13 May 2007

เนื้อหาในสัปดาห์นี้คงจะเป็นตอนสุดท้ายของเรื่อง Fair Process ซึ่งผมนำมาจากแนวคิดในเรื่องของ Blue Ocean Strategy นะครับ สรุปโดยง่ายๆ ก็คือปัญหาหนึ่งที่ทำให้องค์กรไม่สามารถนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติอย่างได้ผลเกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการในการได้มาซึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้บุคลากรในองค์กรไม่เกิดความไว้ใจ เชื่อถือ หรือ ยอมที่จะทุ่มเททุ่มใจทำตามกลยุทธ์ ซึ่งก็ได้มีข้อแนะนำไว้ว่าให้นำหลัก 3 E เข้ามาช่วยในการแก้ไขครับ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมนำเสนอ E สองตัวแรกไปแล้วนะครับ นั้นคือ Engagement และ Explanation สัปดาห์นี้เรามาดู E ตัวสุดท้ายกัน พร้อมทั้งรายละเอียดเพิ่มเติมครับ

            E ตัวสุดท้าย ในสาม E ที่จะทำให้กระบวนการในการวางแผนกลยุทธ์เป็น Fair Process และทำให้สามารถซื้อใจบุคลากรในองค์กรจนทำงานเกินความคาดหวังก็คือ Expectation Clarity ครับ หรือถ้าแปลเป็นไทยก็คือมีความชัดเจนในเรื่องของความคาดหวังครับ นั้นคือภายหลังจากที่ได้วางหรือกำหนดกลยุทธ์แล้ว ผู้บริหารจะต้องกำหนดนโยบายหรือแนวทางในการปฏิบัติ โดยเฉพาะความคาดหวังที่ผู้บริหารมีต่อบุคลากรให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นเลยครับ บุคลากรควรจะได้ทราบว่าตนเองจะต้องทำอะไรบ้าง มากน้อยเพียงใด รวมทั้งมาตรฐานของสิ่งที่ต้องทำครับ

            ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือตัวกลยุทธ์ เป้าหมายของกลยุทธ์ แผนงานต่างๆ จะต้องมีความชัดเจน และสื่อสารถ่ายทอดไปยังสิ่งที่บุคลากรทุกระดับสามารถรับรู้และเข้าใจได้ครับ ทั้งในแง่ของเป้าหมายการทำงาน ใครคือผู้รับผิดชอบ รวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว

            การจะทำให้เกิด Fair Process ขึ้นมาได้นั้น บางครั้งไม่ได้สำคัญที่ตัวกลยุทธ์ เป้าหมาย หรือ ความคาดหวังที่มี แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับพนักงานคือสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้มีการสื่อสาร ถ่ายทอด ไปสู่สิ่งที่ตนเองเข้าใจอย่างชัดเจนหรือไม่ เนื่องจากถ้าบุคลากรมีความเข้าใจในสิ่งที่เจ้านายคาดหวังจากตนเองแล้ว การบ่ายเบี่ยงหรือหลบเลี่ยงก็จะลดน้อยลง และบุคลากรก็จะมุ่งเน้นไปที่การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติได้ง่ายและชัดเจนขึ้น

            เมื่อท่านผู้อ่านได้ศึกษา E ทั้งสามตัวแล้ว ก็จะพบเลยนะครับว่าเจ้า E ทั้งสามตัวเปรียบเสมือนเป็นเกณฑ์หรือแนวทางในการพิจารณาว่ากระบวนการในการวางแผนกลยุทธ์นั้นมีลักษณะที่เป็น Fair Process หรือไม่?

            ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยแล้วนะครับว่าทำไมเจ้า Fair Process ถึงมีความสำคัญต่อทัศนคติและพฤติกรรมของบุคลากรในการปฏิบัติตามกลยุทธ์ จริงๆ แล้วก็ย้อนกลับไปศึกษาในเรื่องของอารมณ์และความสำคัญของคนครับ

            ทั้งนี้เนื่องจากทุกคนมีต่างรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าหรือความสำคัญทั้งสิ้น ดังนั้นการได้รับการปฏิบัติที่ดี ได้รับการยอมรับ การชื่นชม ในฐานะที่เป็นคนๆ หนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญครับ ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะอยู่ ณ ตำแหน่งใดภายในองค์กร นอกจากนี้คนยังต้องการให้ผู้อื่นรับฟังความคิดเห็นของตนเอง รวมทั้งนำความเห็นของตนเองไปคิดพิจารณาต่อ อีกทั้งคนจะรู้สึกดีและมีคุณค่าขึ้น ถ้ามีผู้อื่นมาอธิบายไอเดียเพื่อขอรับฟังความคิดเห็นจากตนเอง ซึ่งปรากฎการณ์ต่างๆ ข้างต้นเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ทั่วไปที่เรามักจะละเลยครับ ผมเองก็เคยประสบในองค์กรบางแห่งที่ผู้บริหารมานั่งแถลงกลยุทธ์ของตนเองให้ผู้บริหารระดับรองๆ ลงไปฟัง ซึ่งในห้องประชุมนั้นก็โอเคครับ แต่พอออกนอกห้องประชุมแล้ว บรรดาผู้บริหารรองๆ ก็เพียงแต่รับทราบ แต่ไม่เกิดความกระตือรือร้นหรือสนใจต่อการปฏิบัติตามกลยุทธ์เหล่านั้น แถมยังคุยกันอีกครับว่า เสียเวลามานั่งฟังอีกต่าง แต่ในทางกลับกัน ถ้าองค์กรนี้ได้ให้ผู้บริหารระดับรองๆ ลงมาเข้ามามีส่วนร่วมหรือรับรู้บ้าง เชื่อว่าปฏิกริยาและทัศนคติต่อกลยุทธ์ก็จะเปลี่ยนไปครับ

            ท่านผู้อ่านลองนึกภาพดูซิครับว่า ถ้าท่านนำหลักการ 3 E มาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์แล้ว จะเป็นการแสดงให้บุคลากรในองค์กรได้เห็นว่าผู้บริหารได้ให้ความไว้วางใจ มีความเชื่อถือและเชื่อมมั่นต่อความคิดและความเชี่ยวชาญของบุคลากรแต่ละคน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือตัวบุคลากรในองค์กรเองจะรู้สึกได้รับการยอมรับ และพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ที่ตนเองมี ดังนั้นข้อเสนอต่างๆ ที่มีค่าก็จะพรั่งพรูออกมา พร้อมทั้งมีความรู้สึกผูกพันกับกลยุทธ์ที่ตนเองได้มีส่วนร่วมในการกำหนดขึ้น

            ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของทฤษฎีการจูงใจที่เรียนกันมานานแล้วนะครับ โดยเฉพาะคำว่าการยอมรับ (Recognition) ที่เป็นปัจจัยจูงใจภายในที่สำคัญอย่างหนึ่งของทุกคน ดังนั้นการนำ 3E มาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ ก็เป็นการแสดงถึงการยอมรับที่ผู้บริหารมีต่อบุคลากรในองค์กร และเป็นการจูงใจให้บุคลากรทำตามกลยุทธ์ด้วย และสุดท้ายทุกคนก็พร้อมที่จะทำเกินหน้าที่ของตนเองเพื่อให้กลยุทธ์ได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

            ท่านผู้อ่านก็ลองนำแนวคิดข้างต้นเรื่องของ 3 E ไปปรับใช้ดูนะครับ เพียงแต่คงจะต้องปรับให้เข้ากับองค์กรท่านแล้วกันครับ แต่ประเด็นสำคัญก็คืออย่าลืมเอาเรื่องของ Recognition เข้ามาช่วยในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัตินะครับ