4 January 2006

สัปดาห์นี้ขอนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับกระแสใหม่ๆ ในด้านกลยุทธ์ขึ้นมาเรื่องหนึ่งครับ นั้นคือหน่วยงานที่ดูแลในด้านการบริหารกลยุทธ์ขององค์กร (Office of Strategic Management: OSM) ซึ่งผู้ที่ริเริ่มจุดประกายเรื่องนี้ขึ้นมาคือ Robert Kaplan และ David Norton สองนักวิชาการชาวอเมริกาที่คิดค้นเรื่องของ Balanced Scorecard (BSC) ขึ้นมานั้นเองครับ และในปัจจุบันองค์กรชั้นนำหลายๆ แห่งก็ได้มีการขยับและปรับตัวไปในทิศทางนี้มากขึ้น แม้กระทั่งภาคราชการของไทย ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการหรือ ก.พ.ร. ก็ได้เริ่มคิดและพูดถึงหน่วยงานในลักษณะดังกล่าวในชื่อของ สำนักบริหารยุทธศาสตร์กันบ้างแล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยแล้วนะครับว่าเจ้าหน่วยงานใหม่ที่กำลังพูดถึงนี้คืออะไร มีหน้าที่อะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร?

ที่มาที่ไปของหน่วยงานนี้ก็เกิดจากการที่ Kaplan และ Norton ได้เสนอแนวคิดในเรื่องของ Balanced Scorecard ขึ้นมา พร้อมทั้งได้คอยเฝ้าสังเกตองค์กรที่ได้นำแนวคิดนี้ไปใช้จนประสบความสำเร็จ และพบว่าในองค์กรที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวและทั้งองค์กรมีการมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ (หรือที่เขาเรียกกันว่าเป็น Strategy Focused Organization นั้นเอง) นั้นมักจะมีการจัดตั้งหรือปรับเปลี่ยนบทบาทของหน่วยงานเดิมขึ้นมา เพื่อรับผิดชอบทั้งในด้านการวางกลยุทธ์และการผลักดันกลยุทธ์ให้ประสบความสำเร็จ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกลยุทธ์ ซึ่งภายหลัง Kaplan และ Norton ก็เลยเรียกชื่อหน่วยงานนี้ว่าเป็นหน่วยบริหารกลยุทธ์ (Office of Strategy Management: OSM)

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเริ่มคิดว่าหน่วยบริหารกลยุทธ์ไม่น่าจะแตกต่างจากฝ่ายวางแผนที่มีกันอยู่ทั่วๆ ไปในแต่ละองค์กร แต่ความจริงแล้วแตกต่างกันนะครับ ท่านผู้อ่านลองนึกถึงฝ่ายแผนที่อยู่ในองค์กรของท่านดูก็ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วฝ่ายแผนมักจะมีหน้าที่ในการรวบรวมแผนงานจากฝ่ายต่างๆ เข้าไว้เพื่อจัดทำเป็นแผนของทั้งองค์กร คอยกำกับในเรื่องของการจัดทำงบประมาณ รวมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนต่างๆ (หลายแห่งจะครอบคลุมถึงแผนโครงการด้วย) ซึ่งถ้าพูดตรงๆ แล้วก็พอจะบอกได้ว่าสิ่งที่ฝ่ายแผนทั่วๆ ไปทำนั้นเป็นงานที่มีลักษณะของงานประจำค่อนข้างมาก แต่หน้าที่ของหน่วยบริหารกลยุทธ์จะแตกต่างกันครับ หน่วยบริหารกลยุทธ์จะต้องมีหน้าที่เป็นผู้นำหรือผู้ขับเคลื่อนหลักในการทำให้กลยุทธ์ที่หน่วยงานตั้งไว้ได้มีการนำไปปฏิบัติอย่างแท้จริง

สาเหตุที่อยู่ดีๆ ก็มีความคิดเรื่องหน่วยงานนี้โผล่ขึ้นมานั้นก็คงจะหนีไม่พ้นจากสาเหตุหลักๆ ที่เราเคยคุยกันนะครับ นั้นคือองค์กรต่างๆ ในปัจจุบันมีความสามารถในการกำหนดกลยุทธ์ได้ดี แต่มักจะประสบปัญหาในการนำกลยุทธ์นั้นไปปฏิบัติ หรือ ที่เราเรียกว่า Strategic Execution ซึ่งคิดว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะเห็นด้วยนะครับว่าปัญหาหลักๆ ที่เราพบกันโดยทั่วไปเกี่ยวกับกลยุทธ์นั้น จะเป็นปัญหาในการปฏิบัติมากกว่าปัญหาในการวางแผนและคิด ในองค์กรที่มีลักษณะเป็น Strategy Focused Organization ที่มุ่งเน้นในด้านกลยุทธ์นั้น มักจะพบว่ามีหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ทั้งในการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ขององค์กรให้เป็นที่รับทราบและเข้าใจกันอย่างกว้างขวาง ทำหน้าที่ในการผลักดันให้เกิดการแปลงกลยุทธ์ลงไปสู่แผนปฏิบัติและเชื่อมโยงกับงบประมาณ รวมทั้งกับแผนงานของแต่ละฝ่าย แต่ละแผนก เป็นผู้ผลักดันแผนงานและโครงการหลักๆ ในอันที่จะสนับสนุนต่อกลยุทธ์ขององค์กร รวมทั้งทำหน้าที่ในการเป็นผู้เชื่อมโยงแผนในการพัฒนาคุณลักษณะ (Competencies) ของบุคลากรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ รวมไปถึงการเชื่อมวัตถุประสงค์และแรงจูงใจของพนักงานแต่ละคนเข้ากับวัตถุประสงค์ขององค์กร และประการสุดท้ายกลยุทธ์ขององค์กรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก็หนีไม่พ้นหน้าที่ของหน่วยบริหารกลยุทธ์

 ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่าหน่วยบริหารกลยุทธ์จะต้องทำหน้าที่ข้างต้นทั้งหมดเลยหรือ? จะต้องเรียนว่าคงไม่ใช่นะครับ แต่ต้องทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางขององค์กรในการประสานงานและผลักดันในงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ เพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์ขององค์กรได้มีการนำไปปฏิบัติ ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับไปดูองค์กรของท่านเองนะครับว่าในปัจจุบันที่องค์กรของท่านมีผู้ใดหรือหน่วยงานใดรับผิดชอบในการทำหน้าที่ข้างต้นหรือยัง ถ้ายัง ท่านก็ต้องย้อนกลับไปดูต่อครับว่ากลยุทธ์ขององค์กรท่านได้มีการนำไปปฏิบัติจนสำเร็จหรือยัง ถ้าศึกษาดีๆ เราอาจจะพบความสัมพันธ์ระหว่างการมีบุคคลหรือผู้รับผิดชอบทางด้านการบริหารกลยุทธ์อย่างชัดเจน กับความสำเร็จในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติก็ได้

อีกประเด็นที่น่าสนใจและน่าจะสนับสนุนแนวคิดของหน่วยบริหารกลยุทธ์ได้ดีก็คือ ถ้าเราพิจารณาเปรียบเทียบหน่วยงานหลักๆ ภายในองค์กร กับสาขาวิชาหลักๆ ที่เรียนกันตามสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจโดยเฉพาะในระดับ MBA เราจะพบว่าในทุกสาขาจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่หรือรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาขานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านบัญชี การเงิน การตลาด การบริหารทรัพยากรบุคคล การผลิตและการดำเนินงาน การจัดส่ง วิจัยและพัฒนา หรือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น แต่ทำไมวิชาหลักอย่างเช่นการจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) ซึ่งถือเป็นวิชาหลักและวิชารวบยอดของทุกหลักสูตร MBA กลับไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบขึ้นมาโดยเฉพาะ?

คิดแล้วก็น่าน้อยใจแทนผู้ที่สอนและเรียนมาทางด้านกลยุทธ์นะครับ ท่านผู้อ่านอาจจะมองในทางกลับกันว่าวิชาทางด้านกลยุทธ์นั้นเป็นวิชาสำหรับผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจึงเป็นผู้ที่นำเนื้อหาในวิชานี้ไปใช้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบขึ้นมาโดยตรงก็ได้ ซึ่งในอดีตอาจจะใช่นะครับ แต่ในปัจจุบันท่านผู้อ่านจะเห็นว่าผู้บริหารสูงสุดเกือบทุกท่านไม่ได้ทำหน้าที่ทางด้านบริหารกลยุทธ์เพียงอย่างเดียว เกือบทุกท่านจะหนีไม่พ้นการลงไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของคน จะต้องรับรู้และตัดสินใจทางด้านการเงิน หรือแม้กระทั่งต้องทำหน้าที่คิดกิจกรรมทางด้านการตลาด ดังนั้นเวลาที่ผู้บริหารระดับสูงจะให้กับการคิดและผลักดันกลยุทธ์จึงน้อยลงไปทุกขณะ ทำให้คิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วนะครับที่องค์กรต่างๆ จะเริ่มคิดและให้ความสำคัญต่อหน่วยบริหารกลยุทธ์อย่างจริงจัง

สัปดาห์นี้ขอเกริ่นไว้แค่นี้ก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาต่อในหน้าที่ของหน่วยบริหารกลยุทธ์กันครับ