21 December 2006

ขอร่วมต้อนรับท่านผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่ปี 2550 ด้วยคนนะครับ หวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะมีความสุขตลอดปีใหม่นี้นะครับ เมื่อฉบับที่แล้วซึ่งเป็นฉบับสิ้นปี ก็ได้นำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้ลองทบทวนตนเองนะครับว่าเป็นพวกที่ทำงานหนักเกินไปหรือไม่? ซึ่งจากเนื้อหาในสัปดาห์ที่แล้ว ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยนะครับว่ากลุ่มบุคคลที่ทำงานหนักนั้น ทำงานกันหนักจริงๆ แต่ก็ยังพอใจและเต็มใจที่จะทำงานหนักอยู่ คำถามสำคัญต่อมาก็คืออะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้บุคคลกลุ่มยังคงรักและพอใจที่จะทำงานหนักอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เราลองมาดูสาเหตุที่ Sylvia Ann Hewlett และ Carolyn Buck Luce ได้ศึกษาไว้และพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนธันวาคมที่ผ่านมากันนะครับ

สาเหตุประการแรกก็เกิดขึ้นเนื่องจากแรงกดดันและภาวะการแข่งขันที่ทวีมากขึ้นในปัจจุบันครับ ซึ่งในส่วนนี้เกิดขึ้นทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคลครับ ลองพิจารณาง่ายๆ เราก็จะพบว่าองค์กรส่วนใหญ่ในปัจจุบันเน้นความมีประสิทธิภาพ เน้นองค์กรขนาดเล็กที่คล่องตัว โครงสร้างองค์กรที่แบนราบกว่าในอดีต ทำให้ตำแหน่งต่างๆ โดยเฉพาะตำแหน่งในระดับบริหารลดน้อยลง ดังนั้นการที่เราจะประสบความสำเร็จและยังคงดำรงอยู่ในตำแหน่งบริหารได้ ก็หนีไม่พ้นการที่จะต้องทำงานมากและหนักกว่าผู้อื่นหลายๆ เท่า เช่น ทำงานสัปดาห์ละ 60 ชั่วโมงขึ้นไป เป็นต้นครับ

สาเหตุประการที่สองคือ กลุ่มคนเหล่านี้เป็นพวกชอบความท้าทายครับ เหมือนนักกีฬาบางคนที่ชอบกีฬาที่ผาดโผนและท้าทาย ผู้บริหารเหล่านี้ชอบงานที่ท้าทาย มีความเร่งด่วน ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งงานและเวลาที่ต้องใช้เหล่านี้ทำให้ผู้บริหารได้สนองตอบต่อความต้องการภายในของตนเอง นอกจากนี้ผู้บริหารเหล่านี้ยังมองอีกด้วยนะครับว่าการทำงานที่มาก หนัก และท้าทาย ก็เหมือนกับเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงบุคลิกภาพและตัวตนของตัวเองเหมือนกันครับ บางคนจะมีความรู้สึกว่ายิ่งตนเองทำงานหนัก (เช่นมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) หรือ ต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อประชุมตลอดเวลา แสดงให้เห็นถึงคุณค่าและมูลค่าของตนเองครับ

สาเหตุข้อที่สามก็เกิดขึ้นจากพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศครับ ที่ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะทำให้เราสามารถทำงานได้ทุกที่ และทุกเวลา ซึ่งเจ้าพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศนี้เองที่ทำให้พฤติกรรมและความคาดหวังที่มีต่อเราเปลี่ยนแปลงไปครับ ในอดีตเราอาจจะมีข้ออ้างว่าอยู่ที่บ้าน ไม่สามารถทำงานได้ แต่ปัจจุบันข้ออ้างนั้นดูเหมือนจะไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไปแล้วครับ ในเมื่อทุกคนก็มีคอมพิวเตอร์และสามารถเชื่อมต่อทางอินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ในการสำรวจที่อเมริกานั้นร้อยละ 72 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ตนทำงานได้ดีขึ้น ร้อยละ 59 ระบุว่าทำให้เวลาในการทำงานของตนเองนานขึ้น และร้อยละ 64 ระบุว่าเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามาก้าวก่ายในเวลาของครอบครัวมากขึ้น

สาเหตุข้อที่สี่เกิดขึ้นจากการที่สถานที่ทำงานได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของสังคมของเรามากขึ้นครับ ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าบางคนมาทำงานไม่ใช่เพื่อทำงาน แต่มาทำงานเพื่อต้องการเข้าสังคมครับ เคยเห็นหลายๆ ท่านที่พองานเสร็จแล้ว แทนที่จะกลับบ้าน กลับเตร็ดเตร่ ถ่วงเวลาอยู่ที่ทำงานต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเพื่อนๆ จะกลับ ถึงจะกลับพร้อมกัน ดังนั้นก็เลยไม่แปลกใจเลยนะครับว่าทำไมเดี๋ยวนี้เราถึงเห็นคนอยู่ในสถานที่ทำงานนานกว่าสิบชั่วโมงขึ้นไป

สถานที่ทำงานได้กลายเป็นแหล่งที่เพื่อนร่วมงานจะได้มีโอกาสเข้ามาสังสรรค์ พบเจอ และมีปฏิสัมพันธ์กัน และที่สำคัญสำหรับหลายๆ ท่านแล้ว สังคมในสถานที่ทำงานกลับกลายเป็นสังคมเดียวที่เรามี สำหรับบางท่านแล้วการอยู่ในที่ทำงานกลับกลายเป็นมีความสุขกว่าอยู่บ้าน เนื่องจากอยู่ที่ทำงานมีเพื่อน มีสังคม มีเครื่องอำนวยความสะดวก มีอาหารการกินที่สมบูรณ์ แต่พอกลับบ้านกลับเจอแต่ห้องเปล่าๆ ที่แทบไม่มีอาหารติดก้นครัว หรือ บางท่านอยู่ที่ทำงานก็ได้รับการยกย่อง มีสถานะที่ดี แต่พอกลับบ้าน กลับต้องไปเจอแต่เรื่องปวดหัวในครอบครัว ทำให้คนจำนวนมากเลือกที่จะอยู่ในสถานที่ทำงานนานขึ้นเรื่อยๆ

สาเหตุประการสุดท้ายก็หนีไม่พ้นความเป็นโลกาภิวัตรหรือความเป็นสากลในการทำงานมากขึ้น ดูเหมือนว่าในปัจจุบันการบินไปประชุมหรือทำงานในต่างประเทศ จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกับการขับรถไปทำงานแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากการดำเนินงานขององค์กรจำนวนมากได้ครอบคลุมมากว่าเพียงแค่หนึ่งประเทศ ผมเองก็เจอเพื่อนหลายคนที่ต้องเข้าร่วม Conference Call กับต่างประเทศในช่วงกลางดึกหรือแต่เช้ามืดกันเป็นประจำ

เชื่อว่าสาเหตุต่างๆ ข้างต้นคงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งนะครับ ที่ทำให้ผู้บริหารในปัจจุบันทำงานกันหนักมากขึ้น (หนักมากแค่ไหน ลองกลับไปดูเนื้อหาในสัปดาห์ที่แล้วนะครับ) คำถามสำคัญต่อมาคือทำงานหนักขนาดนี้แล้วชีวิตจะมีความสุขหรือไม่? เชื่อว่าในระยะยาวแล้วคงไม่ครับ จากการสำรวจจากงานวิจัยชิ้นเดียวกันพบว่าร้อยละ 69 ของผู้บริหารที่ทำงานหนักเชื่อว่าตนเองจะมีสุขภาพดีขึ้นถ้าไม่ทำงานหนักเท่าที่เป็นอยู่ ร้อยละ 58 เชื่อว่าการทำงานส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับลูกๆ ร้อยละ 46 เชื่อว่าการทำงานส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตคู่

นอกจากปัญหาเรื่องสัมพันธภาพกับบุคคลรอบข้างแล้ว ลองสังเกตผู้บริหารเหล่านี้ดูนะครับว่าจะมีอาการ Burnout หรือหมดสภาพเร็วกว่าปกติ เคยเจอในบริษัทกฎหมายบางแห่งที่ผู้บริหารทำงานหนักมากๆ จะเกษียณอายุตนเองตั้งแต่สี่สิบปลายๆ ห้าสิบต้นๆ ครับ เนื่องจากทำงานหนักมาตลอดและหมดสภาพเร็วกว่าปกติ

            ท่านผู้อ่านต้องลองเลือกและพิจารณานะครับว่าในปี 2550 นั้นท่านจะทำงานหนักตามเนื้อหาในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่? ข้อดีก็มีเยอะนะครับ แต่ข้อเสียก็ส่งผลเสียในระยะ ท่านผู้อ่านคงต้องเลือกเอาเองนะครับ