26 November 2006

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เริ่มต้นไว้ในเรื่องของ Social Intelligence หรือ ความฉลาดทางสังคม ซึ่งได้นำเนื้อหามาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ Daniel Goleman โดยได้เริ่มไว้ในเรื่องของการศึกษาทางด้านประสาทวิทยา (Neuroscience) ครับ ที่ในช่วงหลังจะเริ่มมีการค้นพบกันมากขึ้นว่าจริงๆ แล้วสมองของเรานั้นสามารถที่จะส่งสัญญาณหรือเชื่อมต่อกันได้ ทำให้เราสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ของผู้อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบ Mirror Neurons ที่อยู่ในสมองเรา ทำให้เรามีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตาม หรือ มีความรู้สึกตามผู้ที่เราเฝ้าสังเกต นักวิทยาศาสตร์เริ่มค้นพบว่าเมื่อเวลาเราเฝ้ามองผู้อื่นนั้น เจ้า Mirror Neurons นั้นจะสว่างขึ้นมาหรือทำงาน และเป็นสาเหตุสำคัญที่เราทำความเข้าใจต่อผู้อื่น การอ่านใจผู้อื่น หรือแม้กระทั่งการเรียนรู้เรื่องภาษา ท่านผู้อ่านลองเข้าไปใน Google ดูนะครับ แล้วพิมพ์คำว่า Mirror Neurons จะพบแหล่งความรู้เพิ่มเติมมากมายเลยครับ

นอกจาก Mirror Neurons แล้ว ยังมีการพบอีกนะครับว่า ในสมองของเราจะมีบางส่วนที่ทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังหรือเตือนภัยให้กับเรา เมื่อเจอคนที่มีลักษณะที่ไม่จริงใจ เนื่องจากเมื่อเราพูดคุยกับบุคคลอื่นนั้น สมองเราจะมีการเฝ้าหาในสิ่งที่ขัดแย้งกันของตัวผู้พูด และถ้าเจอข้อมูลที่ขัดแย้งนั้น สมองเราจะสั่งการอย่างอัตโนมัติให้ไม่ไว้ใจบุคคลดังกล่าว ท่านผู้อ่านลองสังเกตตัวท่านเองนะครับ หลายครั้งที่เราคุยกับคนบางคน แล้วเรามีความรู้สึกทันทีว่าบุคคลผู้นั้นไว้ใจไม่ได้ ซึ่งเราก็บอกไม่ได้ว่าทำไมถึงรู้สึกแบบนั้น จนกระทั่งบางคนมักจะคิดว่าตัวเองมีสัมผัสที่หก แต่จริงๆ แล้ว ความไม่ไว้ใจดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทำงานของสมองเราทั้งสิ้นครับ ที่พบเจอข้อมูลที่ขัดแย้งหรือไม่ตรงกันของตัวผู้พูด และสั่งการอย่างอัตโนมัติและรวดเร็วให้เราไม่ไว้ใจบุคคลดังกล่าว

ตัวอย่างง่ายๆ ก็สายตาของผู้พูดครับ ลองสังเกตดูนะครับ ถ้าเราพบคนที่มองพื้นหรือมองต่ำนั้น เราจะทราบทันทีว่าบุคคลผู้นั้นกำลังเศร้า ถ้ามองไปด้านอื่นจะมีความรู้สึกรังเกียจหรือขยะแขยง แต่ถ้าทั้งมองต่ำและมองไปด้านอื่น ก็จะรู้สึกผิดหรือสำนึกผิด สิ่งต่างๆ เหล่านี้เรารับรู้โดยอัตโนมัติครับ และเป็นสิ่งที่สมองเรามักจะคอยสังเกตโดยเราไม่รู้ตัว หรือ แม้กระทั่งคนที่กำลังโกหกครับ มีงานวิจัยที่พบว่า คนที่กำลังโกหกนั้นจะให้ความสำคัญกับการเลือกคำพูดที่จะใช้ จะคิดแล้วคิดอีกว่าจะใช้คำพูดใด แต่มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสีหน้าหรือการแสดงออกทางใบหน้าเท่าใด  ดังนั้นเวลาใครกำลังตอบคำถามที่เป็นการโกหกอยู่นั้น สิ่งที่พบคือ บุคคลผู้นั้นจะตอบคำถามช้ากว่าการบอกเล่าความจริง สองในสิบวินาที นอกจากนี้ข้อมูลที่ขัดแย้งที่สมองเรามักจะรับรู้คือคำพูดที่โกหกออกมากับการแสดงสีหน้านั้นมีความแตกต่างกัน

ท่านผู้อ่านอาจจะบอกว่าข้อมูลเบื้องต้นไม่แปลก เป็นสิ่งที่พอจะทราบอยู่แล้ว ซึ่งก็จริงนะครับ แต่ในอดีตนั้นมักจะเป็นความเข้าใจเพราะคิดว่าความรู้สึกหรือมีญาณพิเศษ แต่การค้นพบสมัยใหม่ ทำให้เราทราบว่าจริงๆ แล้วเกิดขึ้นจากการทำงานของสมองเราทั้งสิ้นครับ นอกเหนือจากความสามารถในการจับโกหกแล้ว ถ้าคนสองคนมีความสัมพันธ์ที่ดี สนิทสนม หรือ ทำงานอย่างเข้าขากัน การทำงานของสมองของบุคคลทั้งสองก็มักจะไปในทิศทางเดียวกันครับ ลองสังเกตนะครับ ถ้าคนสองคนมีความสนิทสนมกลมเกลียวกันสมองของทั้งสองคนจะสื่อถึงกันได้ดีขึ้น และทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น สามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น ซึ่งในอดีตเราอาจจะคิดว่าเป็นเพราะบุคคลสองคนนั้นมีอารมณ์ร่วมกัน แต่จริงๆ แล้ว การที่จะมีอารมณ์ร่วมกันได้ก็มักจะเกิดจากสมองของบุคคลทั้งสองสามารถที่จะเชื่อมต่อหรือสะท้อนซึ่งกันและกันได้อย่างดีครับ

สาเหตุส่วนใหญ่นั้นก็มักจะมาจากเจ้า Mirror Neurons นั้นเองครับ ที่เราพยายามที่จะลอกเลียนแบบหรือทำตามคู่สนทนาของเรา ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ ถ้าเราคุยกับคนที่ชอบใช้ท่าทาง (พวกนี้มือจะแสดงท่าประกอบตลอดครับ) พอคุยซักพัก และเมื่อสมองเริ่มเชื่อมกันได้แล้ว มือของเราก็มักจะออกท่าทางด้วยเช่นเดียวกัน หรือ ถ้าคู่สนทนาของเรากำลังยิ้ม เราก็มักจะยิ้มตามไปด้วย โดยที่เราไม่รู้ตัว และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเราทำตามคู่สนทนามากเท่าไร ความเชื่อมต่อระหว่างทั้งสองคนก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ จนเกิดสิ่งที่เราคุ้นเคยกันในชื่อของการมีอารมณ์ร่วม การทำตามคู่สนทนานั้นบางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวนะครับ ถ้าไม่ใช่เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้ามาจับ เช่น มีการทดลองที่พบว่าพอเพื่อนสองคนคุยกับไปเรื่อยๆ นั้นจังหวะการหายใจของทั้งสองคนมักจะไปด้วยกัน

นอกจากนี้การทดลองอีกประการที่น่าสนใจ (โดยเฉพาะกับวิชาชีพผมครับ) ก็คือ ในห้องเรียนนั้น ถ้าท่าทางของนักเรียนในห้องมีความเหมือนกับอาจารย์ผู้สอนมากเท่าใด ผู้เรียนก็จะยิ่งมีความรู้สึกที่สอดคล้องกับผู้สอนมากขึ้นและจะยิ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นอาจจะบอกได้นะครับว่ากริยาท่าทางของผู้เรียน น่าจะเป็นตัวบ่งบอกถึงบรรยากาศในกาเรียนได้

นอกจากนี้ยังพบอีกนะครับว่าการเคลื่อนไหวของคู่สนทนาที่กลมเกลียวหรือไปด้วยกันได้ดี ก็มักจะสอดคล้องกัน โดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้เนื่องจากในสมองเราจะมีระบบที่เหมือนกับนาฬิกาในสมองเราที่จะส่งและรับสัญญาณไปยังสมองของบุคคลที่เรากำลังสนทนาด้วย ทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ ออกมาสอดคล้องกัน เช่น ถ้าเราคุยกับใครซักคนอย่างถูกอกถูกใจ ลองสังเกตดูนะครับ จะพบว่าการเคลื่อนไหวของมือ และร่างกายของเราและคู่สนทนาจะเป็นไปอย่างสอดคล้องกลมกลืนกัน (ไม่ขัดแข้งขัดขากันครับ) โดยเราไม่รู้ตัว หรือ อย่างคู่รักที่อยู่ดีๆ ก็จูงมือและก้าวเดินไปในจังหวะที่พร้อมๆ กัน (ลองสังเกตนะครับ ว่าถ้าท่านและคู่รักท่านเริ่มจูงมือกันเดินในจังหวะที่ไม่เข้ากันแล้ว แสดงว่ากำลังจะมีปัญหาเกิดขึ้นหรือไม่) 

เป็นอย่างไรครับ เรื่องการทำงานของสมองเราเป็นสิ่งที่น่าสนใจและยังต้องเรียนรู้อีกเยอะนะครับ สัปดาห์หน้าผมจะเริ่มเข้าเนื้อหาแล้วครับว่า จากการค้นพบเรื่องของสมองเรา นั้นจะนำไปสู่ความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) ได้อย่างไร