8 April 2007

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอในเรื่องของสังคมแห่งความสุขไว้ โดยพยายามนำเสนอว่าการที่ประชาชนในประเทศจะมีความสุขได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง ซึ่งปัจจัยประการแรกที่นำเสนอไว้ก็คือ ผู้บริหารประเทศ (ไม่ว่าชุดไหนๆ) อาจจะต้องเริ่มต้นจากการตั้งวัตถุประสงค์ (หรือเป้าประสงค์ตามที่หน่วยราชการชอบเรียกกัน) สูงสุดของการบริหารปกครองประเทศ คือเพื่อให้ประชาชนมีความสุขก่อน ถ้าทุกคนตั้งเป้าหมายร่วมกันในลักษณะนี้ได้ ก็ถือว่าเริ่มเดินทางสู่การทำให้ประเทศ สังคม และประชาชนมีความสุขแล้วครับ สัปดาห์นี้เรามาพิจารณากันต่อนะครับว่ามีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่ส่งผลต่อความสุขของประชาชน

ปัจจัยอีกประการที่จะทำให้คนมีความสุขก็คือความรู้สึกที่เราสามารถเชื่อใจและไว้วางใจผู้อื่นและบุคคลรอบข้างได้ครับ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นปัจจัยแห่งความสุขในระดับประเทศเลยนะครับ แม้กระทั่งในครอบครัว ในทีมงาน หรือในองค์กรของเราเอง ถ้าเรามีความรู้สึกที่สามารถเชื่อใจและไว้วางใจผู้อื่นได้ เราก็จะมีความสุขในครอบครัว หรือในที่ทำงานมากขึ้น และถ้าท่านอยู่ในสังคมหรือประเทศที่ท่านสามารถเชื่อใจและไว้วางใจผู้อื่นได้ ท่านก็จะมีความสุขมากขึ้น นึกตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ครับ ท่านลองถามตัวท่านเองดูซิครับว่าเวลาท่านขึ้นรถแท็กซี่ โดยเฉพาะกลางคืนดึกๆ และขึ้นคนเดียวนั้น ท่านมีความรู้สึกไว้ใจคนขับเพียงใด? และในทางกลับกันถ้ามองในมุมมองของผู้ขับแท็กซี่ ถ้าเขาต้องรับผู้โดยสารในตอนกลางคืนในสถานที่เปลี่ยวๆ เขาเองจะมีความรู้สึกไว้วางใจผู้โดยสารเพียงใด? เห็นไหมครับ ถ้าเราเริ่มจากการที่ไม่สามารถไว้วางใจได้แล้ว เราก็เริ่มที่จะไม่มีความสุขแล้วครับ

คำถามคือทำอย่างไรให้คนในสังคมรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจกันและกันครับ? ซึ่งสำหรับผมแล้วถือเป็นคำถามที่ยากจะตอบได้เหมือนกันนะครับ แต่เชื่อว่าอาจจะต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานด้านการศึกษาเลยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกฝังในด้านศีลธรรมและจริยธรรมเข้าไปมา

นอกเหนือจากความไว้วางใจในสังคมแล้ว ความไว้วางใจในองค์กรก็เช่นเดียวกันนะครับ ถ้าท่านเป็นผู้บริหารและอยากจะให้บุคลากรในองค์กรมีความสุขในการทำงาน ท่านก็อาจจะต้องเริ่มต้นจากการทำให้บุคลากรไว้ใจ เชื่อใจ ทั้งตัวท่านและองค์กร เชื่อว่าคนทำงานทุกคนคงไม่อยากจะเห็นองค์กรที่จะต้องลดคนอยู่ตลอดเวลา หรือ ปรับโครงสร้างอยู่ตลอดเวลา หรือ นโยบายที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หรือ ผู้บริหารที่ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากถ้าเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอแล้ว บุคลากรในองค์กรจะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างไร? เขาจะไม่มีความมั่นใจในอนาคตการทำงานของตนเองเลย และก็ไม่ไว้ใจต่อการกระทำใดๆ ของผู้บริหารอีกด้วย ดังนั้นท่านผู้บริหารทั้งหลายที่อยากจะให้บุคลากรของตนเองมีความสุขก็ควรจะต้องเริ่มต้นจากการทำให้บุคลากรในองค์กรเกิดความไว้วางใจในตัวท่านและตัวองค์กรก่อนนะครับ

นอกเหนือจากการที่เราสามารถไว้ใจผู้อื่นได้ จะเป็นหนทางสู่ความสุขแล้ว คนเราแต่ละคนก็ต้องการได้รับการความไว้วางใจและความเคารพจากผู้อื่นเช่นเดียวกันครับ ถ้าเรามีอิสระในการทำงานในระดับหนึ่ง และสามารถทำให้ผลการทำงานออกมาดีได้ เราก็ย่อมได้รับความไว้วางใจและความเชื่อถือในการทำงาน ดังนั้นแนวทางในการจูงใจบุคลากรแนวทางหนึ่งก็คือให้อิสระในการทำงานแก่บุคลากรในระดับที่สมควร เพื่อให้เขาสามารถทำงานได้สำเร็จ เพื่อให้เกิดความเชื่อถือและไว้วางใจจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงานครับ

นอกเหนือจากเรื่องของความไว้วางใจแล้ว เรื่องของความมั่นคงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับที่ทำให้คนมีความสุขได้ครับ ถ้าของที่เคยได้รับแล้วเราต้องสูญเสียไป จะทำให้เราเป็นทุกข์มากกว่าความสุขที่เราจะได้รับจากการได้รับของใหม่เพิ่มขึ้น ท่านผู้อ่านลองนึกภาพตนเองดูก็ได้นะครับว่าถ้าท่านต้องสูญเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ 1,000 บาท ท่านจะรู้สึกเป็นทุกข์ไหม? และถ้าท่านอยู่ดีๆ ได้รับเงินมาฟรีๆ 1,000 บาท ท่านจะมีความสุขเพียงใด? และถ้านำความทุกข์และความสุขทั้งสองประการมาเปรียบเทียบกันแล้ว ท่านก็จะพบว่าความทุกข์จากการสูญเสียนั้นมากกว่าความสุขที่ได้จากการได้รับ และมีงานวิจัยออกมายืนยันแล้วครับว่าเจ้าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสองเท่าของความสุขเลยครับ

ตัวอย่างของหลักการข้างต้นพบเห็นได้ทั่วไปในองค์กรเอกชนที่นำเรื่องของผลการดำเนินงานไปผูกกับแรงจูงใจครับ เคยพบบางองค์กรที่นำไปผูกกับการขึ้นเงินเดือนครับ ซึ่งพอดีที่บริษัทนี้เงินเดือนของพนักงานเขาขึ้นทุกปีอยู่แล้วตามค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่พอบริษัทมีนโยบายนำผลการดำเนินงานมาผูกกับการขึ้นเงินเดือนปุ๊บ บุคลากรก็พยายามบิดระบบการบริหารผลการดำเนินงานทันที เนื่องจากของที่เคยได้เป็นประจำหรือเป็นปกติอยู่แล้วจะต้องสูญเสียไปครับ ทำให้เกิดความทุกข์มากขึ้น ดังนั้นท่านผู้บริหารทั้งหลายก็ต้องระวังและระลึกไว้เสมอนะครับ ว่าคนเราจะมีความสุขกับสิ่งที่มั่นคง หรือ สิ่งที่ตนเองคุ้นเคย

พอถึงจุดนี้ก็มีประเด็นเหมือนกันนะครับว่าถ้าคนเราจะมีความสุขกับสิ่งที่คุ้นเคยแล้ว ก็แสดงว่าคนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในสังคมหรือโลกยุคปัจจุบันการที่จะไม่เปลี่ยนนั้นคงจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วผู้บริหารทั้งหลายจะทำอย่างไร? เนื่องจากถ้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาบุคลากรหรือประชาชนก็จะไม่มีความสุข แต่ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง ก็สู้ผู้อื่นเขาไม่ได้? จริงๆ แล้วผมคิดว่ามันไม่ได้ตายตัวเสมอไปนะครับ ประเด็นสำคัญคือบุคลากรเห็นประโยชน์หรือความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงนั้นหรือเปล่า? และประโยชน์หรือความจำเป็นที่เกิดขึ้นมันมากกว่าความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นหรือไม่?

ดังนั้นก็เลยไม่แปลกใจนะครับว่าทำไมในบรรดาตำราด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายจะระบุว่า จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงอะไรก็แล้วแต่ จะต้องเริ่มต้นจากสาเหตุหรือความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง มิฉะนั้นบุคลากรจะไม่ร่วมด้วย ซึ่งก็ไม่แปลกครับ เนื่องจากถ้าเปลี่ยนแปลงมากและไม่เห็นประโยชน์หรือความจำเป็นนั้น คนก็จะไม่มีความสุขนั้นเอง