8 February 2006
ผมจำได้ว่าเคยนำเสนอเรื่องความสำคัญของนวัตกรรม และนวัตกรรมทางการจัดการผ่านทางผู้จัดการรายสัปดาห์ไปหลายครั้ง และจากที่สังเกตดูในปัจจุบันหลายๆ องค์กรชั้นนำของเมืองไทยก็ได้ให้ความสำคัญและตื่นตัวกับในเรื่องของนวัตกรรมกันเป็นอย่างมาก ยักษ์ใหญ่อย่างเครือซิเมนต์ไทยถึงกับประกาศเป็นนโยบายที่สำคัญโดยทีมผู้บริหารชุดใหม่ในการให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ถึงขั้นมีการประกวดและมอบรางวัลให้กับทีมชนะเลิศเป็นตัวเลขจำนวนมากอยู่ เวลาเราพูดถึงนวัตกรรมส่วนใหญ่เราก็มักจะนึกถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการทำงาน แต่เรามักจะไม่ค่อยได้นึกถึงนวัตกรรมทางการจัดการ (Management Innovation) กันเท่าใด เนื่องจากนวัตกรรมทางการจัดการอาจจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากกว่านวัตกรรมทั่วๆ ไป และตัวอย่างของนวัตกรรทางการจัดการก็ไม่ค่อยได้พบเห็นทั่วไปเช่นนวัตกรรมในด้านอื่นๆ
อย่างไรก็ดีในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2549 นี้ Gary Hamel ซึ่งถึงเป็นกูรูทางด้านกลยุทธ์ผู้หนึ่งได้เขียนบทความเรื่องชื่อ The Why, What, and How of Management Innovation ซึ่งในบทความดังกล่าว Hamel พยายามนำเสนอถึงแนวคิด ความจำเป็น และความสำคัญ ของนวัตกรรมทางการจัดการ โดย Hamel พยายามตอกย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมทางการจัดการว่ามีความสำคัญต่อการนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ ไม่แพ้นวัตกรรมด้านอื่นๆ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าในรอบร้อยปีที่ผ่านมา นวัตกรรมทางการจัดการเป็นปัจจัยที่สำคัญที่นำพาองค์กรหลายแห่งสู่ความสำเร็จมากกว่านวัตกรรมในด้านอื่น อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญก็คือองค์กรต่างๆ ขาดระบบหรือกระบวนการในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมทางการจัดการ Hamel ระบุไว้ว่านวัตกรรมทางการจัดการ หรือ Management Innovation หมายถึง แนวทางคิดในด้านการบริหารจัดการที่แตกต่างจากการบริหารจัดการปกติ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการบริหารจัดการขององค์กร หรือถ้าให้ง่ายเข้า ก็คือสิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการบริหารจัดการขององค์กร ในขณะที่นวัตกรรมในด้านอื่นๆ เน้นการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ กระบวนการในการทำงานทั่วๆ ไป นวัตกรรมทางการจัดการเน้นปรับปรุงกระบวนการในการบริหารจัดการภายในองค์กร (Management Process)
ในบทความดังกล่าว Gary Hamel ได้ยกตัวอย่างขององค์กรชั้นนำที่มีนวัตกรรมทางการจัดการ และประสบความสำเร็จอันได้แก่ GE, DuPont, P&G, Visa, และ Linux โดยนวัตกรรมทางการจัดการของ GE ได้แก่การนำระบบการบริหารที่มีความเป็นระบบและชัดเจนเข้ามาทำให้เกิดความเป็นระบบเรียบสำหรับ GE ที่ในอดีตอุดมไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งเน้นแต่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนขาดระเบียบในการบริหาร หรือ ของ DuPont ก็เป็นการนำเอาหลักการของ Return on Investment (ROI) มาใช้เป็นแห่งแรก จนกระทั่งสามารถหาตัวชี้วัดทางการเงินที่สามารถใช้ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กร หรือ P&G ที่เป็นผู้บุกเบิกเรื่องของการบริหารแบรนด์ขึ้นมาใช้เป็นแห่งแรก หรือ Visa ที่เป็นองค์กรแรกๆ ที่มีลักษณะเป็น Virtual Organization อย่างแท้จริง หรือ Linux ที่พัฒนาซอฟแวร์โดยการอาศัยโปรแกรมเมอร์จากทั่วโลกให้เข้ามามีส่วนร่วม หรือที่เรียกว่า Open Source Development
ตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างขององค์กรในต่างประเทศนะครับที่เขาถือว่ามีนวัตกรรมทางการจัดการ ผมว่าถ้าย้อนกลับมามองในประเทศไทยถ้าเราได้ศึกษาอย่างละเอียดก็น่าจะพบว่ามีบริษัทหลายแห่งที่ถือว่ามีนวัตกรรมทางการจัดการนะครับ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเครือซิเมนต์ไทย เครือสหพัฒน์ หรือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็น่าจะมีนวัตกรรมทางการจัดการของตนเอง ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการลอกเลียนของที่มีอยู่แล้วหรือของต่างประเทศ และลองดูนะครับว่าในองค์กรที่มีนวัตกรรมทางการจัดการจะทำให้เกิดการพัฒนาองค์กร หรือนำไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่? Gary Hamel ระบุไว้ในบทความของเขาว่าไม่ได้หมายความว่านวัตกรรมทางการจัดการทุกประเภทจะนำไปสู่ความสำเร็จหรือการได้เปรียบทางการแข่งขันนะครับ อาจจะมีนวัตกรรมทางการจัดการอีกหลายประเภทที่ไม่นำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรมุ่งเน้นในการทำให้เกิดนวัตกรรมทางการจัดการนะครับ Hamel ระบุไว้ในบทความเขาว่านวัตกรรมเป็นเรื่องของจำนวนครับ นั้นคือยิ่งทำให้มีนวัตกรรมมาก โอกาสประสบความสำเร็จก็จะยิ่งมากขึ้น เนื่องจากการที่มีจำนวนนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้โอกาสที่นวัตกรรมใดนวัตกรรมหนึ่งจะประสบความสำเร็จมีมากกว่านวัตกรรมที่มีจำนวนน้อย
Hamel เขาได้ร่วมกับอาจารย์จาก London Business School สำรวจว่าในรอบร้อยปีตั้งแต่ 1900 จนกระทั่งถึง 2000 มีนวัตกรรมทางการจัดการที่สำคัญอะไรบ้าง โดยได้รวบรวมบรรดานวัตกรรมทางการจัดการทั้งหมดได้ 175 เรื่อง และจากทั้งหมดได้คัดสรรให้เหลือเพียงแค่ 12 เรื่อง โดยใช้เกณฑ์สามประการได้แก่ นวัตกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกต่างจากแนวทางในการบริหารจัดการแบบเดิมหรือไม่? ก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันแก่บริษัทที่คิดและนำมาใช้ก่อนหรือไม่? และ ยังพบการใช้อยู่ในองค์กรปัจจุบันหรือไม่? จากเกณฑ์ทั้งสามข้อ ทำให้ได้สิ่งที่ Hamel เรียกว่าเป็นนวัตกรรมทางการจัดการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารในยุคปัจจุบัน อันประกอบไปด้วย
- Scientific Management (Time and motion studies)
- Cost accounting and variance analysis
- The Commercial Research Laboratory (the industrialization of science)
- ROI Analysis and capital budgeting
- Brand Management
- Large-Scale Project Management
- Divisionalization
- Leadership Development
- Industry Consortia (multicompany collaborative structure)
- Radical Decentralization (Self-Organization)
- Formalized Strategic Analysis
- Employee-Driven Problem Solving
จากทั้ง 12 ข้อข้างต้นผมเองก็ไม่คุ้นกับหลายๆ ชื่อนะครับ อาจจะเป็นชื่อที่ไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลายก็ได้ ท่านผู้อ่านลองดูแล้วกันนะครับว่าเห็นด้วยกับ Hamel เขาหรือไม่? ก็ต้องระลึกไว้นิดหนึ่งนะครับว่า Gary Hamel เขาเป็นนักคิดด้านกลยุทธ์ที่เน้นในเรื่องของนวัตกรรมทางกลยุทธ์มาหลายปีแล้ว ดังนั้นหลายสิ่งหลายอย่างที่เขามุ่งเน้นก็อาจจะเป็นแนวคิดที่ใหม่หรือมุ่งเน้นในเรื่องนวัตกรรมพอสมควรนะครับ ผมจำได้เคยอ่านบทความของเขาเรื่องนวัตกรรมทางกลยุทธ์ Strategic Innovation ก็เน้นในเรื่องการทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ทางกลยุทธ์ มาคราวนี้เป็นนวัตกรรมทางการจัดการ ไม่แน่นะครับอีกสองสามปีอาจจะเป็นนวัตกรรมในเรื่องอื่นๆ อีกก็ได้ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจอ่านฉบับเต็มก็ลองหาอ่านจาก Harvard Business Review ฉบับเดือนนี้ได้นะครับ