19 April 2006

ถ้าจะถามว่าแนวคิดทางการบริหารในเรื่องไหนที่มีความสำคัญและใช้กันอย่างแพร่หลายในองค์กรธุรกิจในปัจจุบัน ก็คงจะหนีไม่พ้นคำๆ หนึ่งครับ นั้นคือ นวัตกรรม หรือ Innovation คำๆ นี้ดูเหมือนได้กลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์อีกคำหนึ่งที่เรามักจะพบเจอในองค์กรชื่อดังหลายๆ แห่ง เรามักจะพบคำๆ นี้แทรกอยู่ในที่ต่างๆ ครับ บางแห่งก็ต้องการทำให้องค์กรตนเองเป็น Innovative Organization หรือองค์กรแห่งนวัตกรรม บางแห่งก็พยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กรของตนเองให้เน้นในเรื่องนวัตกรรมมาขึ้น บางแห่งก็นำเรื่องของนวัตกรรมแปลงเป็นกลยุทธ์ในการเติบโตประการหนึ่ง สรุปง่ายๆ ก็คือในยุคปัจจุบัน ถ้าขาดคำนี้ไปเสีย ดูเหมือนจะไม่เข้ายุคแล้วครับ

            แต่ถ้าย้อนกลับมาดูสภาพการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันก็ไม่แปลกใจหรอกครับที่องค์กรชั้นนำจำนวนมากต้องหันมาเล่นเรื่องของนวัตกรรมมากขึ้น ถ้าพิจารณาดีๆ เราจะพบว่าการเติบโตขององค์กรธุรกิจในปัจจุบันจะเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น การที่จะสามารถนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ และเอาชนะคู่แข่งได้นั้น ไม่ได้ง่ายเหมือนในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ในปัจจุบันช่วงเวลาของการได้เปรียบทางการแข่งขันมันสั้นลงทุกขณะ คู่แข่งขันเดิมก็มีความสามารถที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเท่าใด สิ่งใดก็ตามที่องค์กรของเราทำได้ในวันนี้ ไม่เกินอีกสองวันคู่แข่งก็สามารถทำได้เหมือนกัน (แถมอาจจะดีและถูกกว่า) นอกจากนี้คู่แข่งใหม่ๆ หรือผู้เล่นใหม่ๆ ที่พร้อมจะทำเข้ามาและทำให้สิ่งที่องค์กรทำอยู่ดูเหมือนจะล้าสมัยไปในทันที ก็มีมากขึ้นทุกขณะ และที่สำคัญคือช่องทางหรือโอกาสในการเติบโตขององค์กรทั้งหลายก็แคบลงทุกขณะ

            ดังนั้นคงไม่น่าแปลกใจนะครับว่าทำไมองค์กรชั้นนำจำนวนมากต้องหันมาเล่นเรื่องนวัตกรรมกัน ดูเหมือนว่าผู้บริหารจำนวนมากจะมีความเชื่อว่านวัตกรรมจะเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับองค์กรในการที่จะเติบโตต่อไปได้ และดูเหมือนความคิดดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้บริหารเมืองไทยเท่านั้นนะครับ ผู้บริหารเกือบทั้งโลกก็มีความเชื่อในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ความสามารถในด้านนวัตกรรมนั้นถือเป็นกลไกที่สำคัญ อย่างไรก็ดีท่านผู้อ่านต้องลืมภาพของนวัตกรรมในอดีตไปก่อนนะครับ ในอดีตเวลาเรานึกถึงคำว่านวัตกรรมทีไร เรามักจะนึกถึงแต่พัฒนาทางด้านเทคโนโลยี หรือ การวิจัยและพัฒนาเป็นหลัก แต่คำว่านวัตกรรมในความหมายที่บรรดาองค์กรต่างๆ ใช้ในปัจจุบันไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะเทคโนโลยีเท่านะครับ ในหลายๆ แห่งนวัตกรรมอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเลยก็ได้ครับ บางแห่งนวัตกรรมอาจจะเป็นการออกแบบกระบวนการในการทำงานใหม่ที่ทำให้ปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าก็ได้ หรือแม้กระทั่งนวัตกรรมในเรื่องของกลยุทธ์ (Strategic Innovations) การพัฒนารูปแบบในการทำธุรกิจแบบใหม่ๆ ก็ถือเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่ง

            อย่างไรก็ดีการที่องค์กรประกาศว่าจะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม หรือให้นวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร หรือใช้นวัตกรรมเป็นกลยุทธ์ในการเติบโตนั้น เราจะสังเกตว่าหลายแห่งเป็นเพียงแค่สิ่งที่ผู้บริหารประกาศและอยากจะให้เป็น แต่ในทางปฏิบัตินั้นแทบจะหานวัตกรรมใหม่ๆ ในองค์กรได้ยากมาก ทั้งนี้เนื่องจากนวัตกรรมในทางคำพูดกับทางปฏิบัตินั้นไม่เหมือนกัน และการที่จะทำให้นวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้นั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเหมือนที่ผู้บริหารต้องการ สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้คือการศึกษาจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จทางด้านนวัตกรรม ว่าองค์กรเหล่านั้นมีแนวทางเกี่ยวกับนวัตกรรมอย่างไรบ้าง? ซึ่งในวารสาร Business Week ฉบับล่าสุดเขาก็ออกมาเป็นฉบับพิเศษภายใต้หัวข้อ The World’s Most Innovative Companies ซึ่งก็น่าจะนำมาใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาและอ้างอิงได้ โดยทาง Business Week เขาได้ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง The Boston Consulting Group (Group) ในการแสวงหาและศึกษาองค์กรที่ได้ชื่อว่า most innovative companies จำนวน 25 บริษัท โดยใช้วิธีการสำรวจและสอบถามจากผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกกว่า 1,000 ราย ซึ่งในปีนี้ทาง Business Week เขาได้สำรวจในลักษณะนี้เป็นปีที่สองแล้ว

            เรามาดูกันนะครับว่า 25 อันดับนั้นมีบริษัทไหนบ้าง ไล่กันจากอันดับหนึ่งเลยนะครับ 1) Apple 2) Google 3) 3M 4) Toyota 5) Microsoft 6) GE 7) P&G 8) Nokia 9) Starbucks 10) IBM 11) Virgin 12) Samsung 13) Sony 14) Dell 15) IDEO [เป็นบริษัทชื่อดังในด้านการออกแบบ ผลงานที่ผ่านมา เช่นออกแบบ Palm V] 16) BMW 17) Intel 18) eBay 19) IKEA [บริษัทเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังของยุโรป] 20) Wal-Mart 21) Amazon 22) Target [ร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ คู่แข่งของ Wal-Mart] 23) Honda 24) Research In Motion [ผู้ผลิต Blackberry] และ 25) Southwest Airlines