4 May 2006
ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านมีความเห็นต่อตลาดแรงงานในปัจจุบันอย่างไรบ้างครับ? เมื่อเช้าฟังข่าวก็เห็นพูดถึงอัตราการว่างงานที่เริ่มเพิ่มมากขึ้น และเจอลูกศิษย์หลายคนก็ยังว่างงานอยู่ (เป็นพวกที่เลือกงานครับ) แต่ในขณะเดียวกันเวลาไปเจอผู้บริหารองค์กรหลายๆ แห่งกลับเจอภาวะที่คนขาด โดยอยากจะได้คนเข้ามาทำงานมากขึ้น สุดท้ายผมก็เลยไม่แน่ใจเหมือนกันว่าในปัจจุบันภาวะตลาดแรงงานเป็นอย่างไร แต่ก็ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Workforce Crisis เขียนโดย Ken Dychtwald และคณะ ที่เขาได้มีการวิเคราะห์สภาพตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคตไว้อย่างน่าสนใจครับ เลยขอมานำเสนอพร้อมกับข้อมูลอื่นๆ ในสัปดาห์นี้ นะครับ
Peter Drucker ปรมาจารย์ทางด้านการจัดการได้เคยกล่าวไว้ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจัยที่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อสังคมในอนาคตคือการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่เป็นผู้สูงอายุ และการลดลงของประชากรที่เป็นวัยทำงาน Drucker มองไว้เลยครับว่าในอนาคตอีก 25 ปีข้างหน้าคนเราจะทำงานจนอายุเลย 70 ปีขึ้นไป (ถ้าสุขภาพยังไหวนะครับ) เพียงแต่การทำงานของผู้สูงอายุในอนาคตนั้น อาจจะไม่ได้เป็นลักษณะของการทำงานแบบประจำเต็มเวลา (ตั้งแต่เช้ายันเย็น) แต่อาจจะเป็นการทำงานในรูปแบบพิเศษต่างๆ ท่านผู้อ่านลองสังเกตปรากฎการณ์ดังกล่าวนะครับว่าเกิดขึ้นในประเทศไทยบ้างหรือไม่? ผมเองก็สังเกตเห็นจากตัวอย่างรอบๆ ตัวหลายท่านเหมือนกันนะครับ ในอดีตเวลาข้าราชการเกษียณเราก็นึกว่าท่านถึงวัยที่จะต้องพักผ่อน ไปเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน หรือ เข้าวัดเข้าวา แต่ปัจจุบันท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ จะพบว่าผู้ที่เกษียณอายุราชการหลายๆ ดูไม่เหมือนผู้ที่ถึงวัยต้องไปเลี้ยงหลานเลยครับ หลายๆ ท่านยังเหมือนกับเพิ่งอายุ 50 ต้นๆ ที่ยังเต็มไปด้วยพลังงานและทำงานเหมือนเมื่อตอนหนุ่มสาว
ถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่จากข้อมูลต่างๆ ก็พอทำให้เราทราบว่าในอนาคตสังคมของผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญนั้นก็หนีไม่พ้นเรื่องใหญ่ๆ สองประการครับ ประการแรกคืออายุเฉลี่ยของคนเราสูงขึ้น ซึ่งก็สืบเนื่องจากพัฒนาการทางด้านการแพทย์ รวมทั้งการที่เรารู้จักที่จะดูแลตนเองได้ดีขึ้น ข้อมูลจากกรมอนามัยแสดงให้เห็นว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยในปี 2553-2558 จะอยู่ที่ 71.5 ปี (ชาย 69.5 หญิง 73.58) ซึ่งเพิ่มมากกว่าช่วงปี 2533-2538 ที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 68.72 (ชาย 66.48 และหญิง 71.04) ซึ่งภายในช่วงยี่สิบปีอายุเฉลี่ยของคนไทยจะเพิ่มเกือบสามปีทีเดียว และท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่าเป็นอายุเฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศ นอกจากนี้สาเหตุที่สำคัญประการที่สองก็คืออัตราการเพิ่มของประชากรของประเทศไทยอยู่ระดับที่ค่อนข้างต่ำ ข้อมูลจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ แสดงให้เห็นว่าอัตราการเพิ่มของประชากรของไทย (เพิ่มตามธรรมชาตินะครับ) ต่อปีของไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว เราจัดอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายครับ อย่างอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 0.6 เท่ากับสิงค์โปร์ หรือเกาหลีใต้อยู่ที่ร้อยละ 0.5
ท่านผู้อ่านก็คงทราบนะครับว่าการที่ในอนาคตประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งด้านการแข่งขันทางธุรกิจ ที่ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นสินค้าและบริการที่พยายามตอบสนองต่อกลุ่มประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น หรือ ตลาดแรงงาน แต่ปัญหาสำคัญนะครับคือผู้บริหารขององค์กรต่างๆ ได้ตระหนักถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหรือไม่? สิ่งที่ผู้บริหารอาจจะต้องคิดให้มากขึ้นก็คือจะรองรับอย่างไรต่อลักษณะของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือในอนาคตที่ทำงานของเราอาจจะต้องมีจำนวนพนักงานที่มีอายุเกิน 55 ปีขึ้นไปมากขึ้นหรือไม่? นอกจากการเตรียมพร้อมที่จะรองรับต่อคนทำงานที่อายุมากขึ้นแล้ว ผู้บริหารก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับพนักงานในแต่ละกลุ่มอายุด้วยนะครับ เนื่องจากพฤติกรรมและความต้องการของพนักงานในแต่ละกลุ่มอายุที่แตกต่างกัน พวกที่ยังเด็กและเป็นคนรุ่นใหม่ก็อาจจะมีไฟแรงสูงในการทำงาน พวกที่ทำงานมาจนถึงวัยกลางคนก็อาจจะรู้สึกหมดแรงทั้งจากการทำงานและชีวิตครอบครัว ในขณะที่ผู้สูงอายุก็ต้องการให้คนเห็นคุณค่าของตนเอง และยังต้องการทำประโยชน์ให้กับองค์กรอยู่
อย่างไรก็ดีใช่ว่าการขาดคนทำงานในวัยทำงานจะส่งผลต่อทุกอุตสาหกรรมเหมือนๆ กันนะครับ เนื่องจากอุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรมจะจ้างคนทำงานที่มีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน มีหน่วยงานด้านการจ้างงานของต่างประเทศ (Employment Policy Foundation – EPF) เขาคาดการณ์ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย การขาดคนทำงานนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนทำงานที่ต้องอาศัยทักษะหรือความรู้ ความสามารถเฉพาะ มากกว่า ไม่ใช่ขาดคนทำงานที่ปริมาณ ซึ่งก็น่าจะจริงนะครับ เพราะผมเองก็จะเจอผู้บริหารที่ต้องการคนไปทำงานอยู่เยอะพอควร แต่ลักษณะของคนที่ต้องการนั้นก็จะเน้นในเรื่องของความรู้และทักษะด้วย ดังนั้นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในเรื่องของการขาดแคลนจำนวนคนทำงานนั้นไม่น่าจะใช่ที่จำนวนคนทำงาน แต่น่าจะเป็นขาดคนที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชากรสูงอายุมากขึ้น และองค์กรต่างๆ มักจะมองเพียงแค่การหาคนรุ่นใหม่ (ที่มีแนวคิดใหม่ๆ และค่าตอบแทนที่น้อยกว่า) มาทดแทนคนรุ่นเก่า (ที่มีประสบการณ์มากกว่า แต่ค่าตอบแทนสูงกว่า) ทำให้บรรดาโครงการเกษียณก่อนกำหนดทั้งหลายออกมากันอย่างมากมาย ซึ่งในระยะสั้นอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมาก แต่ผู้บริหารต้องเริ่มมองในระยะยาวด้วยนะครับ ว่าจากลักษณะของโครงสร้างประชากรในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรอย่างไรบ้าง?
สัปดาห์นี้ขอเกริ่นไว้เท่านี้ก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อในรายละเอียดว่าองค์กรจะเผชิญกับความท้าทายหรือปัญหาใดบ้างจากลักษณะของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป พร้อมทั้งแนวทางในการรับมือ
ก่อนจบผมขอประชาสัมพันธ์โครงการหนึ่งที่ดำเนินมาทุกปีตลอดสี่ปีที่ผ่านมา นั้นคือทางผมจะให้นิสิต MBA ที่เรียนในวิชาเกี่ยวกับ Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators ได้เข้าไปช่วยเหลือและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ BSC และ KPI ให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ โครงการนี้จะเริ่มประมาณเดือนกรฏาคม ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในช่วงรับสมัครบริษัทที่สนใจครับ ถ้าบริษัทไหนสนใจก็อีเมลมาหาผมได้นะครับ หรือไป download รายละเอียดและใบสมัครได้ที่เว็บของผมนะครับ www.pasuonline.net