31 May 2006
คงจะไม่ต้องแนะนำหรือเกริ่นนำถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง General Electric หรือ GE กันเท่าไรนะครับ โดยเฉพาะอดีตผู้บริหารสูงสุดที่โด่งดังอย่าง Jack Welch อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่าผู้บริหารสูงสุดคนปัจจุบันอย่าง Jeffrey Immelt ก็จะมีฝีมือไม่แพ้กันนะครับ เพียงแต่อาจจะมุ่งเน้นในคนละด้าน โดยในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมิถุนายนนี้ บทความที่เป็นตัวชูโรงคือบทความที่บรรณาธิการของวารสาร Thomas Stewart เขาไปสัมภาษณ์ Immelt ชื่อ Growth as a Process ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวทางในการเติบโตรูปแบบใหม่ที่จีอี ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจและน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีที่เราจะเรียนรู้และนำมาปรับใช้
หลายๆ ท่านที่คุ้นกับแนวคิดการบริหารของจีอีในอดีต ก็คงทราบนะครับว่าจีอีให้ความสำคัญกับเรื่องของผลิตภาพ (Productivity) ค่อนข้างมาก และการเติบโตในอดีตที่ผ่านมาของจีอีก็เน้นการเติบโตโดยการเข้าไปซื้อหรือควบรวมกิจการอื่นเสียค่อนข้างเยอะ แต่พอมาสมัย Immelt เขามองว่าสถานการณ์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและกระแสโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้เขาเองต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของจีอีด้วยเช่นกันครับ เนื่องจากกระแสการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันจีอี จะมัวแต่ยึดติดกับแนวทางหรือความสำเร็จในอดีตก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ก็มาลงตัวว่าจีอีต้องเน้นกลยุทธ์การเติบโต (Growth Strategy) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่การเติบโตที่จีอีจะมุ่งเน้นนั้นควรจะเกิดขึ้นจากการเติบโตจากภายในองค์กร มากกว่าการเติบโตโดยการเข้าไปซื้อชาวบ้านเหมือนในอดีต
และจากการที่จีอีเป็นบริษัทที่ชอบการวัดผลในรูปแบบต่างๆ บริษัทก็ตั้งเป้าสำหรับการเติบโตจากภายใน (Organic Growth) ไว้อย่างน่าท้าทายเชียวครับ นั้นคืออัตราการเติบโตจากภายในของจีอีนั้นต้องเป็นสองถึงสามเท่าของการเติบโตของ GDP โลก ซึ่งถ้าแปลงเป็นตัวเลขให้ชัดเจนแล้วก็ต้องมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8% จากฐานปัจจุบัน ซึ่งบางท่านอาจจะมองว่าไม่ยาก แต่ต้องอย่าลืมนะครับว่าจีอีนั้นมีฐานที่ใหญ่อยู่แล้ว นั้นคือมีรายได้อยู่ที่ปีละ $150 พันล้าน ดังนั้นอัตราการเติบโตปีละ 8% จึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีบริษัทขนาดใหญ่ขนาดนี้ที่ไหนทำมาก่อน Immelt ถึงกับออกปากมาเลยครับว่า คงไม่มีตำราทางด้านบริหารจัดการเล่มไหนช่วยได้ เนื่องจากยังไม่เคยมีตำราเล่มไหนเขียนถึงแนวทางการเติบโตในขนาดนี้มาก่อน แต่ถ้าจีอีสามารถทำให้เกิดอัตราการเติบโตในระดับนี้ได้ พร้อมทั้งยังรักษาความโดดเด่นในด้านผลิตภาพไว้ให้ได้เหมือนเดิม จีอีก็จะครองความเป็นบริษัทอันดับหนึ่งของโลกไปได้อีกยาว
เป็นไงครับ อ่านดูตัวเลขแล้วก็เหมือนยากที่จะเกิดขึ้นนะครับ โดยเฉพาะบริษัทอย่างจีอีที่มุ่งเน้นในเรื่องของผลิตภาพและการเติบโตจากภายนอกมาตลอด แต่ Immelt มองว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำครับ เนื่องจากเขามองว่าต่อจากนี้ไปอีกสิบถึงยี่สิบปีข้างหน้า การเติบโตของธุรกิจจะเป็นไปได้ในอัตราที่ช้ากว่าอดีต แต่ในขณะเดียวกันตลาดต่างๆ ก็จะมีความเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งการเติบโตต่างๆ ก็จะถูกขับเคลื่อนได้ด้วยนวัตกรรม (Innovation) และบริษัทไหนที่สามารถเติบโตจากภายในได้ บริษัทนั้นก็จะยิ่งได้เปรียบมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่นวัตกรรมจะกลายเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโต
อ่านดูแล้วก็ไม่ค่อยแตกต่างกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยอย่างเครือซิเมนต์ไทยเท่าไรนะครับ ถึงแม้ขนาดของบริษัทจะแตกต่างกันมาก แต่ลักษณะและสภาวะแวดล้อมที่คล้ายๆ กันทำให้ทั้งจีอีและเครือซิเมนต์ไทยต่างพยายามพัฒนาตัวเองจากบริษํทอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นผลิตภาพ มาสู่นวัตกรรมกันมากขึ้น เชื่อว่าทั้งสองบริษัทคงจะเห็นเหมือนๆ กันประการหนึ่งครับ นั้นคือการที่องค์กรจะเติบโตต่อไปได้ในอนาคต นวัตกรรมเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ จริงๆ น่าจะมีการสัมภาษณ์ผู้บริหารสูงสุดของเครือฯ ให้ลองสะท้อนบทสัมภาษณ์ของ Immelt ดูนะครับ อาจจะเจอหลายๆ อย่างที่น่าสนใจก็ได้
กลับมาที่บทสัมภาษณ์ของ Immelt กันต่อนะครับ ตอนแรกก็สงสัยกันอยู่เหมือนกันว่าทำไมเขาต้องตั้งเป้าเสียสูง (เติบโตอยู่ที่ 8%) แต่พอมาเจอเขาอธิบายก็ชัดเจนครับ นั้นคือใช้เป้าการเติบโตเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร เนื่องจากมีแต่เป้าหมายที่ท้าทายเช่นนี้จึงจะสามารถขับเคลื่อนหรือปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของจีอีได้ และที่สำคัญ Immelt เขาก็มองว่าตัวเลขที่เป็นเป้าดังกล่าว ไม่ใช่ตัวเลขที่จีอียากจะบรรลุนะครับ เขามีความเชื่อกันว่าเขาสามารถทำได้
Immelt มองว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะต้องทำให้เกิดผลในทุกองค์ประกอบที่สำคัญให้ได้ ไม่ใช่มุ่งเน้นแค่การเปลี่ยนแปลงในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่จะต้องเป็นในทุกๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น Immelt เลยมองว่าการเติบโตจากภายใน หรือ ที่เขาเรียกว่า Organic Growth นั้น จะต้องทำให้เป็นกระบวนการ หรือ Process ให้ได้ ซึ่งตรงนี้เองครับที่เป็นหัวใจของการเติบโตแบบใหม่ของจีอี เนื่องจากถ้าเรานึกถึงการเติบโตทั่วๆ ไป หลายคนก็จะนึกถึงเหตุการณ์หรือกิจกรรมหลักๆ เพียงไม่กี่อย่าง ที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดการเติบโต แต่ Immelt เขามองภาพในเชิงองค์รวมครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของจีอีที่ควรจะเป็นกระบวนการ ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญหกประการได้แก่ Great Technology, Innovation, Customers, Growth Leaders, Globalization, Commercial Excellence ตามรูปที่นำมาประกอบนี้
จริงๆ แล้วทั้งหกองค์ประกอบนี้ ไม่ได้แปลกใหม่นะครับ แต่สิ่งที่ Immelt เขามองก็คือการที่องค์กรจะเติบโตจากภายในได้ ควรจะเป็นไปตามทั้งหกองค์ประกอบด้วย และภายใต้องค์ประกอบแต่ละประการก็ยังมีบรรดาเครื่องมือทางด้านการบริหารจัดการย่อยๆ เข้าไปอีก Immelt ระบุว่ารูปนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนนะครับ แต่เกิดขึ้นจากการตกผลึกทางความคิด จากการดำเนินงานในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา และองค์ประกอบทั้งข้อประการนี้ก็สามารถแยกมาพิจารณาทีละประการ และเมื่อนำมารวมกันแล้วก็จะเกิดแรงเสริมระหว่างกันเกิดขึ้น แถมในทุกๆ องค์ประกอบยังมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ที่ทางจีอีพยายามที่จะผลักดันในแต่ละองค์ประกอบให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี
สัปดาห์นี้ขอทิ้งท้ายไว้แค่นี้นะครับ สัปดาห์หน้าจะลงมาที่องค์ประกอบทั้งหกข้อของกระบวนการเติบโตจากภายในของจีอีกันครับ