3 February 2007
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้เริ่มนำเสนอท่านผู้อ่านในเรื่องเกี่ยวกับความสุข (Happiness) ไว้ ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่พวกเราต่างพยายามแสวงหากัน โดยเนื้อหาส่วนใหญ่นั้นนำมาจากหนังสือชื่อ Happiness เขียนโดย Richard Layard ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่หันมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของความสุข จากสัปดาห์ที่แล้วซึ่งเป็นการเริ่มต้นพื้นฐานเกี่ยวกับความสุข สัปดาห์นี้เรามาดูกันต่อนะครับว่าจะสร้างความสุขได้อย่างไร?
ถ้าจะถามว่าอะไรคือเหตุแห่งความสุขผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากคงจะนึกถึงเรื่องเงินหรือพวกทรัพย์สินนอกกายต่างๆ เป็นลำดับแรก แต่อย่างที่ได้นำเสนอไว้ในบทที่แล้วนะครับ ข้อมูลและงานวิจัยต่างๆ ชี้ชัดเลยว่าการที่มีเงินหรือรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำให้คนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าเรื่องของรายได้จะไม่มีส่วนสัมพันธ์กับความสุขเสียทีเดียวนะครับ คนเราจะมีความสุขจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อมีการเปรียบเทียบกับผู้อื่น มีงานวิจัยที่พบว่าถ้าบุคคลอื่นรอบๆ ตัวท่านมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1% จะทำให้ระดับความสุขของเราลดลงหนึ่งในสาม ในทางกลับกันถ้ารายได้ของเราเพิ่มขึ้น 1% (ในขณะที่ผู้อื่นไม่เพิ่ม) ระดับความสุขของเราจะเพิ่มขึ้น 1/3 เช่นเดียวกันครับ
มีงานวิจัยในอเมริกาและสวิสเซอร์แลนด์ ที่พบว่าความสุขของคนเราจะขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของเราเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเป้าหมายรายได้นั้นมาจากรายได้เฉลี่ยของบุคคลรอบๆ ตัวท่าน ซึ่งก็บอกได้เลยว่าความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับความสุขของเรานั้นจะอยู่ในรูปของการเปรียบเทียบมากกว่าตัวเงินที่เราได้รับ เราจะยิ่งมีความสุขมากขึ้น ถ้ารายได้ของเราเพิ่มสูงกว่ากลุ่มที่เราเปรียบเทียบด้วย ในขณะเดียวกันถ้าผู้อื่นที่ท่านเปรียบเทียบมีรายได้สูงกว่าท่าน ความสุขของท่านก็จะลดน้อยลงครับ
พอทราบข้อมูลเหล่านี้ก็ทำให้พบของการสร้างความสุขจากรายได้อยู่สองประการนะครับ ประการแรกคือ หยุดเปรียบเทียบกับผู้อื่น ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยากครับ เพราะมนุษย์เราจะต้องเปรียบเทียบกับผู้อื่นจนเป็นนิสัยแล้ว ลองสังเกตดูสมัยเรียนหนังสือก็ได้ครับ เราจะได้เกรดเท่าไร ไม่ค่อยสำคัญเท่ากับเกรดของเราเปรียบเทียบกับเพื่อนคนอื่นๆ ในห้อง ถ้าเราไม่สามารถที่จะหยุดเปรียบเทียบได้ วิธีการสร้างความสุขจากรายได้ประการที่สองคือ ต้องเปรียบเทียบกับผู้ที่ต่ำกว่าเสมอครับ เพราะถ้าเปรียบเทียบกับคนกลุ่มนั้น เราจะมีรายได้ที่มากกว่า อันจะนำไปสู่ความสุข ผมเองก็สังเกตเห็นหลายๆ คนที่จะชอบเปรียบเทียบตนเองกับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า ซึ่งก็จะทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นและเป็นสุข
นอกจากนี้เรายังพบอีกนะครับว่าการมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจจะทำให้ผู้ที่ยากจนมีความสุขมากกว่าผู้ที่ร่ำรวยอยู่แล้ว สังเกตได้ง่ายๆ นะครับ ถ้าท่านได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ห้าร้อยบาท ท่านจะมีความสุขเพิ่มขึ้นหรือไม่? สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยมีเงิน การได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นห้าร้อยบาทย่อมจะนำไปสู่ความสุขมากกว่าคนที่มีเงินอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าสำหรับท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านเงินห้าร้อยบาท อาจจะเป็นเพียงแค่เศษเงินที่ไม่ได้ทำให้ตนเองรู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจก็คือเงินจำนวนเท่ากัน อยู่ที่บุคคลสองกลุ่มย่อมจะนำไปสู่ความสุขที่แตกต่างกัน ลองนึกภาพง่ายๆ นะครับว่าถ้าสมมติว่าท่านรวยมาก การที่ท่านบริจาคเงินสองแสนบาทสำหรับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าท่าน ท่านจะไม่ได้มีความสุขที่ลดน้อยลงเพราะสูญเสียเงินสองแสนบาทแต่อย่างใด แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่ด้อยโอกาสและได้รับเงินสองแสนบาทจากท่านจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งถ้าคนรวยส่วนใหญ่ทำแบบนี้ก็จะทำให้ความสุขโดยเฉลี่ยของคนทั้งประเทศดีขึ้น
พอถึงตรงนี้ก็เลยไม่แปลกใจนะครับที่ทำไมบรรดามหาเศรษฐีทั้งหลายในต่างประเทศถึงได้ให้ความสำคัญกับการบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลกันนัก ตัวอย่างที่กำลังโด่งดังก็คือกรณีของ Bill Gates กับ Warren Buffet สองนักธุรกิจและมหาเศรษฐีชื่อดังของอเมริกาถึงผได้หันมารณรงค์เรื่องของการบริจารเงินเพื่อสาธารณกุศลมากขึ้น (และก็ไม่ได้ทำเพื่อเอาหน้าด้วยนะครับ) เนื่องจากเงินที่พวกเขาบริจาคไป ไม่ได้ทำให้ความสุขของบุคคลเหล่านี้ลดน้อยลง แต่เขาเชื่อว่าเงินเหล่านั้น จะทำให้คนอีกมากมายมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ต้องบอกว่าอยากจะเห็นเศรษฐีในบ้านเราหันมาเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้กันเหมือนเขาบ้างนะครับ ซึ่งก็ทำให้นึกสงสัยต่อเหมือนกันนะครับ ว่าทำไมหลายๆ ครั้งเราลอกเลียนหรือนำแนวคิดทางการบริหารของประเทศตะวันตกมาใช้ แต่เรื่องของการบริจาคเพื่อสาธารณกุศลเหมือนต่างประเทศกลับไม่ค่อยได้เห็นเท่าไรนะครับ
จากเนื้อหาในสัปดาห์นี้ท่านผู้อ่านคงจะเห็นนะครับว่ารายได้เองก็มีส่วนสัมพันธ์กับความสุข แต่รายได้จะเกี่ยวข้องกับความสุขก็ต่อเมื่อเรามีการเปรียบเทียบกับผู้อื่น ดังนั้นเคล็ดในการสร้างความสุขประการหนึ่งคือให้พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ครับ อย่าเปรียบเทียบ (ย้อนกลับไปหลักพระพุทธศาสนาได้เลยครับ) นอกจากการหยุดการเปรียบเทียบในเรื่องของรายได้และความเป็นอยู่แล้วเราก็ต้องหันกลับมาดูปัจจัยอื่นในการสร้างความสุขนะครับ เนื่องจากความสุขของคนเราไม่ได้เกิดจากเงินหรือรายได้เป็นสำคัญนะครับ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่พบว่าเป็นตัวที่ทำให้คนเราเกิดความสุข
มีผู้ตั้งข้อสังเกตุเหมือนกันครับว่าการที่คนๆ หนึ่งจะมีความสุขมากกว่าอีกคนหนึ่งนั้น พันธุกรรมหรือยีน มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่? มีงานวิจัยที่น่าสนใจที่ศึกษาฝาแฝดแท้ (มียีนต่างๆ เหมือนกัน) กับฝาแฝดไม่แท้ (มียีนส์ที่ไม่เหมือนกันทั้งหมด) จะพบว่าฝาแฝดแท้จะมีระดับของความสุขในระดับที่เท่าหรือใกล้เคียงกันมากกว่าฝาแฝดไม่แท้ ซึ่งอาจจะบอกได้ว่ามาจากยีนที่เหมือนกันของฝาแฝดแท้ แต่เรื่องของพันธุกรรมก็เป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความสุขนะครับ ไม่ใช่ทั้งหมด เราไม่สามารถบอกได้ว่าคนๆ นั้นเป็นคนอมทุกข์เพราะยีนของเขาระบุไว้นะครับ การเลี้ยงดูก็มีส่วนสำคัญด้วยครับ ในสัปดาห์หน้าเราจะมาดูกันต่อนะครับว่านอกเหนือจากเรื่องของรายได้ และยีนแล้วมีปัจจัยใดอีกบ้างที่ส่งผลกระทบต่อความสุขของเรา