25 March 2007

สัปดาห์นี้ผมขอมาแปลกหน่อยนะครับ จะไม่ขอนำเสนอพวกแนวคิดทางการจัดการต่างๆ เหมือนเคย แต่อยากจะเล่าประสบการณ์ของหนึ่งสัปดาห์ในฟิจิให้ฟัง เผื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศบ้างนะครับ แต่รับรองว่าไม่ได้เปลี่ยนคอลัมภ์นี้เป็นสารคดีนำเที่ยวนะครับ

เริ่มจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้มีโอกาสไปสอนหนังสือที่ประเทศฟิจิครับ ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องของ Balanced Scorecard ครับ ซึ่งในประเทศไทยเองเรื่องนี้องค์กรต่างๆ ได้นำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย (จนบางแห่งก็เลิกใช้ไปแล้ว) แต่องค์กรภาครัฐและเอกชนของประเทศฟิจิเขากำลังเริ่มให้ความสนใจต่อเครื่องมือนี้ ซึ่งในการไปสอนหนังสือครั้งนี้ทาง APO (Asian Productivity Organization) เขาเป็นผู้ติดต่อและดูแลจัดการให้

ตอนแรกบอกคนรอบข้างว่าจะไปประเทศฟิจิ หลายๆ คนก็สงสัยว่าอยู่ที่ไหน ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นประเทศที่เป็นหมู่เกาะในทะเลแปซิฟิกตอนใต้ (South Pacific) โดยอยู่เหนือจากนิวซีแลนด์ขึ้นไปหน่อย คนรอบข้างค่อยเริ่มถึงบางอ้อครับ จำได้ว่าตอนโทรศัพท์ไปติดต่อบริษัทผู้ให้บริการมือถือที่ใช้อยู่ เรื่องการทำ Roaming ไปที่ฟิจิ ทางเจ้าหน้าที่บริษัทเขายังเถียงกับผมเลยว่าไม่ใช่ประเทศแต่เป็นเพียงแค่หมู่เกาะเท่านั้น  

จริงๆ แล้วฟิจิเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจมากเหมือนกันนะครับ โดยเป็นประเทศที่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของชาวตะวันตกทั้งหลาย (โดยเฉพาะชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) เนื่องจากเป็นประเทศที่เป็นเกาะแก่งเต็มไปหมดและมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ที่น่าสนใจคือฟิจิมีหลายๆ อย่างที่คล้ายเมืองไทยเหมือนกันนะครับ ทั้งภูมิอากาศ สถานที่ท่องเที่ยวชายทะเล และผู้คนของเขาครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัธยาศัยที่เป็นมิตร และเป็นคนที่ค่อนข้างง่ายๆ สบายๆ นอกจากนี้ที่คล้ายกันอีกอย่างก็คือประเทศเขาเพิ่งผ่านการปฎิวัติมาเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา โดยก็คล้ายๆ กับเมืองไทยที่ประชาชนเขาก็สนับสนุนการปฏิวัติในครั้งนี้เช่นเดียวกันครับ

ชาวฟิจิเองก็น่าสนใจครับ โดยเป็นประเทศที่มีการผสมผสานของชนชาติได้อย่างกลมกลืนดีครับ โดยมีชาวพื้นเมือง (ชาวฟิจิ) เป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่อีกกลุ่มที่มีเยอะมากคือชาวอินเดีย เนื่องจากเมื่อก่อนฟิจิเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และที่ฟิจิปลูกอ้อยเยอะมาก ก็เลยขนชาวอินเดียมาเป็นคนงานไร่อ้อย จนกระทั่งในปัจจุบันที่ฟิจิมีชาวอินเดียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ดูเหมือนว่าเขาจะอยู่กันได้อย่างกลมกลืนกันดีครับ นอกจากนี้เนื่องจากฟิจิเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน ทำให้ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาที่สองของฟิจิ และชาวฟิจิทุกคน (แม้กระทั่งคนขับแท็กซี่) ก็สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี

มาดูเรื่องธุรกิจและเศรษฐกิจของเขาบ้างดีกว่าครับ ถามชาวฟิจิแล้วเขาบอกว่าตั้งแต่ช่วงปฏิวัติแล้ว ภาวะเศรษฐกิจก็ซบเซาลง แถมช่วงนี้จะมีข่าวเรื่องข้าราชการของเขาจะประท้วงหยุดงาน (ที่โน่นข้าราชการเขามีสหภาพด้วยครับ) ซึ่งข่าวล่าสุดก็ดูเหมือนรัฐบาลเขาก็ใจแข็งนะครับ เห็นบอกว่าถ้าประท้วงก็จะให้ออกให้หมด ดูเหมือนจะไม่ง้อข้าราชการเลย

สำหรับธุรกิจหลักของเขานั้นก็หนีไม่พ้นเรื่องการท่องเที่ยวครับ โดยเฉพาะตามเกาะต่างๆ (อันนี้อ่านข้อมูลเอานะครับ) มีโรงแรมและรีสอร์ตหรูๆ รวมทั้งเรือสำราญชั้นเลิศเปิดให้บริการพอสมควร สินค้าของฟิจิก็คล้ายๆ ของไทยครับ เป็นพวกหัตถกรรมต่างๆ ของชาวพื้นเมือง และที่เชิดหน้าชูตาคือผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากมะพร้าวครับ ซึ่งมีทั้งสบู่ แชมพู ครีมใส่ผม สารพัดชนิดที่ผลิตจากน้ำมันมะพร้าว ซึ่งก็สงสัยเหมือนกันนะครับว่าเมืองไทยก็ปลูกมะพร้าวเยอะ แต่ทำไม่เราถึงไม่ได้จับพวกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวมาแปรรูปอย่างจริงจัง เหมือนในฟิจิที่ไปที่ไหนก็เห็นแต่ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเต็มไปหมด

นอกจากนี้ที่ขึ้นชื่ออีกอย่างคือน้ำดื่มครับ คนที่นั้นเขาเล่าให้ฟังว่าในอดีตถือว่าน้ำดื่มจากฟิจิเป็นน้ำที่บริสุทธิ์มาก ดื่มแล้วจะดีต่อสุขภาพ แต่ที่น่าเสียดายคือในช่วงหลังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่เข้าไปจดลิขสิทธิ์คำว่า “Fiji Water” และกลายเป็นชื่อยี่ห้อตราสินค้าของเขาไปเลย ซึ่งก็สงสัยเหมือนกันนะครับว่าชื่อแบบนี้สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ด้วย?

คนที่โน่นเขาก็สนใจเรื่อง Balanced Scorecard ดีเหมือนกันนะครับ ได้มีโอกาสไปสอนหนังสือที่โน่นอยู่สี่วัน สองรุ่นครับ รุ่นแรกเปิดทั่วไป (หน่วยงานที่จัดคือ TPAF ย่อมาจาก Training and Productivity Authority of Fiji) ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือหน่วยงานที่มาเข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับหน่วยงานของไทยครับ ที่มีทั้งไฟฟ้า ตำรวจ การเคหะ หน่วยจัดการจราจร ฯลฯ สำหรับรุ่นที่สองก็เป็นบริษัท Investment Firm ชั้นนำแห่งหนึ่งของเขา ซึ่งก็น่าสนใจอีกเช่นกัน เนื่องจากบริษัทนี้มีบริษัทลูกอยู่ในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมมาก และต้องการนำ BSC มาใช้ในการแข่งขัน

ในความเห็นส่วนตัวแล้วมองว่าฟิจิมีสองบุคลิกภาพครับ มองจากภายนอก ก็ดูเหมือนต่างจังหวัดบ้านเรา (แม้ในเมืองหลวง) ชาวฟิจิก็ดูง่ายๆ สบายๆ เป็นมิตร ไม่เร่งรีบหรือรีบร้อนจะไปแข่งขันกับใคร แต่ในขณะเดียวกันความเจริญและพัฒนาการในทุกอย่างที่ควรจะมีก็มี เช่น ในโรงแรมที่ผมพักก็สามารถต่อ Wireless Internet หรือ ผู้เข้าอบรมของผมส่วนใหญ่ก็เห็นเขาใช้ Backberry เช็คอีเมลกันอยู่เป็นประจำ ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีครับ