source: Gama Semesta

22 March 2006

เนื้อหาในช่วงนี้ขอมุ่งเน้นไปที่เรื่องของ Balanced Scorecard หน่อยนะครับ เพื่อให้เข้ากระแสที่หนึ่งในผู้คิดค้น Balanced Scorecard (Robert Kaplan) ได้เข้ามาจัดสัมมนาในประเทศไทยเมื่อวันจันทร์ที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา Kaplan เองถือว่ามาเมืองไทยบ่อยสมควรครับ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามที่เขามาเมืองไทยเพื่อพูดในเรื่องที่เกี่ยวกับ Balanced Scorecard โดยครั้งแรกมาในปี 2003 (เดือนมีนาคมครับ) ตอนนั้นก็มาพูดประมาณครึ่งวันในเรื่องของ Balanced Scorecard ในภาพรวม พออีกปีถัดมา (สิงหาคม 2004) ก็มาอีกรอบครับ คราวนั้นมาภายใต้หัวข้อ ‘The Continuing Journey of The Balanced Scorecard’ ซึ่งในครั้งนั้นก็มาพร้อมกับหนังสือเล่มที่สามของทั้งคู่ (Strategy Map) และพอมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็มาภายใต้หัวข้อ Turning Execution into Competitive Advantage พร้อมกับหนังสือเล่มที่สี่ของทั้งคู่ (Alignment) ผมก็เลยขอถือโอกาสนำพาท่านผู้อ่านมาดูซิว่าในเมืองไทยเองการนำ BSC มาใช้ได้มีพัฒนาการหรือการนำไปใช้กันเพียงใด

            ในประเทศไทยเองความตื่นตัวเรื่อง Balanced Scorecard มีกันมานานมากพอสมควรแล้วครับ เรียกได้ไม่ว่าล้าหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ โดยเริ่มแรกก็เริ่มมีการนำ BSC มาใช้ในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ก่อน จำได้ว่าธนาคารกสิกรไทยเป็นองค์กรเอกชนแห่งแรกๆ ที่จุดพลุหรือประกาศการนำ BSC มาใช้ในองค์กรอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นก็ได้มีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ที่ได้นำ BSC ไปใช้กันจนแพร่หลาย จนกระทั่งในปัจจุบันอาจจะกล่าวได้ว่าองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของเมืองไทยนั้นได้มีการพิจารณาเรื่องของการนำ BSC มาใช้แล้วทั้งสิ้น เพียงแต่บางแห่งอาจจะนำ BSC ไปใช้อย่างเต็มรูปแบบ บางแห่งนำมาปรับใช้ และบางแห่งตัดสินใจที่จะไม่ใช้ ในปัจจุบันองค์กรที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาที่จะนำ BSC ไปใช้ จะเป็นองค์กรธุรกิจขนาดกลางมากขึ้น

            ผมเองได้ติดตามการนำ BSC มาใช้ในองค์กรธุรกิจของไทยมาพอสมควรครับ โดยได้มีการส่งแบบสอบถามไปสำรวจบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในต้นปี 2546 และต้นปี 2548 แล้วก็พบความแตกต่างในการนำ BSC มาใช้พอสมควรครับ ลองดูข้อมูลบางส่วนนะครับ

  • องค์กรที่ไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคยต่อ BSC นั้นในปี 2546 มี 17.5% ปี 2548 มี 6%
  • เคยนำมาใช้แล้วเลิกใช้ไปแล้ว ในปี 2546 มี 0% ปี 2548 มี 1.8%
  • กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาที่จะนำมาใช้ ปี 2546 มี 47.4% ปี 2548 มี 39.28%
  • กำลังใช้อยู่ แต่ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ปี 2546 มี 17.5% ปี 2548 มี 28.9% และ
  • นำ BSC มาใช้จนเห็นผลลัพธ์หรือประสบความสำเร็จแล้ว ปี 2546 มี 8.2% ปี 2548 มี 7.8%

            จากข้อมูลข้างต้นถ้าวิเคราะห์ดีๆ ก็คงพอจะเห็นแนวโน้มในเรื่องของความสนใจของการนำ BSC มาใช้ในองค์กรธุรกิจของไทยนะครับ นั้นคือบริษัทต่างๆ รู้จัก BSC มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้มีองค์กรที่นำ BSC มาใช้แล้วเลิกใช้ องค์กรที่อยู่ระหว่างการศึกษาก็น้อยลง เนื่องจากองค์กรเหล่านั้นได้มีการนำ BSC ไปใช้มากขึ้น ส่วนอัตราความสำเร็จนั้นก็ไม่ได้แตกต่างกันมากในช่วงสองปีที่ผ่านไป

            นอกจากนี้ในแบบสอบถามดังกล่าว (ในปี 2548) ผมได้สอบถามในรายละเอียดของผลลัพธ์ที่ได้จากการนำ BSC ไปใช้ โดยเปรียบเทียบระหว่างองค์กรที่นำ BSC ไปใช้จนประสบผลสำเร็จ กับองค์กรที่กำลังนำไปใช้อยู่แต่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ผลออกมาน่าสนใจมากครับ นั้นคือสำหรับองค์กรที่นำมาใช้จนประสบความสำเร็จแล้ว ผลลัพธ์สำคัญที่ได้จากการนำ BSC มาใช้ขององค์กรเหล่านี้ได้แก่

  • การสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ดีขึ้น
  • เกิดความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร (Alignment)
  • สามารถประเมินตนเองได้ดีขึ้น
  • ทำให้มีเครื่องมือในการเตือนภัยถึงโอกาสและปัญหาในอนาคต
  • ผู้บริหารมีมุมมองที่กว้างและครบถ้วน
  • ผลประกอบการด้านการเงินดีขึ้น
  • ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น
  • ผลการดำเนินงานภายในมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ
  • มีการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบมากขึ้น

            ทีนี้สำหรับองค์กรที่ยังอยู่ในขั้นของการนำ BSC มาใช้แต่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนนั้น ผลลัพธ์สำคัญที่ได้จากการนำ BSC มาใช้สำหรับองค์กรเหล่านี้ ประกอบด้วย

  • การสื่อสารและถ่ายอดทกลยุทธ์ดีขึ้น
  • ความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร
  • ผู้บริหารมีมุมมองที่กว้างและครบถ้วน และ
  • องค์กรประเมินตนเองได้ดีขึ้น

            ท่านผู้อ่านคงเห็นนะครับว่าสำหรับองค์กรที่นำ BSC ไปใช้จนบอกเองว่าเห็นผลลัพธ์หรือประสบความสำเร็จนั้น ผลลัพธ์ที่ได้จะสามารถจับต้องได้และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งในด้านการเงิน ลูกค้า ประสิทธิภาพการทำงาน และ การพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้ยังมีบริษัทหนึ่งของไทยที่นำ BSC มาใช้และประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัล Balanced Scorecard Hall of Fame Award จากสองผู้คิดค้น BSC นั้นคือบริษัท Thai Carbon Black ซึ่งถือเป็นองค์กรแรกของไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าวนะครับ

            ผมเองมีโอกาสพบเจอผู้บริหารหลายๆ ท่านในองค์กรที่ได้นำ BSC มาใช้มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ก็ได้ถามถึงการนำ BSC มาใช้ในปัจจุบัน ท่านเหล่านั้นก็มักจะตอบตรงกันว่าสำหรับองค์กรท่านแล้ว ในปัจจุบัน BSC ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหาร (Management Process) ประจำขององค์กรไปแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ เพราะในการนำ BSC มาใช้นั้นสุดท้ายแล้วควรจะสามารถกลืนเข้ากับระบบการบริหารที่มีอยู่ขององค์กรให้ได้

            สัปดาห์นี้ผมขอนำเสนอเพียงแค่การนำ BSC มาใช้ในภาคธุรกิจของไทยก่อนนะครับ ในสัปดาห์หน้าจะขอนำเสนอประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับการนำ BSC มาใช้ในประเทศไทย ทั้งการนำ BSC มาใช้ในหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งจะขอนำเนื้อหาบางส่วนจากการบรรยายของ Robert Kaplan มานำเสนอด้วยนะครับ