12 November 2006
คำถามหนึ่งที่ผมได้รับจากผู้บริหารหลายๆ ท่านก็คือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้บุคลากรในองค์กรมีความผูกพันกับองค์กรหรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Engaged เห็นองค์กรหลายๆ แห่งเขาพยายามทำแบบสำรวจที่เรียกว่า Employee Engagement Survey เพื่อแสวงหาว่าบุคลากรในองค์กรของตนมีความผูกพันกับองค์กรมากเพียงใด เนื่องจากความคิดพื้นฐานที่ว่ายิ่งบุคลากรมีความผูกพันมาก ก็จะยิ่งมีความปราถนาหรือกระตือรือร้นในการทำงาน (ไม่ทำงานแบบชาวชาม เย็นชาม) จริงๆ แล้วก็เห็นหนังสือหรือบทความหลายเล่มนะครับ ที่เขาพยายามเสนอแนะแนวทางในการทำให้บุคลากรเกิดการ Engaged กับองค์กร แต่ก็ดูเหมือนยังเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้บริหารจำนวนมาก
สำหรับนี้เราลองมาดูแนวคิดของ Ken Blanchard ซึ่งเป็นนักคิดเกี่ยวกับด้านการบริหารและผู้นำระดับเซียนท่านหนึ่ง (Blanchard กำลังจะมาพูดที่เมืองไทยในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้พอดีครับ) Blanchard มองว่าการจะทำให้บุคลากรผูกพันและทุ่มเทกับองค์กรได้นั้นจะต้องเริ่มต้นจากตัวผู้นำเป็นสำคัญครับ โดยผู้นำจะต้องเริ่มต้นจากการกำหนดทิศทางหรือวิสัยทัศน์ที่จูงใจ ต่อจากนั้นจะต้องทำให้บุคลากรเห็นว่าตนเองสามารถที่จะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนทำงานไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น ผู้บริหารหลายคนจะชอบคิดว่าบุคลากรมาทำงานเพราะต้องการเงินเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ เนื่องจากคนจำนวนนอกเหนือจากเงินแล้ว ยังต้องการที่จะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นจากงานที่ตนเองทำ ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับไปที่องค์กรของท่านดูนะครับ แล้วพิจารณาว่าบุคลากรในองค์กรท่านมีความรู้สึกว่าตนเองสามารถสร้างความแตกต่างได้หรือไม่?
บทบาทของผู้นำในการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ ค่านิยม นั้นเป็นเพียงแค่หน้าที่แรกของผู้นำในการทำให้บุคลากรเกิดความผูกพันเท่านั้นนะครับ ซึ่งในหน้าที่แรกนั้นเป็นหน้าที่ตามบทบาทของผู้นำทั่วๆ ไป ที่ถ้าเราลองนำบุคลากรในองค์กรมาสร้างเป็นสามเหลี่ยมปิรามิดแล้ว เราจะพบว่าผู้นำคือผู้ที่อยู่บนยอดปิรามิด และทำหน้าที่ให้การกำหนดทิศทางให้กับองค์กร แต่เมื่อกำหนดทิศทางต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว ผู้นำจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของตนเองจากผู้กำหนดทิศทาง เป็นผู้ที่ทำหน้าที่สนับสนุนให้บุคลากรในองค์กรปฏิบัติตามทิศทางดังกล่าว นั้นคือสามเหลี่ยมปิรามิดเมื่อซักครู่ จะต้องกลับหัวครับ โดยผู้นำที่เป็นปลายแหลม จะต้องมาอยู่ข้างล่าง และบุคลากรระดับล่างจะกลายเป็นผู้อยู่ข้างบนแทน โดยผู้นำต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของบุคลากรในทุกระดับเพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้
แนวคิดการกลับหัวปิรามิดขององค์กรเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากครับ เนื่องจากเมื่อเราเขียนโครงสร้างองค์กรทีไร ผู้นำมักจะอยู่บนสุด (ซึ่งก็ไม่ผิด) แต่ถ้ามองในองค์กรชั้นนำต่างๆ เราจะพบว่าเมื่อผู้นำได้กำหนดทิศทางขององค์กรไว้อย่างชัดเจนแล้ว ผู้นำจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้คอยเกื้อกูลและสนับสนุนให้บุคลากรสามารถดำเนินงานเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ ซึ่งเปรียบเสมือนมาอยู่ด้านล่างของปิรามิดแทน ไม่ใช่ยังคงอยู่บนยอดของปิรามิดแล้วก็ลอยไปลอยมา โดยไม่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินงานของบุคลกรในระดับต่างๆ เลย
ท่านผู้อ่านลองคิดดูซิครับว่าถ้าเราเป็นพนักงานในองค์กร แล้วเห็นผู้นำปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองจากผู้กำหนดทิศทาง หรือ ผู้ชี้นำ มาเป็นผู้เกื้อกูลหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของเราแล้ว ขวัญ กำลังใจ และความผูกพัน รวมทั้งความกระตือรือร้นในการทำงานย่อมจะเพิ่มมากขึ้น จริงๆ แล้วแนวคิดการหมุนปิรามิดกลับหัว จนกระทั่งบทบาทของผู้นำเปลี่ยนไปนั้นก็เปรียบเหมือนแนวคิดด้านผู้นำที่เราเรียกว่า Servant Leadership (เคยนำเสนอผ่านทางบทความนี้มาสองสามครั้งแล้วครับ) ที่มองว่าผู้นำไม่ใช่แต่จะเป็นผู้คอยสั่งผู้อื่นเท่านั้น แต่ต้องเป็นเหมือนผู้รับใช้ต่อบุคลากรอื่นๆ ในองค์กร เป็นผู้คอยสนับสนุนให้บุคลากรอื่นๆ ในองค์กรสามารถทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
ดังนั้นถ้าผู้นำเริ่มต้นจากการกำหนดทิศทางที่จูงใจบุคลากร ทำให้บุคลากรทุกคนได้เห็นถึงความสำคัญของตนเอง ว่าสามารถสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรได้อย่างไร จากนั้นผู้นำก็จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองมาเป็นผู้ที่พร้อมจะรับใช้และเกื้อหนุนบุคลากรให้ทำงานเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดขึ้น เมื่อนั้นย่อมควรที่จะทำให้บุคลากรมีความผูกพัน (Engaged) และมุ่งมั่น กระตือรือร้น (Passion) ในการทำงานมากขึ้น ซึ่งผลพลอยได้ที่สำคัญก็คือ จะทำให้บุคลากรปฏิบัติต่อลูกค้าด้วยดี และแถมอาจจะดีกว่าความคาดหวังที่ลูกค้าต้องการเสียด้วยซ้ำ เมื่อลูกค้าได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าความคาดหวัง ก็ย่อมส่งผลสะท้อนในแง่ดีกลับมาที่ตัวองค์กรและบุคลากรเอง ซึ่งย่อมทำให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ และทำให้บุคลากรมีกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้น
เป็นอย่างไรบ้างครับแนวคิดของ Ken Blanchard อ่านดูแล้วก็ไม่ซับซ้อนแต่สามารถเข้าใจและเห็นภาพได้ดีนะครับ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจไปฟังจากตัวจริงที่จะมาพูดให้เราฟังถึงเมืองไทย ในวันที่ 28 พ.ย. นี้ ก็โทร.ไปสอบถามรายละเอียดได้นะครับที่หมายเลข 02-319-7675 นะครับ และก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ที่ 25 พ.ย. หลักสูตร IT in Business ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะจัดการเสนอโครงงานพิเศษขอนิสิตระดับปริญญาโทของหลักสูตร ซึ่งมีโครงงานที่น่าสนใจหลายเรื่องครับ เช่น พวกระบบสารสนเทศทางสถิติสำหรับการตัดสินในด้านต่างๆ สนใจก็โทร.ไปสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5715-6 นะครับ