14 December 2005

สัปดาห์นี้เป็นเรื่องของสุดยอดหนังสือทางการจัดการปี 2548 ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ โดยเป็นการคัดเลือกของวารสาร Strategy + Business โดยเขาได้มีการจัดเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ ด้าน Future, ด้าน Globalization, ด้าน Strategy, ด้าน Management, ด้าน Work and Life, ด้าน Marketing, ด้าน Media, และด้าน Leadership และภายใต้แต่ละด้านก็มีการคัดเลือกสุดยอดหนังสือในด้านนั้นๆ มา ซึ่งในสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอในส่วนของกลยุทธ์และด้านการตลาดไปเรียบร้อย สัปดาห์นี้เรามาเริ่มต้นกันต่อสำหรับหนังสือทางด้านการจัดการกันนะครับ

สำหรับสุดยอดหนังสือด้านการจัดการในปีนี้มีหลายเล่มด้วยกันครับ ได้แก่ เรื่อง Blood on the Street: The Sensational Inside Story of How Wall Street Analysts Duped a Generation of Investors โดย Charles Gasparino เรื่อง Conspiracy of Fools: A True Story โดย Kurt Eichenwald เรื่อง Ponzi’s Scheme: The True Story of a Financial Legend โดย Mitchell Zuckoff เรื่อง Will Your Next Mistake Be Fatal? Avoiding the Chain of Mistakes That Can Destroy Your Organization โดย Robert E. Mittelstaedt Jr. และเรื่อง Winning โดย Jack Welch และ Suzy Welch

หนังสือ Winning โดยอดีตผู้บริหารสูงสุดของ GE อย่าง Welch เป็นหนังสือที่พยายามนำเสนอหลักการและแนวคิดต่างๆ ของ Welch โดยเฉพาะแนวทางที่เขาใช้ในการบริหาร GE หนังสือเล่มนี้ก็ติดอันดับขายดีในเมืองไทยเล่มหนึ่ง และติดอันดับสามของหนังสือขายดีทางด้านบริหารธุรกิจของ Amazon.com ส่วนหนังสือ Will Your Next Mistake Be Fatal? เป็นหนังสือที่อธิบายถึงความผิดพลาดที่สำคัญๆ ทางธุรกิจ โดยผู้เขียนได้ศึกษาความผิดพลาดหรือความล้มเหลวครั้งสำคัญๆ มา 38 ครั้ง พร้อมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะหรือแนวทางเจ็ดประการที่มักจะเป็นขั้นตอนที่นำมาสู่ความล้มเหลวต่างๆ ขั้นตอนทั้งเจ็ดประกอบด้วย

  1. ปัญหาในระยะแรก ซึ่งมักจะเล็กๆ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข
  2. ปัญหาที่ทบกันมาเรื่อยๆ
  3. ความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม
  4. ปัญหาที่ทวีความรุนแรงและมากขึ้นอย่างไม่น่าเป็นไปได้
  5. ความพยายามในการแก้ไขปัญหา โดยยังปิดบังและซ่อนความจริงหรือข้อมูลที่แท้จริงไม่ให้ผู้อื่นทราบ
  6. พบว่าปัญหาเริ่มอยู่เหนือการควบคุม
  7. เป็นความหายนะหรือความล้มเหลว ไม่ว่าจะต่อชีวิตหรือผลการดำเนินงาน

เรามาดูในกลุ่มอื่นๆ กันบ้างนะครับ ในหมวดด้านผู้นำ (Leadership) หนังสือที่ได้รับการยกย่องประกอบด้วย เรื่อง Coach: Lessons on the Game of Life โดย Michael Lewis เรื่อง Joy at Work: A Revolutionary Approach to Fun on the Job โดย Dennis W. Bakke เรื่อง Lessons on Leadership by Terror:Finding Shaka Zulu in the Attic โดย Manfred F.R. Kets de Vries และเรื่อง A Life in Leadership: From D-Day to Ground Zero: An Autobiography โดย John C. Whitehead  ดูรายชื่อแล้วท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกแบบผมนะครับ ที่รายชื่อหนังสือเหล่านี้ดูไม่คุ้นเคยกันเสียเลย ทั้งนี้เนื่องจากทางผู้จัดอันดับนั้นเขามีความรู้สึกว่าในปัจจุบันมีหนังสือทางด้านภาวะผู้นำออกมากันมากมายเหลือเกิน แค่ใน Amazon.com เขาแจ้งว่ามีหนังสือทางด้านภาวะผู้นำอยู่ทั้งสิ้น 16,175 เรื่อง ซึ่งดูเหมือนว่าไม่ควรจะเป็นตัวเลขที่เยอะขนาดนี้ เนื่องจากแนวคิดและทฤษฎีทางด้านภาวะผู้นำไม่ได้มีสิ่งใดที่ใหม่มาก หรือพัฒนามากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ดังนั้นเพื่อหาหนังสือที่ดีเด่นจริงๆ ทางด้านภาวะผู้นำ หนังสือแต่ละเล่มที่เลือกมาจึงถูกคัดสรรมาอย่างละเอียดและพยายามมองในแง่มุมใหม่ๆ ดังนั้นหนังสือเหล่านี้จึงไม่ใช่หนังสือที่ชื่อเป็นที่ติดปากกันเท่าใด หลายๆ เล่มเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของผู้ฝึกสอนเบสบอลของตนเองสมัยเด็กๆ และยกมาเป็นบทเรียนที่ดีในเรื่องของภาวะผู้นำ (หนังสือเรื่อง Coach) หรืออย่างหนังสือ Lessons on Leadership by Terror ที่วิเคราะห์ประวัติศาสตร์สงครามสมัยปี 1816 – 1827 ที่ Shaka Zulu สามารถรวบรวมคนเผ่าของเขาสร้างขึ้นมาเป็นอาณาจักรได้สำเร็จ และเป็นผู้นำที่โหดเหี้ยมมาก ฆ่าคนวันละมากมายได้อย่างง่ายดาย โดยหนังสือเล่มนี้พยายามชี้ให้เห็นว่าคนทุกคนมีความเป็น Shaka Zulu อยู่ในตัว และนั้นคือสาเหตุที่ทำไมหลายๆ คนถึงมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวในที่ทำงาน

ในขณะที่หนังสือด้านผู้นำอีกเล่ม (Joy at Work) พยายามมองในอีกด้าน นั้นคือไม่ต้องการผู้นำที่โหดเหี้ยมเหมือน Shaka แต่ผู้นำควรจะต้องทำให้การทำงานเป็นเรื่องสนุก (ไม่ใช่เลี้ยงขนมทุกมื้อนะครับ) โดยการให้อิสระแก่พนักงานในการใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ในอันที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและสังคม ที่บริษัทของผู้เขียนเขาโยนทิ้งหมดเลยพวก Job Description โครงสร้างองค์กร หรือแม้กระทั่งฝ่ายบุคคล และให้อิสระแก่พนักงานทุกคนในการเรียนรู้ เติบโต และนำเสนอสิ่งที่ดีให้กับองค์กร

จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายด้านนะครับ แต่ขอไม่นำเสนอ ณ ที่นี้ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจลองไปหาอ่านได้ครับ หรือถ้าอยากจะดูอีกแหล่งก็ไปที่ Amazon.com ได้ครับ เขามีการจัดลำดับสุดยอดหนังสือทางด้านการบริหารไว้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยจัดแยกเป็นสองกลุ่ม คือ Editor’s Pick หรือที่กองบรรณาธิการได้เลือกไว้ว่าเป็นสุดยอดหนังสือปีนี้ และ Customer’s Choice หรือพิจารณาจากยอดขาย (มูลค่าที่ลูกค้าซื้อ) ซึ่งเมื่อนำรายชื่อต่างๆ มาเปรียบเทียบกันแล้วก็ไม่ต่างกันครับ อย่างไรก็ดีผมยังรู้สึกว่าปีนี้หนังสือทางด้านการจัดการไม่ค่อยเปรี้ยงปร้างหรือน่าสนใจเท่าใด จะต้องรอปีหน้าครับว่าจะมีอะไรใหม่บ้าง เท่าที่ทราบตอนนี้ก็มีจ่อคิวอยู่หลายเล่มเหมือนกันครับ เช่น หนังสือเล่มใหม่ของ Kaplan กับ Norton ต้นตำหรับ Balanced Scorecard ก็คงต้องรอดูกันต่อไปนะครับว่าตลาดหนังสือด้านการบริหารในปีหน้าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากหนังสือเหล่านี้มีอิทธิพลและผลกระทบต่อแนวคิดทางด้านการบริหารจัดการกันพอสมควร