22 April 2007

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เขียนถึงคนกลุ่มหนึ่งในองค์กรที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่าพวก Jerks หรือ ถ้าเป็นภาษาไทยก็เป็นพวกตัวป่วน ผู้ที่น่ารังเกียจ หรือ บุคคลที่ไม่เจริญ โดยคนเหล่านี้จะมีพฤติกรรมที่สร้างความท้อแท้ หดหู่ เสียกำลังใจ รู้สึกถูกดูถูก ฯลฯ โดยคนเหล่านี้จะชอบพูดจาหรือมีพฤติกรรมที่ดูถูกผู้อื่น การข่มขู่ผู้อื่น การนำข้อด้อยของผู้อื่นมาล้อเลียน การขัดจังหวะอย่างขาดมารยาท ฯลฯ ซึ่งเราจะพบคนกลุ่มนี้ได้ในองค์กรทั่วๆ ไป โดยเฉพาะบางครั้งคนเหล่านี้ก็ต้องกลายมาเป็นเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาของเรา ซึ่งจริงๆ แล้วผลกระทบจากคนกลุ่มนี้มีมากแบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อนนะครับ นั้นคือ ทั้งทำให้ผู้อยู่ขาดกำลังใจหรือความกระตือรือร้นในการทำงาน นำไปสู่อัตราการลาออกที่สูง ทำให้ชื่อเสียงองค์กรเสียหาย และไม่สามารถดึงดูดคนเก่งและคนดีเข้ามาทำงานได้

คำถามที่ฝากท่านผู้อ่านไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็คือถ้าองค์กรของท่านมีคนประเภทนี้อยู่ ท่านจะทำอย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบุคคลเหล่านี้เป็นดาวดวงเด่น หรือ มีฝีมือการทำงานที่เป็นเลิศ หรือ ถ้าให้พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าพนักงานคนหนึ่งของท่านเป็นคนทำงานที่เก่ง แต่มีนิสัยที่ไม่ดี และทำให้คนรอบข้างรังเกียจหรือไม่อยากจะทำงานด้วย ท่านจะทำอย่างไร? ท่านผู้อ่านจะเลือกรักษาคนเหล่านี้ไว้เนื่องจากความเก่งในการทำงาน หรือ เข้าไปตักเตือนบุคคลเหล่านี้และเสี่ยงกับการทำให้คนประเภทนี้ไม่พอใจ หรือ ปล่อยคนเหล่านี้ไป?

สิ่งที่พบในองค์กรบางแห่งในต่างประเทศคือเขาจะหาทางป้องกันไม่ให้มีคนเหล่านี้ปรากฎขึ้นในองค์กรแทนที่จะมาแก้ไขภายหลังครับ มีอยู่องค์กรหนึ่ง (ชื่อบริษัท SuccessFactors ซึ่งเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วบริษัทหนึ่ง) เขียนเป็นเหมือนกับปัจจัยแห่งความสำเร็จขององค์กรไว้เลยครับ ความสำเร็จที่ผ่านมาขององค์กรนั้นเกิดขึ้นจากการ ‘employing no jerks’ โดยที่บริษัทนี้ เขาได้เขียนเป็นแนวทางในการปฏิบัติสิบสี่ข้อสำหรับพนักงานเข้าใหม่ทุกคนไว้ครับ โดยแนวปฏิบัติทั้งสิบสี่ข้อนั้นเหมือนกับเป็นข้อตกลงที่พนักงานเข้าใหม่ทุกคนเขาทำไว้กับบริษัท โดยข้อตกลงข้อสุดท้ายเขียนไว้อย่างชัดเจนเลยครับว่า ‘I will be a good person to work with, not be a jerk’ นั้นคือ “ฉันจะเป็นคนดีที่น่าทำงานด้วย และไม่เป็นตัวป่วนหรือบุคคลที่น่ารังเกียจในที่ทำงาน” เรียกได้ว่าบริษัทนี้เขาพยายามหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้าเลยนะครับ เพื่อไม่ให้มี jerks มานั่งทำงานที่บริษัทเขา

Robert Sutton ที่เขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับการจัดการกับพวก Jerks เหล่านี้ไว้เยอะ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ในองค์กรนั้นเราไม่ควรแยกผลการทำงาน (Performance) กับ พฤติกรรมต่อผู้อื่น (Treatment of others) จากกัน มิฉะนั้นผลที่จะเกิดขึ้นก็คือจะมีพวก Brilliant Jerk หรือพวกที่ทำงานเก่งแต่ชอบสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านปรากฎขึ้นในบริษัท และดังที่ได้ระบุไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว คนกลุ่มนี้สร้างความเสียหายให้กับองค์กรโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นเวลาจะประเมินบุคลากรในบริษัทก็ควรจะดูทั้งในเรื่องของผลงานและพฤติกรรมไปควบคู่กัน ถ้าพบว่าบุคลากรเริ่มมีปัญหาด้านพฤติกรรม และเริ่มทำตัวเป็น Jerks บุคคลผู้นั้นก็ควรได้รับการตักเตือน และให้โอกาสในการปรับปรุงพฤติกรรม แต่ถ้ายังไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมที่ก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่นได้ ผู้บริหารก็ต้องรีบตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

ประเด็นสำคัญสำหรับผู้บริหารทุกแห่งก็คือต้องทำตามที่พูดด้วยครับ เนื่องจากองค์กรหลายแห่งอาจจะมีนโยบายพวกนี้ไว้ แต่ถึงเวลาจริงๆ Jerks พวกนี้ก็ยังลอยนวลอยู่ได้ เนื่องจากผู้บริหารยังเสียดายฝีมือของคนเหล่านี้ ซึ่งก็ทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆ สูญเสียความศักดิ์สิทธิ์ไป

มีบริษัทอยู่แห่งหนึ่งชื่อ Plante & Moran ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดของวารสาร Fortune ติดต่อกันมาเก้าปี ที่บริษัทแห่งนี้เขาได้ตั้งเป้าหมายการทำงานของบริษัทไว้ว่าเป็น ‘jerk-free’ ครับ และที่สำคัญก็คือถ้าพนักงานคนใดเริ่มทำตัวน่ารังเกียจหรือก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น พนักงานผู้นั้นก็จะได้รับการตักเตือนและจัดการอย่างจริงจัง มิฉะนั้นกฎหรือเป้าหมายที่เขียนไว้ก็ไม่มีประโยชน์ และถ้าคนเหล่านี้ยังอยู่ในบริษัทได้อย่างรุ่งเรือง ผลที่ตามมาก็คือ จะทำให้มี Jerks มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทุกคนรู้สึกว่าทำตัวแบบนั้นแล้ว ไม่เห็นมีใครว่าอะไร แถมยังทำให้เป็นที่เกรงกลัวของบุคคลรอบข้าง ท่านผู้อ่านอาจจะลองสังเกตดูนะครับ จะพบว่าการเป็น Jerks นั้นถือเป็นโรคติดต่อเหมือนกันนะครับ นั้นคือถ้าใครคนหนึ่งเป็นแล้ว มักจะทำให้คนรอบข้างเป็นตามไปด้วย ดังนั้นต้องอย่าลืมตัดไฟตั้งแต่ต้นลมนะครับ

ท่านผู้อ่านอาจจะต้องเริ่มในการคัดกรองบุคคลเหล่านี้ตั้งแต่การคัดเลือกเข้าทำงานเลยนะครับ บริษัทหลายแห่งเขาจะมีนโยบายการจ้างคน โดยดูจากทัศนคติเป็นหลัก เช่น กรณีของ Southwest Airlines ที่ผู้สมัครคนหนึ่งพูดจาไม่ดีกับพนักงานต้อนรับ ผลปรากฎว่าผู้สมัครคนนั้นไม่ต้องเสียเวลาสัมภาษณ์เลยครับ

จริงๆ เรื่อง Jerks นี้ยังมองได้ในอีกมุมหนึ่งนะครับ สมมติท่านเป็นพนักงานสมัครเข้าไปทำงานในองค์กรแห่งหนึ่ง แล้วท่านพบว่าบุคคลในองค์กรดังกล่าวเป็นพวก Jerks ท่านจะเลือกเข้าไปทำงานที่องค์กรแห่งนี้หรือไม่? เชื่อว่าถ้าท่านผู้อ่านมีโอกาสก็คงไม่เลือกนะครับ