10 June 2007
ช่วงนี้เป็นช่วงของการนำเสนอแนวทางในการนำเสนอเครื่องมือทางการจัดการใหม่ๆ ที่ใช้อยู่ในองค์กรมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของตัวเราเองครับ เนื่องจากในปัจจุบันองค์กรประเภทต่างๆ มีการนำเครื่องมือทางการจัดการใหม่ๆ มาใช้กันอย่างต่อเนื่อง ผมก็เลยเกิดข้อสงสัยว่าเราสามารถนำเอาแนวคิดของเครื่องมือทางการจัดการใหม่ๆ เหล่านั้นมาปรับใช้กับชีวิตส่วนตัวเราได้หรือไม่? โดยในสัปดาห์ที่แล้วผมเริ่มต้นจากเครื่องมือพื้นฐานก่อนเลยครับ นั้นคือการวิเคราะห์ SWOT และกำหนดวิสัยทัศน์ ซึ่งท่านผู้อ่านก็คงเห็นแล้วนะครับว่าสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตของเราได้ นั้นคือเริ่มจากการวิเคราะห์ SWOT ของตัวท่านเอง จากนั้นก็กำหนดวิสัยทัศน์หรือสิ่งที่ท่านอยากจะหรือต้องการเป็นในอนาคต
เมื่อเราวิเคราะห์ SWOT และกำหนดวิสัยทัศน์เรียบร้อยแล้วก็ถึงขั้นของการกำหนดกลยุทธ์ครับ เนื่องจากความหมายของกลยุทธ์ในทางธุรกิจหรือการบริหารนั้น ก็แปลได้หลายความหมาย ดังนั้นเมื่อนำกลยุทธ์มาใช้กับตัวเองแล้ว เราก็สามารถมองได้ในหลายมุมมองเช่นเดียวกันครับ
มุมมองแรกคือมองว่ากลยุทธ์คือสิ่งที่จะทำเพื่อนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ ซึ่งแนวคิดนี้เห็นภาพชัดเจนดีครับ ประเด็นสำคัญคือท่านผู้อ่านอย่าลืมตั้งหรือกำหนดวิสัยทัศน์ของตัวท่านเองให้เหมาะสมด้วยนะครับ ท่านผู้อ่านลองนึกภาพตัวท่านเองนะครับว่าในสามถึงห้าปีข้างหน้า ท่านอยากจะเป็นอะไร หรือ อยากจะเห็นตัวเองยืนอยู่ ณ จุดไหน? เช่น บางท่านต้องการก้าวขึ้นไปในหน้าที่การงานให้มากกว่านี้ หรือ บางท่านต้องการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว หรือ บางท่านต้องการศึกษาต่อ หรือ บางท่านอาจจะต้องการเกษียณตัวเองจากการทำงานและทำในสิ่งที่ตนเองชอบ หรือ บางท่านต้องการใช้ชีวิตสงบกับครอบครัวในต่างจังหวัด ฯลฯ ไม่ว่าวิสัยทัศน์หรือสิ่งที่ท่านอยากจะเป็น จะเป็นสิ่งใดก็แล้วแต่ ประเด็นสำคัญอะไรคือกลยุทธ์หรือสิ่งที่ท่านจะทำเพื่อนำไปสู่ความฝันนั้น เชื่อว่าทุกท่านที่ตั้งความฝันไว้ย่อมจะมีแนวทางปฏิบัติหรือ How to เพื่อบรรลุความฝันนั้น เพียงแต่ในอดีตอาจจะไม่ได้เขียนหรือทำให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
เจ้า How to หรือ แนวทางในการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความฝันเหล่านั้นแหละครับคือกลยุทธ์ที่ท่านผู้อ่านจะใช้เพื่อนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์หรือความฝันของตัวท่านเอง กลยุทธ์ในลักษณะนี้ก็เป็นแนวทางหนึ่งนะครับ แต่กลยุทธ์เองยังมีความหมายได้อีกหลายมุมมองครับ เช่น ในทางธุรกิจนั้นเราอาจจะมองว่ากลยุทธ์ คือการตอบโจทย์ถึงแนวทางในการเติบโตขององค์กร ว่าจะเติบโตในธุรกิจเดิม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม หรือ ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม ซึ่งเป็นการมองถึงขอบเขตหรือกรอบในการแข่งขันของเรา (Where to compete?) ก็ถือเป็นการคิดเชิงกลยุทธ์อย่างหนึ่งเช่นกัน
ซึ่งแนวคิดในด้านของ Where to compete? ก็สามารถนำปรับใช้กับตัวเราได้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองตัวเองว่า ตนเองจะสร้างความชำนาญหรือเชี่ยวชาญในด้านไหนบ้าง ผมขออนุญาติยกตัวอย่างตัวเองนะครับ ผมสอนและเขียนหนังสือทางด้านกลยุทธ์มาตั้งแต่เริ่มเป็นอาจารย์ โดยอาจจะขยายไปครอบคลุมหรือเกี่ยวข้องในศาสตร์ที่ใกล้เคียงกันบ้าง เช่น การตลาด การบริหารทรัพยากรบุคคล การบริหารความเสี่ยง ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้ขยายสิ่งที่ตนเองมุ่งเน้นออกไปสู่สิ่งที่ไม่สัมพันธ์กับสิ่งที่ตนเองทำอยู่ เช่น ไม่เขียนเรื่องการเมือง หรือ ต่างประเทศ หรือ เรื่องทางศาสนา เป็นต้น ดังนั้นท่านผู้อ่านก็ลองมองตัวเองดูนะครับว่าจะตอบคำถามว่า Where to compete? อย่างไร จะสร้างความเชี่ยวชาญหรือชำนาญในด้านอื่นๆ นอกจากที่ทำอยู่ในปัจจุบันหรือไม่
นอกเหนือจาก Where to compete? แล้ว ก็มักจะมีอีกคำถามหนึ่งตามมาครับ นั้นคือ How to compete? หรือ จะแข่งขันอย่างไร หรือ จะวางตำแหน่งของตนเองอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายตาของบุคคลรอบข้างที่เกี่ยวข้อง สมมติว่าท่านตัดสินใจจะสร้างความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที โดยรับเป็น Freelance แล้ว คำถามสำคัญของท่านคือ ท่านจะวางตำแหน่งของตัวท่านเองอย่างไรครับ? เป็นประเภทรับงานมั่วไปหมด ไม่เกี่ยงราคา โดยขอให้มีรายได้เข้ามา หรือ วางตำแหน่งตนเองว่าเลือกงาน ทำงานช้า แต่มีคุณภาพ โดยกำหนดราคาที่สูงกว่าคนอื่นเขา ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเถียงผมอยู่ก็ได้นะครับว่าบางครั้งก็เลือกไม่ได้ หรือ ไม่สามารถกำหนดตำแหน่ง (Positioning) ที่ตนเองต้องการได้ เนื่องจากไม่มีทางเลือก แต่จริงๆ แล้วผมเห็นว่าถ้าเราวางแผนดีๆ นั้นการวางตำแหน่งของตนเองก็ทำได้ครับ เพียงแต่กิจกรรมที่ทำ ความสามารถของเรา หรือรายละเอียดต่างๆ ก็ต้องสนับสนุนต่อตำแหน่งที่เราวางด้วย
พอท่านกำหนดกลยุทธ์ให้กับตัวท่านเองแล้ว ท่านก็ลองสานต่อด้วยการเขียนแผนที่กลยุทธ์ (Strategy Map) ตามแนวทางของ Balanced Scorecard ดูซิครับ โดยแปลงกลยุทธ์ต่างๆ ให้ออกมาอยู่ในรูปของวัตถุประสงค์ต่างๆ มีตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย รวมทั้งแผนงาน โครงการที่จะทำเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย เมื่อเสร็จเรียบร้อยท่านผู้อ่านก็จะมีทั้งวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ แผนที่กลยุทธ์ ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย แผนงาน โครงการของท่านเสร็จสรรพครับ และที่สำคัญคืออย่าลืมปฎิบัติตามที่เขียนไว้ด้วยนะครับ รวมทั้งมีการมาทบทวนสิ่งที่ได้เขียนไว้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่เขียนไว้ล้วนแล้วแต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทั้งสิ้นครับ