างไรจะนำมาเผยแพร่อีกทีนะครับ)

            นอกเหนือจากความร่วมมือกับองค์กรภายนอกแล้ว สำหรับองค์กรขนาดใหญ่บางแห่ง การร่วมมือหรือแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างหน่วยงานภายในด้วยกันก็สำคัญต่อการก่อเกิดนวัตกรรมนะครับ และท่านผู้อ่านอาจจะบอกต่อเลยครับว่าการร่วมมือกับหน่วยงานภายใน บางครั้งยากกว่าการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกด้วยซ้ำไป ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นความท้าทายของผู้บริหารต่อไปครับ

            ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจคือ ประโยชน์ที่ได้รับจากการร่วมมือกับคู่ค้า หรือ พันธมิตรต่างๆ ผลจากการสำรวจ CEO ต่างๆ ทั่วโลกพบว่าประโยชน์ในเชิงนวัตกรรมที่ได้รับจากการร่วมมือกับพันธมิตรอันดับแรก คือการลดต้นทุน ตามด้วยการเพิ่มระดับความพอใจของลูกค้า การเข้าถึงทักษะที่สำคัญ ตามด้วยการเพิ่มรายได้ ซึ่งถ้าดูจากประโยชน์ทั้งสี่ประการนั้นก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ยืนยันในสิ่งที่เราทราบกันอยู่แล้วครับ เพียงแต่ประเด็นสำคัญและน่าสนใจที่ได้จากรายงานการศึกษาชิ้นนี้ก็คือ เวลาเรานึกถึงแหล่งของนวัตกรรมนั้นอย่ามองเฉพาะภายในองค์กรเป็นหลักครับ ควรจะมองภายนอกด้วย โดยเฉพาะจากคู่ค้าและลูกค้า สำหรับภายในนั้นบุคลากรก็ยังเป็นแหล่งที่สำคัญของนวัตกรรม แต่บทบาทของหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไป และประเด็นสำคัญก็คือ การที่นวัตกรรมจะเกิดขึ้นจากพันธมิตรหรือการร่วมมือกับองค์กรอื่นนั้น เป็นสิ่งที่ง่ายทางทฤษฎี แต่ยากในทางปฏิบัติครับ

            ในสัปดาห์หน้าเรามาดูตอนจบของรายงานการศึกษาชิ้นนี้กันนะครับ โดยเฉพาะประเด็นของบุคลากรสำคัญที่ต้องรับผิดชอบต่อการทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้ยมาภายในองค์กร ท่านผู้อ่านลองเดาดูนะครับว่าควรจะเป็นใคร?