31 January 2006

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเกริ่นถึงความเชื่อมโยงและสัมพันธ์ระหว่างกีฬาอเมริกันฟุตบอลหรือที่เราเรียกว่าเป็นกีฬาคนชนคน กับการบริหารจัดการไปบ้างแล้วนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของโค้ชแต่ละทีมที่เปรียบเสมือนเป็นซีอีโอของทีมนั้นๆ แถมถ้าดูดีๆ แล้วแรงกดดันของโค้ชแต่ละคนก็สูงพอๆ หรือมากกว่าซีอีโอด้วยซ้ำ สัปดาห์นี้ผมอยากจะมาท่านผู้อ่านมาดูต่อนะครับว่ากีฬาอย่างอเมริกันฟุตบอลนั้นเวลาดูแล้ว ทำให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านกลยุทธ์ได้อย่างไร จริงๆ แล้วก็ใช่แต่จะเป็นกีฬาชนิดนี้เท่านั้นนะครับ ผมเชื่อว่ากีฬาอีกหลายๆ ชนิดก็ทำให้ผู้เล่นและผู้ชมได้เข้าใจและเห็นในเรื่องของกลยุทธ์ได้มากขึ้น เพียงแต่ตัวผมเองชอบและเป็นแฟนประจำของกีฬาอเมริกันฟุตบอล เลยอาจจะยกกีฬาชนิดนี้มาเปรียบเทียบกับกลยุทธ์ได้ดีกว่ากีฬาชนิดอื่นๆ

            เริ่มที่องค์ประกอบทั้งสามประการที่สำคัญของการบริหารกลยุทธ์เลยครับที่ทุกองค์กรจะต้องมี นั้นคือ การวิเคราะห์ (Strategic Analysis) การวางกลยุทธ์ (Strategic Formulation) และการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ (Strategic Execution) ซึ่งขอไม่อธิบายในรายละเอียดนะครับ แต่จะยกประเด็นให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับอเมริกันฟุตบอลเลยนะครับ เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ทางกลยุทธ์ ก่อนเกมการแข่งขันในแต่ละสัปดาห์บรรดาโค้ชและผู้เล่น ต่างต้องศึกษาเทปบันทึกภาพของคู่แข่งในสัปดาห์ต่อไปอย่างละเอียด เพื่อที่จะได้หาจุดแข็งและจุดอ่อนของคู่แข่งที่จะเจอในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับการวิเคราะห์คู่แข่งขันขององค์กรธุรกิจ เท่านั้นยังไม่พอ จะต้องมีการวิเคราะห์และเตรียมการถึงสนามที่จะไปเล่นและผู้ชมอีกด้วยครับ ถ้าเล่นในบ้านตัวเองก็ไม่เป็นไป แต่ถ้าเล่นในบ้านของคู่แข่งขันก็ต้องเตรียมตัวมากหน่อยครับ โดยจะต้องวิเคราะห์ตั้งแต่ว่าเป็นสนามในร่ม หรือสนามกลางแจ้ง สภาพอากาศของเมืองที่จะไปแข่งขัน สภาพสนามว่าเป็นสนามหญ้าแท้หรือหญ้าเทียม สภาพความกดอากาศว่าเบาบางหรือไม่ (บางเมืองของอเมริกาอยู่บนเขาสูง อากาศจึงบางและลูกจะลอยได้ดีกว่า แถมผู้เล่นเหนื่อยง่ายกว่า) รวมทั้งระดับเสียงของคนดูในสนามที่จะเป็นปัจจัยที่สำคัญ จนเขาเรียกคนดูเหล่านี้ว่าเป็น 12th man หรือเป็นผู้เล่นคนที่ 12 เลยครับ บางทีมนั้นพอรู้ว่าจะต้องไปแข่งในสนามในร่มที่เสียงจะดังและก้องกว่าปกติ เขาก็ต้องซ้อมโดยเปิดลำโพงจำนวนมาก เพื่อให้เลียนแบบสภาพแวดล้อมนั้นด้วย (เนื่องจากในการเล่นแต่ละครั้งจะต้องมีการเรียกและส่งสัญญาณระหว่างผู้เล่นตลอดเวลา)

            ทีนี้หลังจากวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นของการวางแผนหรือการวางกลยุทธ์นั้นเองครับ ท่านผู้อ่านคงพอทราบว่าในทีมอเมริกันฟุตบอลนั้นเขาจะมีสามทีมย่อยๆ ได้แก่ทีมรุก (ทำหน้าที่บุกทำคะแนน) ทีมรับ (ทำหน้าที่ป้องกันไม่ได้คู่แข่งทำคะแนนได้) และทีมพิเศษ (ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเตะทั้งหลาย) ซึ่งแต่ละทีมเขาก็มีโค้ชที่ดูแลอยู่โดยเฉพาะ และก็มีการวางแผนการเล่นในแต่ละสัปดาห์ว่าจะมีแนวทางอย่างไร โดยนำผลจากการวิเคราะห์มาเป็นข้อมูลหลัก ประเด็นที่สำคัญคือคือทีมอเมริกันฟุตบอลแต่ละทีมนั้นเขาก็เหมือนกับจะมีการกำหนด Strategic Positioning หรือตำแหน่งทางการแข่งขันที่ชัดเจนเอาไว้ด้วย และตำแหน่งทางการแข่งขันนั้นก็เป็นที่รับรู้กันในวงการ และมักจะอยู่ติดตัวทีมนั้นเป็นระยะเวลานานด้วย เช่น บางทีมจะเป็นที่รับรู้กันว่ามีการบุกด้วยการขว้างลูกที่ยอดเยี่ยม สามารถทำคะแนนจำนวนมากได้ด้วยเวลาอันรวดเร็ว บางทีมก็มีชื่อด้านการบุกด้วยการวิ่งเป็นหลัก บางทีมมีชื่อด้านทีมรับที่แทนที่จะรับอย่างเดียวกลับทำหน้าที่เป็นทีมรุกภายใต้ทีมรับด้วย ฯลฯ ดูๆ ไปก็เหมือนกับองค์กรธุรกิจต่างๆ ครับที่มีการกำหนดทางการแข่งขันของตนเองอย่างชัดเจน และเป็นที่รับรู้ของคนโดยทั่วๆ ไป

            เวลาทีมพวกนี้วางแผนก็แตกต่างกันไปตามแต่แนวคิดของโค้ชแต่ละคนนะครับ บางคนทำเป็นสคริปเลย นั้นคือการเล่น 15 ครั้งแรก จะเล่นตามสคริปไม่วอกแว่กเลย แต่ส่วนใหญ่แล้วเขาจะมีแผนกว้างๆ ไว้ และค่อยไปปรับเปลี่ยนเมื่อเจอสถานการณ์จริงในสนาม ทีนี้ก็มาถึงตอนสนุกแล้วครับ นั้นคือตอนแข่งจริงๆ ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับการนำแผนที่วางไว้ไปปฏิบัติ (Strategy Execution) ซึ่งคำๆ หนึ่งที่ผมได้ยินบ่อยมากตอนดูกีฬาพวกนี้คือ Execute เหมือนกับหลักการสำคัญทางกลยุทธ์ในปัจจุบันเลย นั้นคือไม่ว่าจะวางแผนมาดีแค่ไหน แต่ผู้เล่นในสนามจะต้องเป็นคนสำคัญในนำแผนที่วางไว้ไปปฏิบัติ ซึ่งในเกมการแข่งขันนั้นก็เหมือนกับการนำหลักเรื่องของ Strategy Execution มาใช้เลยครับ เริ่มตั้งแต่ผู้เล่นทุกคนจะต้องมีความเข้าใจในแผนการเล่นร่วมกัน ทุกคนจะต้องเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองและเล่นตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง บางคนมีหน้าที่ดูแลฝั่งซ้ายก็ต้องระวังฝั่งซ้ายให้ดี อย่าไปหลงกลฝ่ายตรงข้ามแล้ววิ่งไปทางฝั่งขวาแทน

การสื่อสารระหว่างกันระหว่างผู้เล่นแต่ละคนก็สำคัญครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการแข่งขัน พวกนี้พอเล่นกันนานๆ มองตาก็รู้ใจเลยครับว่าจะวิ่งไปรับลูกตรงไหน จะขว้างลูกไปไหน หรือตัวรับลูกบางคนแค่ยกมือขึ้น ผู้ขว้างก็ทราบแล้วว่าควรจะปรับเปลี่ยนแผนและขว้างลูกอย่างไร นอกจากนี้การกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจระหว่างเพื่อนร่วมทีมระหว่างการแข่งขันก็สำคัญ นักกีฬาเหล่านี้เขาจะพูดและสร้างกำลังใจให้กันตลอดครับ เรียกได้ว่าการเล่นอเมริกันฟุตบอลนั้นคือตัวอย่างที่ดีของการทำงานเป็นกลุ่มและทีมเลยครับ จะมีผู้เล่นบางคนทำหน้าที่เป็นผู้นำกลุ่มอยู่เสมอ โดยคนเหล่านี้จะคอยจูงใจ ให้กำลังใจ รวมทั้งตักเตือนเพื่อนร่วมทีมอยู่ตลอดเวลา ใครอยากจะศึกษาเรื่องของการทำงานเป็นทีม ก็ไปดูจากทีมต่างๆ เหล่านี้ได้เลยครับ

ประเด็นสำคัญก็คือระหว่างการเล่น โค้ชเขาจะมีการปรับแผนการเล่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เหมาะสมและสามารถต่อกรกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยระหว่างการเล่นนั้นเขาจะมีโค้ชที่คอยติดตามการเล่นแต่ละครั้ง รวมทั้งมีการถ่ายภาพจากอัฒจันทน์ เพื่อหาข้อบกพร่องในการเล่น เพื่อนำมาแก้ไขและปรับปรุงในระหว่างเกม แถมการเก็บสถิติหรือตัวชี้วัดต่างๆ นั้นก็ทำอยู่ตลอดเวลา และนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจด้วย โดยอเมริกันฟุตบอลนั้นก็เหมือนกับกีฬาอื่นๆ นะครับ ว่าต่อให้ตลอดการแข่งขันทำสถิติในด้านต่างๆ ได้ดีเพียงใด แต่ตัวชี้วัดสุดท้ายที่จะดูก็คือผลแพ้ชนะนั้นเอง คล้ายๆ กับหลายองค์กรธุรกิจนะครับ นั้นคือต่อให้ขายได้มากเพียงใด หรือส่วนแบ่งตลาดเยอะเพียงใด แต่ถ้าสุดท้ายแล้วขาดทุนก็จะไม่เกิดประโยชน์

เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นภาพนะครับว่ากีฬาอเมริกันฟุตบอลมีความเชื่อมโยงกับกลยุทธ์และการบริหารเพียงใด และอย่างที่เรียนในเบื้องต้นแล้วว่า คงไม่ใช่เฉพาะกีฬาชนิดนี้เท่านั้นนะครับ กีฬาชนิดอื่นก็เช่นเดียวกันถ้าเรารู้จักดูให้เป็น ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าความสนุกอย่างเดียวนะครับ