27 July 2007
ท่านผู้อ่านเคยมีประสบการณ์ที่ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างสิ่งที่ “ควร” กับ สิ่งที่ “อยาก” หรือไม่ครับ? ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เมื่อตอนกลางวันท่านผู้อ่าน “อยาก” จะทานข้าวเหนียวมะม่วงใส่ไอศรีมกะทิเป็นของหวานมาก แต่ในขณะเดียวกันท่านผู้อ่านก็กำลังอยู่ในช่วงของการลดน้ำหนัก ดังนั้นท่านผู้อ่านก็ทราบว่า “ควร” จะเลือกผลไม้เป็นของหวานมากกว่า หรือ ท่านผู้อ่านเห็นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่ท่านผู้อ่าน “อยาก” จะได้มาก แต่ในขณะเดียวกันท่านผู้อ่านก็ทราบว่า “ควร” จะประหยัดเงินไว้ เนื่องจากมือถือเครื่องเก่าก็ยังใช้ได้ดีอยู่ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านเกือบทุกท่านคงจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกตัดสินใจระหว่างความ “อยาก” กับสิ่งที่ “ควร” อยู่เป็นประจำ ไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วท่านผู้อ่านเลือกในสิ่งใดครับ สิ่งที่ “อยาก” หรือ สิ่งที่ “ควร”?
ถ้าเรานำเรื่องของการตัดสินใจระหว่างความ “อยาก” กับสิ่งที่ “ควร” มาพิจารณาอย่างละเอียดแล้วเราจะพบว่าสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์เลยนะครับ แม้กระทั่งเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ผู้ที่ออกไปชุมนุมประท้วง พร้อมทั้งทำลายข้าวของ ขว้างปาไม้หรืออิฐใส่เจ้าหน้าที่นั้น อาจจะถูกอิทธิพลของความ “อยาก” ที่จะแสดงออก ระบายโทสะ หรือ “อยาก” ได้ในบางอย่าง ครอบงำ จนกระทั่งลืมนึกไปว่า สิ่งที่เรา “ควร” ทำในปัจจุบัน คือการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ควร” จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวต่างชาติ
แม้กระทั่งผมก็นึกถึงเด็กๆ ที่เรียนหนังสืออยู่ ซึ่งในช่วงนี้จะเป็นช่วงของการสอบกลางภาคเป็นส่วนใหญ่ เด็กบางคนจะไม่ยอมดูหนังสือ ไม่สนใจที่จะท่องตำรา หรือ อ่านทบทวน เพราะความ “อยาก” ที่จะเล่นเกมส์ ดูทีวี อ่านการ์ตูนหรือ คุยกับเพื่อน ทั้งๆ ที่สิ่งที่เด็ก “ควร” จะทำในช่วงนี้คือการดูหนังสือเตรียมตัวสอบ
ทีนี้ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่าถ้าท่านผู้อ่านต้องเผชิญกับการตัดสินใจระหว่างความ “อยาก” กับสิ่งที่ “ควร” นั้น ในสถานการณ์ไหน ท่านจะเลือกสิ่งใด? มีงานวิจัยของนักวิชาการหลายท่านจากมหาวิทยาลัย Harvard (Katy Milkman, Todd Roers, Max Bazerman) ที่ได้ทำการวิจัยในการตัดสินใจเลือกของคนระหว่างความ “อยาก” กับสิ่งที่ “ควร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าหรือการเช่าหนัง และได้ข้อสรุปออกมาว่า คนเราทุกคนนั้นจะมีความต้องการที่แตกต่างกันสองประการอยู่ในตัวเรา และความต้องการที่แตกต่างกันทั้งสองประการนั้นก็มีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา โดยเป็นความต้องการตามความ “อยาก” กับความต้องการตามสิ่งที่ “ควร”
ถ้าคนเราถูกครอบงำด้วยความ “อยาก” นั้น สิ่งที่เราจะทำมักจะเป็นเพื่อการตอบสนองต่อความพอใจหรือความต้องการในระยะสั้น เช่น การซื้อของเมื่อเห็นป้ายลดราคา (ทราบว่าคุณผู้หญิงบางท่านจะแพ้ต่อป้ายลดราคา เนื่องจากถูกความ “อยาก” ครอบงำ) หรือ การกินของอร่อยแต่อ้วน ในขณะเดียวกันถ้าเราถูกครอบงำด้วยสิ่งที่ “ควร” นั้น เราจะคิดและประพฤติเพื่อประโยชน์ในระยะยาวทั้งของตัวเราเองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ถ้ารู้ว่าเราเป็นโรคแพ้ต่อป้ายลดราคา สิ่งที่เรา “ควร” ทำคือไม่ไปเดินตามห้างสรรพสินค้าในช่วงลดราคา หรือ “ควร” กินของที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าของที่อร่อยแต่เพียงอย่างเดียว ท่านผู้อ่านลองสังเกตตัวท่านเองนะครับว่าในสถานการณ์ใดบ้างที่ท่านถูกครอบงำด้วยความต้องการประเภทไหน หรือ ส่วนใหญ่แล้วท่านจะปฏิบัติตามความ “อยาก” หรือสิ่งที่ “ควร”
จริงๆ แล้วเราจะเลือกทางไหนขึ้นอยู่กับตัวเราเองเป็นสำคัญครับ ค่านิยมและทัศนคติของท่านผู้อ่านนั้นจะมุ่งเน้นต่อความ “อยาก” เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความพอใจในระยะสั้น หรือ ทำในสิ่งที่ “ควร” เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
ผลจากการวิจัย โดยดูจากพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าของคนนั้น เราจะพบเลยครับว่าถ้าผลของการตัดสินใจนั้นจะส่งผลกระทบในระยะยาว นั้นขึ้นไม่เกิดผลในปัจจุบันหรือทันที เรามักจะเลือกในสิ่งที่ “ควร” ในงานวิจัยนั้นเขามีการศึกษาต่อพฤติกรรมการซื้อของผ่านระบบ online (Online Grocery Shopping) ที่ในต่างประเทศนั้นเขาสามารถสั่งซื้อได้ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตแล้วกำหนดให้มาส่งเมื่อใดที่เราต้องการ และพบว่าถ้าสั่งซื้อของและกำหนดให้มาส่งในอนาคตไกลๆ เช่น อีกห้าวันนับแต่สั่งซื้อ ผู้บริโภคจะสั่งซื้อสินค้าหรืออาหารที่มีประโยชน์มากกว่าพวกที่สั่งซื้อแล้วต้องการให้มาส่งในระยะเวลาอันใกล้ เช่น วันรุ่งขึ้น
นอกจากนี้การทดสอบในลักษณะเดียวกันกับการเช่า DVD ก็แสดงผลเหมือนกันครับ โดยเขาศึกษาและพบว่าถ้าคนเช่า DVD ที่มีสาระเช่นสารคดีต่างๆ พร้อมกับพวกหนังสนุกๆ นั้น จะพบว่าหนังสนุกๆ จะเป็นสิ่งที่ถูกส่งคืนกลับมาที่ร้านเช่า DVD ก่อน ส่วนสารคดีนั้นจะถูกเก็บหรือดองไว้นานกว่า แสดงว่าในระยะสั้นเราจะเลือกดูสิ่งที่ “อยาก” หรือ สนุก มากกว่าสิ่งที่ “ควร” หรือ เป็นประโยชน์
ผลการศึกษาในส่วนนี้ก็น่าสนใจนะครับ และเชื่อว่าท่านผู้อ่านน่าจะนำเนื้อหาในสัปดาห์นี้ไปใช้ประโยชน์ได้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจระหว่างสิ่งที่ “ควร” และความ “อยาก” อย่างน้อยเวลาท่านผู้อ่านตัดสินใจทำอะไรซะอย่างก็โปรดลองไตร่ตรองก่อนนะครับว่าเป็นสิ่งที่ “ควร” หรือ เพื่อสนองต่อความ “อยาก”