27 May 2007
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้เริ่มต้นไว้ด้วยเรื่องของทางตันของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านเคยประสบกันมา โดยในช่วงเวลาดังกล่าวภาวะทางจิตใจเราจะรู้สึกหดหู่ ทำงานใดๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งถึงทางตันที่หาทางออกไม่เจอ ซึ่งเป็นช่วงที่แต่ละคนจะรู้สึกแย่หรือตกต่ำที่สุด อย่างไรก็ดีถ้ามองโลกในอีกแง่มุมหนึ่งเราจะพบว่าการถึงทางตันนั้นกลับกลายเป็นจุดพลิกผันที่นำไปสู่ความสำเร็จของเราในขั้นต่อไปได้นะครับ เพียงแต่เราจะต้องเรียนรู้ มีกำลังใจ พร้อมจะเปิดใจให้กว้าง และแสวงหาโอกาสหรือแนวทางใหม่ๆ
เจ้าทางตันที่ว่านั้นอาจจะเกิดขึ้นในหลายๆ สถานการณ์ครับ ทั้งชีวิตส่วนตัว เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การเรียนหนังสือ หรือ ในการทำงาน ในช่วงนี้ก็เชื่อว่ามีหลายท่านที่เริ่มเข้าสู่ภาวะดังกล่าวเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้หลายองค์กรต้องลดหรือปลดจำนวนพนักงาน ในขณะที่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามาใหม่ๆ หลายคนก็ยังไม่ได้งานตามที่ตนเองอยากได้ เชื่อว่าในช่วงแรกบุคคลต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะมีความรู้สึกที่หดหู่ ขาดกำลังใจ มองหาทางออกไม่เจอครับ เพียงแต่ถ้าสามารถก้าวข้ามหรือก้าวผ่านทางตันนี้ไปได้ โอกาสพลิกผันหรือโอกาสก้าวหน้าก็ย่อมจะกลับมาอีกครั้งครับ
ในต่างประเทศเองเขาก็ได้มีการศึกษาเรื่องพวกนี้กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลยนะครับ มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Getting Unstuck เขียนโดย Timothy Butler ที่อธิบายถึงแนวทางในการก้าวข้ามทางตันที่เกิดขึ้นในจิตใจเราครับ โดยในหนังสือเล่มดังกล่าวเขาได้แนะนำขั้นตอนในการเผชิญหน้าและการก้าวข้ามทางตันไว้ทั้งหมดหกขั้นตอนครับ เราลองมาดูกันนะครับว่ามีอะไรบ้าง
ขั้นแรกเป็นช่วงที่เริ่มประสบกับปัญหาหรือวิกฤตครับ ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มประสบปัญหาครับ เช่น สมัครงานเท่าไร ก็ไม่ได้งานซะที หรือ ถูกปลดออกจากบริษัทแล้วยังไม่สามารถหางานใหม่ได้ เมื่อเราประสบกับขั้นนี้ก็มักจะดื้อหรือมุมานะในการทำสิ่งเดิมต่อไปเรื่อยๆ เช่น พอสมัครงานไม่ได้ หรือ ไม่มีที่ไหนเรียก ก็ยังดิ้นรนส่งใบสมัครไปเรื่อยๆ ได้เห็นบัณฑิตบางคนส่งไปตั้ง 6-70 แห่งก็มีครับ
ขั้นที่สองเป็นช่วงที่วิกฤตเริ่มลุกลามและลึกขึ้นเรื่อยๆ ครับ เราเริ่มพบว่าวิธีการเดิมๆ ที่ใช้หรือพยายามอยู่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใด ในขั้นนี้ที่เราจะเริ่มถึงทางตันอย่างชัดเจนแล้วครับ และสิ่งที่มักจะตามมาคือการวิจารณ์ตัวเองครับ ความมั่นใจในตัวเองหรือความเชื่อมั่นที่มีอยู่เริ่มหดหายไป เช่น ความมั่นใจที่สร้างขึ้นมาสมัยการเรียนหนังสือจนกระทั่งได้เกรดดีๆ และปริญญาระดับสูง ก็เริ่มหดหายไป หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยกับตัวเองเหมือนกันว่าจะเรียนหนังสือดีๆ หรือ สูงๆ ไปเพื่ออะไร หรือ บางคนก็เริ่มกลับมาคิดว่าจริงๆ แล้วตัวเองอาจจะเป็นคนไม่เอาไหนก็ได้ ความท้อแท้ ความหดหู่ ความรู้สึกว่าหาทางออกให้กับสิ่งต่างๆ ไม่ได้ก็มักจะเป็นเอามาในช่วงนี้ครับ ที่นี้ความท้าทายก็คือท่านผู้อ่านจะต้องก้าวข้ามขั้นที่สองไปสู่ขั้นที่สามให้ได้ครับ เนื่องจากถ้ามัวแต่วนเวียนอยู่แต่ในขั้นที่สอง ก็จะกลายเป็นคนหดหู่ ท้อแท้ และสิ้นหวังไปเลย และสุดท้ายก็จะหาทางออกให้กับชีวิตไม่เจอครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ดังนั้นท่านผู้อ่านที่เข้าสู่ขั้นที่สอง ต้องพยายามก้าวสู่ขั้นที่สามให้ได้นะครับ
ขั้นที่สามเป็นขั้นที่เริ่มตระหนักว่าวิธีการหรือสิ่งเดิมๆ ที่คิดและทำอยู่นั้นไม่ได้ผลครับ เราเริ่มเปิดหู เปิดตา มองหาประสบการณ์หรือทางเลือกใหม่ๆ จากขั้นที่สามก็ต่อเนื่องมายังขั้นที่สี่เลยครับ ซึ่งจะต่อเนื่องกันอย่างใกล้ชิด โดยในขั้นที่สี่นั้นเป็นขั้นของการรับรู้ต่อข้อมูลใหม่ๆ และทำให้เราเริ่มมีกรอบความคิดหรือวิธีการคิดแบบใหม่ๆ มากขึ้น
ขั้นที่ห้าเป็นขั้นของการย้อนกลับมาสำรวจพิจารณาตัวเองมากขึ้น ทำให้เราเริ่มมีทัศนคติหรือมุมมองใหม่ๆ ต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะยิ่งประสบการณ์มากขึ้น จะยิ่งทำให้เรามีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น ในขั้นนี้เราจะเริ่มรู้มากขึ้นว่าสิ่งใดที่เราทำแล้วมีความสุข สิ่งที่ใดที่ทำแล้วมีความหมายต่อเรา นอกจากนี้ยังทำให้เรารู้ว่าในสถานการณ์หรือสภาพการณ์แบบใดที่เหมาะสมกับเราที่สุด เรียกได้ว่าในขั้นนี้เป็นขั้นของการย้อนกลับมาพิจารณาตัวเองเป็นสำคัญครับ และผลจากการพิจารณาตัวเอง ก็ทำให้เราทราบว่าควรจะ หรือ ต้องทำอะไร เพื่อก้าวข้ามทางตันในชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่ได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วในขั้นที่ห้านั้นก็เป็นเหมือนกับนำหลักในเรื่องของการจูงใจเข้ามาใช้ครับ
ขั้นสุดท้ายหรือขั้นที่หก เป็นขั้นของการนำสิ่งที่คิดจะทำหรือวางแผนไว้ ไปปฏิบัติจริงๆ ครับ จากการที่เราเผชิญกับทางตัน และทำให้เราย้อนกลับมาพิจารณาตัวเอง พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสหรือทางเลือกใหม่ๆ จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยครับ ถ้าสิ่งใหม่ๆ ที่มองหรือแสวงหานั้นจะไม่ได้รับการนำไปสู่การปฏิบัติจริงๆ เช่น ถ้าหางานทำไม่ได้ เราอาจจะย้อนกลับมาพิจารณาสิ่งที่ตนเองชอบและอยากจะทำ และแทนที่จะไปทำงานเป็นลูกจ้างผู้อื่น เราอาจจะเริ่มทำกิจการของตัวเองในสิ่งที่ตัวเองถนัดแทน ซึ่งกระบวนการคิดนั้นจะจบลงที่ขั้นที่ห้า แต่จะเห็นผลได้อย่างชัดเจนจริงๆ ก็ต่อเมื่อมีการนำไปปฏิบัติในขั้นที่หกครับ
เนื้อหาในสองสัปดาห์นี้อาจจะจับต้องได้ลำบากนะครับ แต่ข้อความสำคัญที่อยากจะสื่อถึงท่านผู้อ่านทุกท่านคือเมื่อเผชิญวิกฤตหรือสิ่งที่คิดว่าเป็นทางตันแห่งชีวิตแล้ว อาจจะเป็นโอกาสที่ดีให้กับท่านในการพิจารณาตัวเองและหาทางเลือกและโอกาสใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็จะเข้าสู่ปรากฎการณ์ที่เราเรียกว่า “พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” ได้นะครับ