26 January 2006
ในวันจันทร์ที่ 6 ก.พ.นี้ จะมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลที่ถือว่าเป็นรอบชิงชนะเลิศ หรือที่รู้จักกันในนามของ Superbowl ซึ่งเป็นครั้งที่ 40 แล้ว ผมเองถือเป็นคนที่ติดอเมริกันฟุตบอลอย่างมากคนหนึ่ง ดูมาติดต่อกันกว่า 30 ปีจนกระทั่งในปัจจุบันก็ยังติดตามดูอยู่อย่างสม่ำเสมอ ก็เคยมีคนถามผมเหมือนกันนะครับว่ากีฬาชนิดนี้สนุกอย่างไรและทำไมถึงมันดูได้อย่างต่อเนื่องมากว่าสามสิบปี ตอนเด็กๆ ก็ดูเพื่อความสนุกและความมันส์ พอโตก็ค้นพบว่ากีฬาชนิดนี้ (รวมทั้งอีกหลายๆ ชนิด) ก็มีส่วนคล้ายกับศาสตร์ทางด้านการบริหารจัดการที่เราชอบและคุ้นเคย
เวลาดูอเมริกันฟุตบอลทีไร (หรือท่านผู้อ่านลองนำไปเปรียบเทียบกับกีฬาที่ท่านชอบก็ได้ครับ) จะพบว่ามีศาสตร์ทางด้านการบริหารจัดการที่สามารถเข้าไปเชื่อมโยงได้ตลอดเวลาในหลายๆ เรื่องและประเด็น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาวะผู้นำ การทำงานเป็นทีม การพัฒนาบุคลากรด้วยการ Coaching การจัดวางคนในตำแหน่งที่เหมาะกับความสามารถ การวางกลยุทธ์ การนำกลยุทธ์หรือแผนไปปฏิบัติ การปรับเปลี่ยนแผนหรือการแก้เกมให้สามารถตอบสนองต่อคู่แข่ง การนำเรื่องของตัวชี้วัดและสถิติเข้ามาใช้ประกอบการตัดสินใจ ฯลฯ
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือถ้าไปศึกษาวิธีการทำงานของบรรดาโค้ชเกมกีฬาต่างๆ จะพบว่าบทบาทของโค้ชเหล่านี้จะมีส่วนคล้ายกับคนที่เป็นผู้บริหารในระดับต่างๆ ภายในองค์กร องค์ประกอบที่สำคัญที่ผู้บริหารระดับสูงต้องมีจะพบในโค้ชกีฬาเหล่านี้ทั้งสิ้น รวมทั้งพวกเทคนิคและแนวทางในการบริหารต่างๆ ที่เราพบในองค์กรธุรกิจทั่วๆ ไป ท่านผู้อ่านจะสังเกตว่าจะเริ่มมีพวกโค้ชกีฬาต่างๆ ออกมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับด้านการบริหารมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของภาวะผู้นำ และการทำงานเป็นทีม ก็พอดีกับที่ผมกำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Winning the NFL Way: Leadership Lessons from Football’s Top Head Coaches ซึ่งเขียนโดย Bob LaMonte ร่วมกับ Robert L. Shook
ดูจากชื่อหนังสือท่านผู้อ่านก็คงทราบนะครับว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนกับการสัมภาษณ์ความเห็นโค้ชทีมอเมริกันฟุตบอลห้าคน และเมื่ออ่านความเห็นเหล่านั้นดีๆ แล้วจะพบว่าแนวคิดหรือวิธีการทำงานของโค้ชเหล่านี้ไม่แตกต่างจากสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรทั่วๆ ไปมุ่งเน้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกดดันที่โค้ชเหล่านี้ได้รับก็ดูเหมือนจะไม่แพ้ผู้ที่เป็น ซีอีโอ ตามบริษัทยักษ์ใหญ่เลย เนื่องจากการเป็นทีมอเมริกันฟุตบอลอาชีพแต่ละทีมนั้นมักจะมีจุดมุ่งหมายที่คล้ายๆ กันนั้นคือได้แชมป์หรือชนะเลิศ Super Bowl ในปีนั้นๆ ทำให้การที่จะบอกว่าในแต่ละปีทีมไหนประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด มีตัวชี้วัดตัวเดียวและค่าเป้าหมายที่ร่วมกัน ในขณะที่มีทีมที่ต้องเข้ามาแข่งขันและห่ำหั่นกันทั้งหมด 32 ทีม ดังนั้นในแต่ละปีโค้ชที่ประสบความสำเร็จสุดยอดจริงๆ จะมีเพียงแค่หนึ่งเดียว ซึ่งความกดดันนี้ก็มากกว่าซีอีโอแล้วครับ เนื่องจากในการบริหารองค์กรนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีผู้ชนะเพียงแค่รายเดียว ในหลายๆ อุตสาหกรรมที่มีองค์กรที่ประสบความสำเร็จได้มากกว่าหนึ่งราย และในการบริหารองค์กรนั้นไม่ได้มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่จะบอกว่าองค์กรไหนประสบความสำเร็จมากกว่ากัน ไม่เหมือนในกีฬา ที่ในแต่ละฤดูกาลจะมีความชัดเจนเลยว่าทีมไหนเป็นสุดยอดของฤดูกาลนั้นๆ
แรงกดดันสำหรับโค้ชแต่ละทีมให้ประสบความสำเร็จหรืออย่างน้อยพาทีมเข้าสู่รองต่อไปได้นั้นมาจากหลายแหล่งครับ ทั้งเจ้าของหรือผู้บริหารทีมที่เป็นคนจ้างโค้ชเข้ามา ซึ่งเปรียบเสมือนกับผู้ถือหุ้นขององค์กรต่างๆ ที่จ้างผู้บริหารระดับสูงเข้ามาบริหาร หรือจากแฟนของทีมนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นชาวเมืองที่ทีมนั้นตั้งอยู่ ซึ่งแรงกดดันตรงนี้จะไม่ค่อยพบในการบริหารองค์กรของซีอีโอ เนื่องจากไม่มีแฟนขาประจำของทีมคอยเชียร์และกดดันอยู่ข้างๆ และที่โหดร้ายก็คือบรรดาโค้ชเหล่านี้จะถูกเลิกจ้างอย่างง่ายดาย บางคนเพิ่งเข้ามาทำทีมเมื่อต้นฤดูกาล แต่พอปลายฤดูกาลผลงานของทีมไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นก็จะถูกยกเลิกสัญญาหรือให้ออก โดยทันที แถมการถูกให้ออกนั้นยังปรากฏเป็นข่าวไปทั่วประเทศ และเผลอๆ ทั่วโลกอีกด้วย เขาเก็บข้อมูลแล้ววิเคราะห์กันว่าโดยเฉลี่ยโค้ชทีมอเมริกันฟุตบอลคนหนึ่งจะอยู่ในตำแหน่งประมาณสองปีครึ่ง อาจจะมีบางคนที่มีข้อยกเว้นที่อยู่กันนานๆ เป็นสิบปี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผลงานของโค้ชคนนั้น รวมทั้งนโยบายของเจ้าของทีมด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าในบรรดาโค้ช 32 คนของอเมริกันฟุตบอลนั้นมีการให้ออกหรือเปลี่ยนโค้ชประมาณ 7 คนต่อไป
นอกจากนี้ที่ตลกอีกประการก็คือฤดูกาลนี้คุณเป็นโค้ชของทีมหนึ่ง พอหมดฤดูถูกให้ออก คุณก็ต้องหางานใหม่ ซึ่งก็หนีไม่พ้นแวดวงกีฬานี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะไปเป็นผู้ช่วยโค้ช หรือ โค้ชทีมบุก หรือ ทีมรับ ของอีกทีม ซึ่งเคยเป็นคู่แข่งกันมาก่อน เหมือนกับว่าถ้าซีอีโอถูกให้ออกจากตำแหน่งเนื่องจากผลประกอบการไม่ดี แทนที่จะไปเป็นซีอีโอที่บริษัทอื่น กลับต้องกลายไปเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ผู้จัดการฝ่าย ที่บริษัทอื่น ลองคิดดูนะครับว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับท่านผู้บริหารธุรกิจต่างๆ จะเป็นอย่างไร ก็ต้องถือว่าอาชีพการเป็นโค้ชกีฬาเป็นสิ่งที่กดดันพอสมควรนะครับ
การจะเป็นโค้ชที่ดีได้นั้นต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญหลายอย่างครับ ในหนังสือที่ผมแนะนำไว้ตอนต้นเขาระบุไว้คล้ายๆ กับคุณลักษณะของซีอีโอที่ดีเลยครับ แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือต้องเป็นครู (Teacher) ที่ดี โดยเขาถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญเลยครับ อดีตผู้เล่นที่เก่งๆ หลายคนไม่สามารถเป็นโค้ชที่ประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากขาดทักษะในการถ่ายทอดหรือขาดความเป็นครูที่ดี ซึ่งถ้ามองในเชิงของการบริหารก็น่าจะคล้ายๆ กันครับ ว่าผู้บริหารที่ดีต้องเป็นครูที่ดีด้วย นั้นคือไม่ใช่เพียงแต่มีหน้าที่บริหารหรือสั่งลูกน้องอย่างเดียว แต่จะต้องรู้จักสอน ให้คำแนะนำต่างๆ แก่ลูกน้องด้วย เพื่อให้ลูกน้องสามารถทำงานตามแผนได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเป็นการพัฒนาลูกน้องด้วย ผมจำได้เคยเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเมื่อหลายปีที่แล้วเรื่อง Teaching Organization ซึ่งเขาเน้นและให้ความสำคัญต่อการสอนมากกว่าการเป็นเพียงแค่ Learning Organization แบบที่ฮิตๆ กันในปัจจุบัน
ขอจบเนื้อหาสัปดาห์นี้ก่อนนะครับ ในสัปดาห์หน้าจะขอนำเรื่องของการบริหารกับกีฬามาพูดคุยกันต่อครับ