28 January 2007
สองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้นำท่านผู้อ่านไปพบกับเรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์สัปดาห์นี้ขอพาท่านผู้อ่านมาพบกับเรื่องของความสุข (Happiness) กันบ้างนะครับ ในช่วงสี่ห้าเดือนที่ผ่านมาเมืองไทยเราเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของความสุขกันมากขึ้น ผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆ ท่านก็เริ่มพูดถึงการสร้างความสุขในบ้านเมืองกันมากกว่าการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ประจวบกับในสิ้นปีที่ผ่านมาผมได้ซื้อหนังสือเกี่ยวกับความสุขมาสองเล่มครับ เล่มแรกชื่อ Happiness (จากศูนย์หนังสือจุฬาฯ) เล่มที่สองชื่อ Stumbling on Happiness (จากเอเซียบุคส์) ทำให้ทราบว่าในเรื่องของความสุขนั้นเป็นศาสตร์ที่ได้มีการศึกษากันอย่างจริงจังพอสมควร และสัปดาห์นี้ขอนำเนื้อหาจากหนังสือ Happiness (เขียนโดย Richard Layard) มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านกันก่อนนะครับ เผื่อทุกท่านจะได้มีความเข้าใจเรื่องของความสุข และมีความสุขกันมากขึ้น
เนื่องจากผู้ที่เขียนหนังสือเล่มนี้เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ดังนั้นโจทย์ที่เปิดตัวหนังสือก็เลยมีความสัมพันธ์กับด้านเศรษฐศาสตร์กันพอสมควรครับ นั้นคือในอดีตเรามักจะคิดว่าการมีเงินทองหรือทรัพย์สินมากขึ้นควรจะทำให้เรามีความสุขกันมากขึ้น แต่จากผลงานวิจัยของประเทศตะวันตกกลับพบว่า การที่ชาวตะวันตกมีเงินทองและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นนั้น กลับไม่ได้ทำให้พวกเขามีความสุขเพิ่มขึ้นเลย (จริงๆ งานวิจัยนี้เขาทำการทดลองในอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่นครับ และได้ผลเหมือนกันทั้งสามประเทศ) ถ้ามองง่ายๆ ก็คือถ้าเทียบมาตรฐานการดำรงชีวิต ทรัพย์สิน เงินทองของมนุษย์เราในปัจจุบันเทียบกับเมื่อห้าสิบปีที่ผ่านมานั้น เชื่อว่าเราสามารถบอกได้ว่าคนเรามีทรัพย์สิน เงินทอง ตลอดจนความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตที่มากขึ้น แต่เมื่อเทียบระดับความสุขของคนเราในปัจจุบันกับเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว กลับพบว่าเราไม่ได้มีความสุขกันเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ทีนี้ถ้าเรื่องของทรัพย์สินเงินทองไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้คนมีความสุขเพิ่มขึ้น คำถามสำคัญคืออะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเรามีความสุขเพิ่มขึ้น? ผมว่าคำถามนี้น่าจะเป็นคำถามสำคัญที่บรรดานักการเมือง ผู้ปกครองประเทศ และผู้บริหารองค์กรต่างๆ ควรจะได้พิจารณานะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ เมื่อเราจะมีการเลือกตั้งกันใหม่นั้น น่าจะตอบคำถามให้กับประชาชนได้ว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนในประเทศมีความสุขเพิ่มขึ้น?
ทีนี้ก่อนเตลิดกับภาพมหภาค ผมขอนำท่านผู้อ่านย้อนกลับมาดูที่แต่ละบุคคลก่อนนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสุขของแต่ละคน จากพัฒนาการของเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ทำให้เราเริ่มค้นพบกันว่าเรื่องความสุขของแต่ละคนนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของอารมณ์และความสุขในแบบที่เราเคยคิดกันเพียงอย่างเดียว แต่ความสุขเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองเราด้วยครับ จากงานวิจัยทางการแพทย์ทำให้เราพบว่าความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นจะมาจากสมองด้านซ้ายของเรา (สมองบริเวณหลังหน้าผาก) ในขณะเดียวกันความรู้สึกที่ไม่ดี (Bad Feelings) จะมาจากสมองฝั่งขวา (หลังหน้าผาก) มีงานวิจัยที่พบว่าถ้าผู้ป่วยที่ได้รับความกระทบกระเทือนของสมองซีกซ้าย จะทำให้คนผู้นั้นมีความหดหู่มากกว่าการได้รับผลกระทบกระเทือนจากสมองซีกขวา
เมื่อใช้เครื่องวัดการทำงานของสมองเรา ในขณะที่กำลังมีความรู้สึกที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์นั้น จะพบว่าเมื่อผู้ทดลองมีความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นสมองข้างซ้ายจะถูกกระตุ้นมากกว่าข้างขวา แต่เมื่อเป็นทุกข์สมองข้างขวาจะถูกกระตุ้นมากกว่าข้างซ้าย ทำให้พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ของเราและกิจกรรมในสมอง และสิ่งที่ค้นพบอีกก็คือคนเราแต่ละคนนั้นจะมีระดับความตื่นตัวของสมองในฝั่งซ้ายและขวาไม่เท่ากัน พวกที่สมองฝั่งซ้ายมีการทำงานหรือมีกิจกรรมมากกว่าคนทั่วๆ ไป จะเป็นพวกที่มีอารมณ์หรือมองโลกในแง่ดี มีความสุข รวมทั้งมีความจำที่ดีกว่าบุคคลที่สมองข้างซ้ายทำงานน้อยกว่าปกติ
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับความสุขแล้ว ยังมีงานวิจัยที่พบอีกด้วยครับว่าพวกที่มีความสุขมากกว่ามีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวกว่า โดยบุคคลที่มีความสุขนั้นจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคและระดับความเครียดที่ดีกว่าบุคคลอื่น และเมื่อเผชิญกับเชื่อโรคต่างๆ พวกที่มีความสุขจะมีโอกาสติดเชื้อนั้นน้อยกว่า (ในช่วงที่เชื้อไวรัสนานาชนิดกำลังระบาดเช่นในปัจจุบัน ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด อาจจะเป็นการสร้างความสุขให้มากที่สุดนะครับ) มีงานวิจัยอีกชิ้นที่เขาสำรวจพวกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ของอเมริกา แล้วพบว่าพวกที่ได้รับรางวัลนั้นจะมีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวกว่าพวกที่ได้รับการเสนอชื่อแต่ไม่ได้รับรางวัลประมาณ 4 ปี เรียกได้ว่าพอได้รับรางวัลแล้วก็จะทำให้มีความสุขมากขึ้น อายุก็จะยืนยาวมากขึ้น
ทีนี้เมื่อเราทราบแล้วว่าความสุขของคนเราสามารถที่จะวัดออกมาได้อย่างชัดเจน เรามาดูต่อนะครับว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ดังที่ได้นำเสนอไว้ในตอนต้นแล้วว่าการมีเงินหรือทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่รับรองว่าคนเราจะมีความสุขเพิ่มขึ้น แต่มีงานวิจัยที่พบว่าถ้าเรารวยขึ้นเมื่อเทียบกับบุคคลอื่นแล้วเราจะมีความสุขเพิ่มขึ้น แต่การที่ทั้งสังคมมีฐานะที่ดีขึ้น จะไม่ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ แล้ว ทำให้เราพบอีกครับว่า ถ้าเราหรือสังคมมีความยากจนอยู่แล้ว การที่ทั้งสังคมมีฐานะที่ดีขึ้น จะทำให้คนในสังคมนั้นมีความสุขเพิ่มขึ้น แต่เมื่อสังคมนั้นมีฐานะถึงระดับหนึ่งแล้ว การมีทรัพย์สินที่มากขึ้น กลับไม่ได้ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น
เมื่อย้อนกลับมาดูตัวเรา ก็เห็นจะจริงนะครับ นั้นคือถ้าเรายากจนอยู่ แล้วมีฐานะที่ดีขึ้น ย่อมทำให้เรามีความสุขขึ้นจากตอนที่ยากจน แต่เมื่อมีฐานะในระดับหนึ่งแล้ว การมีเงินมากขึ้น กลับไม่ได้ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น ดังนั้นพวกคนฐานะดี เศรษฐี นายทุนทั้งหลายครับ การที่ท่านมุ่งมั่นหาเงินเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะจากการกระทำที่ผิดกฎหมายและศีลธรรม) ไม่ได้ทำให้ท่านมีความสุขเพิ่มขึ้นหรอกนะครับ เผลอๆ เมื่อเวลาผ่านไปท่านอาจจะต้องเป็นทุกข์กับการกระทำของท่านก็ได้