14 January 2007
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแนวคิดทางการบริหารเรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องที่ติดปากและใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชนได้แก่เรื่องของการบริหารความเสี่ยงหรือ Risk Management ปัจจุบันหลายๆ องค์กรถึงกับตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเรื่องของความเสี่ยงโดยเฉพาะ ซึ่งก็น่าอยู่หรอกนะครับ เพราะดูเหมือนว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จะมีอยู่มากมาย ทั้งกับองค์กรของเรา หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง เพียงแค่ออกไปนอกบ้านในปัจจุบันก็ถือว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ โจรกรรม หรือ วินาศกรรม แต่เราเรียนรู้เรื่องของการบริหารความเสี่ยงไม่ใช่เพื่อจะกลัวและไม่กล้าทำสิ่งใดนะครับ แต่เพื่อให้เรารู้จักที่จะบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดโอกาสที่ความเสี่ยงนั้นจะเกิด หรือ ลดผลกระทบและความรุนแรงจากความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ผมขอไม่พูดถึงหลักการและแนวคิดพื้นฐานของการบริหารความเสี่ยงทั่วๆ ไปนะครับ เข้าใจว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงพอจะคุ้นเคยกันบ้างแล้ว สิ่งที่อยากจะนำเสนอในสัปดาห์นี้เป็นเรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์ หรือ Strategic Risks ครับ องค์กรต่างๆ มีการบริหารความเสี่ยงกันมานานพอสมควรแล้ว แต่เท่าที่ได้ประสบนั้นส่วนใหญ่จะเน้นความเสี่ยงทางด้านการดำเนินงาน (Operation Risk) ความเสี่ยงทางด้านการเงิน หรือ ความเสี่ยงในโครงการต่างๆ เป็นหลัก แต่ความเสี่ยงประการหนึ่งที่มีความสำคัญแต่มักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใดกลับเป็นเรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราดูดีๆ นะครับว่าองค์กรส่วนใหญ่จะให้ความสนใจกับความเสี่ยงในรายละเอียด ที่ถ้าผิดพลาดอาจจะนำไปสู่คำตำหนิ หรือ ความไม่พอใจของลูกค้า หรือ ถูกปรับ แต่ความเสี่ยงที่ถือว่าสำคัญที่สุดสำหรับองค์กร เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่หรือล่มสลายขององค์กรอย่างเช่น ความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์กลับไม่ค่อยได้รับความใส่ใจเท่าไรครับ
ผมเคยได้ถามอาจารย์ที่คณะฯ ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงว่าความเสี่ยงทางกลยุทธ์คืออะไร? ท่านก็กรุณาตอบว่าเป็นความเสี่ยงที่องค์กรเลือกกลยุทธ์ได้ถูกหรือไม่? เช่น ถ้าองค์กรของท่านต้องการลงทุนในต่างประเทศ และมีสองประเทศให้เลือกคือจีนและอินเดีย การที่องค์กรท่านเลือกไปลงทุนที่จีนแทนที่จะเป็นอินเดียนั้น ท่านทราบได้อย่างไรว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง? ท่านทราบได้อย่างไรว่าการไปลงทุนที่จีนจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการไปลงทุนที่อินเดีย? ความเสี่ยงทางกลยุทธ์ประเภทนี้ถือว่าสำคัญนะครับ แต่ก็ต้องบอกว่าระบุและวิเคราะห์ยากครับ เนื่องจากจะให้คนในคิดและวิเคราะห์เอง ก็มักจะติดอยู่ในกรอบเดิมๆ ส่วนจะให้คนนอกคิดให้ก็ขาดข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับธุรกิจเพียงพอ จริงๆ แล้วความเสี่ยงประเภทนี้เราก็พบได้ในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปนะครับ ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือท่านที่แต่งงานแล้ว ท่านทราบได้อย่างไรว่าท่านเลือกถูกคน? ทำไมท่านไม่เลือกอีกคนหนึ่ง? หรือ เลือกที่จะอยู่เป็นโสด? เราถือว่าการเลือกคู่สมรสก็ถือเป็นความเสี่ยงประเภทหนึ่งเหมือนกันนะครับ ถึงแม้เราจะระบุและความเสี่ยงอย่างดีแล้ว เช่น คบกันมานาน หรือ ให้ผู้ใหญ่ช่วยดูให้ แต่เราก็เจอตัวอย่างในสังคมมากมายนะครับ ที่ความเสี่ยงจะปรากฎก็ต่อเมื่อแต่งงานไปแล้ว
กลับมาที่ความเสี่ยงทางกลยุทธ์ต่อดีกว่านะครับ นอกเหนือจากคำจำกัดความของความเสี่ยงกลยุทธ์ข้างต้นแล้ว ยังมีการมองความเสี่ยงกลยุทธ์ในอีกรูปแบบหนึ่งนะครับ โดยกำหนดว่าความเสี่ยงทางกลยุทธ์ คือ ความเสี่ยงที่กลยุทธ์ที่องค์กรใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องและเหมาะสมต่อสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงาน หรือ อีกนัยหนึ่งนั้น จะทราบว่าองค์กรมีความเสี่ยงทางกลยุทธ์เกิดขึ้นหรือไม่ ก็พิจารณาได้ว่าสภาวะแวดล้อมทางการดำเนินงานและการแข่งขันนั้นมีการเปลี่ยนแปลง และทำให้กลยุทธ์ที่องค์กรใช้อยู่มีความไม่เหมาะสมหรือไม่?
ท่านผู้อ่านลองนึกภาพง่ายๆ ก็ได้ครับ สมมติว่าองค์กรของท่านได้กำหนดกลยุทธ์สำหรับปี 2550 ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ปลายๆ ปี 2549 แล้วว่าจะเน้นการเติบโต โดยการเปิดสาขาใหม่ เพื่อให้ได้ลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาสินค้าและบริการให้ใหม่มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้ upgrade มาใช้สินค้าใหม่มากขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็นำไปสู่การเพิ่มรายได้ แต่พอเปิดปี 2550 มา มีสถานการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของการเมือง นโยบายของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งทำให้กลยุทธ์ที่ท่านวางไว้และกำลังจะเริ่มดำเนินการอยู่เกิดไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น ตรงนี้แหละครับที่ท่านจะเกิดความเสี่ยงทางกลยุทธ์ขึ้น ซึ่งท่านจะต้องสามารถระบุ วิเคราะห์ และหาแนวทางในการตอบสนองให้เหมาะสม ในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย
ความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้นจะต่างจากความเสี่ยงประเภทอื่นครับ คือเมื่อปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว ก็มักจะส่งผลกระทบต่อทุกๆ องค์กรในอุตสาหกรรมเช่นเดียวกันครับ เพียงแต่องค์กรไหนที่มีระบบในการตรวจสอบ ติดตาม พร้อมทั้งสามารถหาแนวทางตอบสนองต่อความเสี่ยงดังกล่าวได้เร็วกว่าผู้อื่น แทนที่เรื่องนั้นๆ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงกลับกลายเป็นโอกาสแทนก็ได้ ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวทางด้านไอทีคงจะตื่นเต้นกับข่าว iphone ของ Apple ที่เพิ่งประการออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนะครับ การออก iphone ก็ถือเป็นความเสี่ยงสำหรับบริษัทผู้ผลิตมือถือและ PDA หลายๆ บริษัท โดยเชื่อว่าผู้บริโภคจำนวนมากอาจจะชะลอการซื้อมือถือ / PDA ใหม่ แล้วรอ iphone ที่จะมาในปีหน้า (ผมคนหนึ่งครับ) ตอนนี้เราก็ต้องคอยดูแล้วครับว่าจะมีบริษัทไหนสามารถพลิกความเสี่ยงให้เป็นโอกาสได้เร็วกว่ากัน
ปัญหาของการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์คือองค์กรจำนวนมากจะขาดระบบในการบริหารความเสี่ยงในด้านนี้ แถมผู้บริหารหลายๆ ท่านก็มักจะไม่ค่อยยอมรับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงและจะส่งผลกระทบต่อองค์กรเท่าใด ผู้บริหารหลายๆ ท่านมักจะปิดหูปิดตาไม่ยอมรับหรือมองไม่เห็นต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในสัปดาห์หน้าเรามาพิจารณาแนวทางในการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์กันต่อนะครับ