
29 March 2006
สัปดาห์นี้ขอนำเนื้อหาสืบเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ นั้นคือพัฒนาการของ Balanced Scorecard มาใช้ในประเทศไทย โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นเรื่องของการนำ BSC มาใช้ในภาคเอกชน โดยดูจากผลการวิจัยที่ผมทำ สัปดาห์นี้จะขอมาดูพัฒนาการของ BSC ในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจนะครับ ในภาคราชการนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้พยายามที่จะนำระบบ BSC มาประยุกต์ใช้กับหน่วยราชการทุกหน่วย โดยให้ออกมาอยู่ในรูปของคำรับรองการปฏิบัติราชการ ซึ่ง BSC เวอร์ชั่นราชการไทยนั้นก็มีสี่มิติเช่นเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากด้านการเงิน ลูกค้า กระบวนการภายใน และการเรียนรู้และพัฒนา เป็น ประสิทธิผลตามแผนยุทธศาสตร์ (หรือประสิทธิผลตามแผนปฏิบัติราชการ) คุณภาพการให้บริการ ประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ และการพัฒนาองค์กร
อย่างไรก็ดีในการจัดทำ BSC ของภาคราชการนั้นค่อนข้างจะเน้นเป็น KPI Scorecard มากกว่าการเป็น Strategy Scorecard นั้นคือมุ่งเน้นในเรื่องของตัวชี้วัดเป็นหลักมากกว่าการเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ โดย BSC ฉบับราชการนั้นจะเริ่มต้นที่สิ่งที่จะวัดและตัวชี้วัดเลย แทนที่จะเริ่มต้นที่แผนที่กลยุทธ์หรือ Strategy Map อย่างเช่น BSC ทั่วๆ ไป อย่างไรก็ดีหลังสองสามปีผ่านไปตอนนี้ก็เริ่มมีแนวโน้มที่ทางสำนักงานก.พ.ร.เขาจะให้ส่วนราชการจัดทำ Strategy Map กันมากขึ้นนะครับ นอกจากนี้ส่วนราชการหลายๆ แห่งที่ผู้บริหารเขามีความสนใจก็ได้มีการนำหลักการ BSC มาใช้ในหน่วยงานของตนเอง โดยเริ่มต้นตั้งแต่ Strategy Map ไล่ไปจนถึงตัวชี้วัด และเชื่อมโยงสู่แผนงานโครงการต่างๆ
สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้นที่ผ่านมายังอยู่ในรูปของความสมัครใจมากกว่าครับ นั้นคือรัฐวิสาหกิจหลายแห่งก็ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว หลายแห่งเริ่มไปแล้วก็หยุดไป (ก็มี) หรือบางแห่งก็ยังไม่ได้เริ่มจัดทำอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในช่วงต่อไปข้างหน้านี้เข้าใจว่ารัฐวิสาหกิจเกือบทุกแห่งจำเป็นต้องมีการทำ BSC เนื่องจากมีนโยบายจากกระทรวงการคลังซึ่งกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งหลายให้มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Management) (EVM นั้นเป็นอีกมุมหนึ่งของ EVA หรือ Economic Value Added ที่คุ้นเคยกัน) โดยภายใต้ระบบ EVM นั้นรัฐวิสาหกิจทุกแห่งจะต้องมีการทบทวนหรือจัดทำ BSC และนำ EVM มาเชื่อมโยงกับเข้ากับ BSC
ท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นได้นะครับว่าในปัจจุบันการนำ BSC มาใช้ในประเทศไทยนั้นได้ก้าวหน้าและใช้กันอย่างกว้างขวางพอสมควรทั้งในภาคเอกชน ราชการ และรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ดีประเด็นที่สำคัญน่าจะอยู่ในเรื่องของการนำมาใช้อย่างต่อเนื่องให้เกิดประโยชน์กับองค์กรมากกว่า เนื่องจากได้พบเจอในหลายองค์กรที่เมื่อนำ BSC มาใช้แล้ว ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ซึ่งต้องเรียนตรงๆ ว่าสาเหตุสำคัญอยู่ที่ตัวผู้บริหารระดับสูง จะพบว่าในหลายๆ องค์กรที่นำ BSC มาใช้จนสำเร็จนั้น ผู้บริหารระดับสูงต้องให้ความสำคัญ สนับสนุน เข้าใจ รวมทั้งใช้ BSC อย่างต่อเนื่อง
พัฒนาการที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ BSC ในเมื่องไทยก็คือการนำ BSC ไปบูรณาการกับการเครื่องมือทางการบริหารอื่นๆ ในภาคราชการนั้น ก็ได้มีความพยายามจากสำนักงานก.พ.ร. ที่จะแสดงให้เห็นว่าการนำเครื่องมือทางการบริหารต่างๆ มาใช้นั้นสามารถที่จะบูณรณาการเข้าด้วยกันได้ ทั้งในการวางยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด การบริหารความเสี่ยง การบริหารโครงการ Competencies การบริหารความรู้ ฯลฯ ส่วนในภาครัฐวิสาหกิจนั้น การนำเรื่องของ EVM มาบูรณาการกับ BSC ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่พบเจอ นอกจากนี้ผมก็เจอในองค์กรธุรกิจบางแห่งที่พยายามบูรณารการระหว่าง BSC กับการบริหารความเสี่ยงเข้าไว้ด้วยกัน ผมเองเชื่อว่าสุดท้ายแล้วก็คงจะหนีแนวทางของการบูรณาการเครื่องมือทางการบริหารต่างๆ ไม่พ้น เพียงแต่จะออกมาในรูปแบบไหนและอย่างไรเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ทาง Robert Kaplan หนึ่งในสองผู้คิดค้น BSC ที่ได้มาพูดที่เมืองไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเขาก็พยายามที่จะบูรณาการระหว่าง BSC กับ ABC (Activity-Based Costing) หรือการคิดต้นทุนตามกิจกรรม เข้าไว้ด้วยกัน โดย Kaplan มองว่าองค์กรตั้งขึ้นมาเพื่อก่อให้เกิดคุณค่า กลยุทธ์คือสิ่งที่องค์กรทำเพื่อก่อให้เกิดคุณค่า BSC เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบอกว่าองค์กรมีแนวทางในการสร้างคุณค่าอย่างไร ส่วน ABC นั้นจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้องค์กรทราบว่าต้นทุนในการสร้างคุณค่านั้นเป็นเท่าไร และผลตอบแทนที่ได้รับนั้นคุ้มกับต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่?
พูดถึง Robert Kaplan ก็ขอนำเสนอถึงสิ่งที่เขาได้มาพูดที่กรุงเทพเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหน่อยนะครับ ดังที่ได้เรียนไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเขาเพิ่งมาเมื่อสองปีที่แล้ว ทำให้การมาอีกรอบหนึ่งอาจจะกระชั้นไปหน่อย จำนวนผู้เข้าฟังเลยสู้ครั้งที่แล้วไม่ได้ ส่วนเนื้อหานั้นเท่าที่รับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารที่เข้าร่วมรับฟัง ส่วนใหญ่ก็บอกว่าดี ได้รับประโยชน์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี แต่ถ้าถามผมแล้ว ผมเองอาจจะมองว่าไม่ได้มีสิ่งใดแปลกใหม่มากนัก เนื่อหาที่เขานำเสนอนั้นสามารถหาอ่านได้จากบทความหรือหนังสือต่างๆ ที่เขาเขียน เพียงแต่บางท่านที่ไม่ได้อ่านหนังสือและบทความเหล่านั้นการมารับฟังกับตัวจริงๆ ก็อาจจะเป็นประโยชน์มากกว่า นอกจากนี้ในการสัมมนาครั้งนี้เขาจะพูดถึงเรื่องของ ABC หรือ Activity-Based Costing ค่อนข้างมาก รวมทั้งมีตัวเลขทางด้านการเงินมาแสดงเยอะพอสมควร ถ้าผู้ฟังที่ไม่ค่อยถนัดด้านนี้ก็อาจจะหลุดไปได้พอสมควรครับ อย่างไรก็ดีถ้ามองในภาพรวมแล้วก็ถือว่าดีและได้ความรู้พอสมควร และเชื่อว่าอีกไม่เกินสองหรือสามปี เขาก็คงจะมีหนังสือเล่มใหม่ที่ต่อจากเล่มที่แล้วมาออกมาให้พวกเรากันอีก และถึงเวลานั้นเขาก็คงมาทัวร์เมืองไทยอีกรอบ
โดยสรุปการนำ BSC มาใช้ในประเทศไทยก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ นะครับ เพียงแต่การนำมาใช้นั้นเป็นลักษณะของการขยายผลออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปผูกและเชื่อมโยงกับเครื่องมืออื่นๆ ซึ่งในทัศนะของผมแล้วจะนำมาใช้อย่างไรก็แล้วแต่ ก็ขอให้เป็นประโยชน์แก่องค์กรเป็นหลักครับ