29 April 2007

ท่านผู้อ่านได้สังเกตบ้างไหมครับว่าหลายๆ ครั้งการจะนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติได้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่การเขียนกลยุทธ์ให้ชัดเจน หรือ การเชื่อมโยงจากแผนกลยุทธ์ไปสู่แผนปฏิบัติการและงบประมาณเท่านั้น แต่จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญที่สุดในองค์กรด้วย นั่นก็คือ “คน” องค์กรบางแห่งอาจจะเขียนกลยุทธ์ชัดเจน มีการสื่อสารกลยุทธ์ที่ชัดเจน แปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติที่ชัดเจน จนเรียกได้ว่าทำตามตำราครบทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่สามารถนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริงซึ่งอุปสรรคที่สำคัญก็คือคนในองค์กรนั้นเองครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติและพฤติกรรมของคนในองค์กร จะเป็นส่วนสำคัญในการจะตัดสินว่าการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่

ผมเองเคยเจอหลายองค์กรที่มีกระบวนการหรือรูปแบบในการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์สู่การปฏิบัติที่ดี แต่พนักงานนั้นมีทัศนคติในทางลบเกี่ยวกับกลยุทธ์หรือสิ่งที่ผู้บริหารคิดขึ้น ดังนั้นแทนที่กลยุทธ์นั้นจะได้มีการนำไปปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถ พนักงานกลับปฏิบัติตามกลยุทธ์นั้นในลักษณะ “ขอไปที” หรือ “ทำๆ ไปให้เสร็จ” โดยไม่ได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้แต่อย่างใด

ดังนั้นความท้าทายของผู้บริหารที่จะนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้สำเร็จนั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหารในการสร้างวัฒนธรรมในการทำงานที่ทำให้บุคลากรในองค์กรทุ่มเทและมุ่งมั่นต่อการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ และเป็นการทุ่มเทและมุ่งมั่นด้วยใจจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ทำตามหน้าที่เท่านั้นเอง

ซึ่งหนังสือชื่อดังและขายดีอย่าง Blue Ocean Strategy ก็ได้เขียนหรืออธิบายแนวทางในการสร้างความทุ่มเทและมุ่งมั่นให้กับบุคลากรในอันที่จะนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติไว้เช่นเดียวกันนะครับ ถ้าท่านผู้อ่านไม่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียด ก็มักจะคิดว่าเรื่องของ Blue Ocean Strategy เป็นเพียงเรื่องของการคิดกลยุทธ์ในรูปแบบใหม่ๆ เท่านั้นเอง แต่จริงๆ แล้วสาระที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ Blue Ocean Strategy คือทำอย่างไรถึงจะนำกลยุทธ์ที่คิดขึ้นมานั้นไปปฏิบัติให้เห็นผลจริงๆ ในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์ Blue Ocean ที่มีความแปลกหรือแตกต่างจากชาวบ้านเขา

หลักคิดที่สำคัญคือการคิดแบบ Blue Ocean มักจะนำความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายมาสู่กลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงก็นำไปสู่คำถามที่มีอยู่ในใจของบุคลากรในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคำถามเกี่ยวกับสาเหตุหรือความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ หรือ คำถามว่าผู้บริหารได้อธิบายในสิ่งต่างๆ อย่างกระจ่างชัดหรือยัง หรือ คำถามที่แสดงถึงความไม่ไว้วางใจในตัวผู้บริหาร ผมเชื่อว่าคำถามต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในเกือบทุกองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น และยิ่งบุคลากรที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คำถามเหล่านี้ก็ย่อมมากและรุนแรงขึ้นเป็นธรรมดา และท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับ ในระดับปฏิบัติการที่มีหน้าที่ต้องสัมผัสหรือเจอลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ถ้าบุคลากรของท่านมีคำถามต่างๆ เหล่านี้อยู่ในใจ เขาจะปฏิบัติตามกลยุทธ์อย่างทุ่มเททั้งกายและใจได้อย่างไร? และสุดท้ายแล้วผลเสียจะตกอยู่กับใคร? ลองนึกดูนะครับ ว่าผู้บริหารอุตส่าห์ทำทุกอย่างถูกต้องตามตำราหรือที่ควรจะเป็นหมดแล้ว แต่สุดท้ายพนักงานระดับปฏิบัติการที่ใกล้ชิดกับลูกค้ากลับไม่ยอมร่วมมือด้วยหรือไม่ร่วมมือด้วยอย่างเต็มที่ สิ่งที่ผู้บริหารคิดแทบตายก็เรียกได้ว่าไม่มีความหมายเลยครับ

จริงๆ แล้วปัญหาข้างต้นอาจจะเป็นปัญหาที่แฝงอยู่ในองค์กรต่างๆ โดยที่ผู้บริหารไม่รู้ตัวเลยก็ได้นะครับ เนื่องจากผู้บริหารก็มักจะมองในมุมของตนเองและคิดว่าตนเองทำทุกอย่างถูกต้องและเหมาะสมเพื่อความเจริญก้าวหน้าขององค์กร แต่ปัญหาคือพนักงานระดับรองๆ ลงไป เขาไม่ได้มีส่วนรับรู้ด้วย ทำให้ทั้งความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจที่พนักงานมีให้กับผู้บริหารไม่ได้เป็นไปอย่างเต็มที่ แถมในบางองค์กรพนักงานก็ชอบที่จะมองโลกในแง่ร้าย นั้นคือมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ผู้บริหารมีนอกมีในอยู่ด้วย

ท่านผู้อ่านอาจจะมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการขาดการสื่อสารภายใน ซึ่งผมก็เคยคิดเช่นนี้มาก่อนนะครับ แต่เมื่อพิจารณาในองค์กรบางแห่งแล้วพบว่าต่อให้ผู้บริหารพยายามจะสื่อสารลงไปมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะใช้ช่องทางใด พนักงานก็จะยังมีความไม่ไว้วางใจและไม่ทุ่มเทต่อกลยุทธ์หรือสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นครับ ดังนั้นต้นเหตุของปัญหาไม่น่าจะอยู่ที่เรื่องของการสื่อสารเพียงอย่างเดียวนะครับ

ถ้ามองให้ลึกกว่าแค่การสื่อสาร เราบอกได้ไหมครับว่าสาเหตุที่ทำให้พนักงานไม่ไว้วางใจผู้บริหารต่อการนำกลยุทธ์หรือสิ่งใหม่ๆ มาใช้ นั้นคือ การขาดความไว้ใจต่อความถูกต้อง ยุติธรรมของกระบวนการในการได้มาซึ่งกลยุทธ์นั้น เนื่องจากได้มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วลงความเห็นว่าพนักงานเองจะให้ความสำคัญต่อความยุติธรรมหรือถูกต้องของกระบวนการในการได้มาซึ่งผลลัพธ์ พอๆ กับตัวผลลัพธ์ด้วยซ้ำไป ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับมามองรอบๆ ตัวท่านซิครับ เราอาจจะได้ยินคำพูดที่แสดงถึงความไม่ไว้ใจต่อกระบวนการในการได้มาซึ่งผลลัพธ์อยู่บ่อยๆ นะครับ เช่น “ไม่รู้ปิดห้องคุยเรื่องอะไรกัน” หรือ “แอบคิดกันอยู่ไม่กี่คน” เป็นต้น

ดังนั้นการที่จะให้บุคลากรในองค์กร ยอมรับ ไว้ใจ ทุ่มเท มุ่งมั่น ต่อการปฏิบัติตามกลยุทธ์นั้นอาจจะต้องย้อนกลับไปดูที่กระบวนการในการกำหนดกลยุทธ์ครับว่าถูกต้อง เหมาะสม และเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมอย่างจริงจังหรือยัง? ซึ่งในสัปดาห์หน้าเราจะมาดูกันต่อนะครับว่าแนวคิด Blue Ocean เขาให้ข้อเสนอแนะต่อปัญหาในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติที่เกิดขึ้นอย่างไร