11 February 2007

สัปดาห์นี้คงจะเป็นตอนสุดท้ายในเรื่องเกี่ยวกับความสุข (Happiness) หลังจากนำมาเสนอมาแล้วสองตอนนะครับ เอาไว้โอกาสเหมาะเมื่อไร จะนำเรื่องนี้มานำเสนออีกนะครับ แต่ก่อนจบในเรื่องนี้ ก็อยากจะพาท่านผู้อ่านมาดูกันนะครับว่าความสุขเกิดจากอะไร? ในเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้นำเสนอไว้แล้วว่ารายได้ และยีนส์ (พันธุกรรม) ก็ส่งผลต่อความสุขของเราได้ในระดับหนึ่ง

Richard Layard นักเศรษฐศาสตร์ที่หันมาเขียนหนังสือชื่อ Happiness ได้ระบุไว้ว่ามีปัจจัยที่สำคัญหกประการ (นอกเหนือจากเรื่องเงินและพันธุกรรม) ที่ส่งผลต่อความสุขของคนเรา แต่ก่อนที่จะมาดูปัจจัยที่นำมาสู่ความสุขนั้น เรามาดูก่อนนะครับว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ไม่ส่งผลต่อความสุขบ้าง Layard ระบุไว้ว่า อายุ เพศ ความฉลาด ระดับการศึกษา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสุขของเราโดยตรง เพียงแต่ปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความสุขบ้างเท่านั้น

ปัจจัยที่นำไปสู่ความสุขโดยตรงของคนเราประกอบด้วยปัจจัยทั้งหมดหกประการ เริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว จากงานวิจัยของต่างประเทศพบว่าคนเราจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้นเมื่อแต่งงาน ซึ่งเป็นจริงทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย  ก่อนแต่งงานสองหรือสามปีเพิ่มมากขึ้น และจะมีความสุขสูงสุดในปีที่แต่งงาน หลังจากแต่งงานได้ปีหนึ่งระดับความสุขอาจจะลดลงบ้าง แต่ก็ยังสูงกว่าก่อนแต่งงาน (ผมมีลูกน้องคนหนึ่งเพิ่งแต่งงานไป เท่าที่สังเกตก็จะเริ่มมีความสุขจนกลมเลยครับ) นอกจากนี้ยังพบอีกนะครับว่าคนที่แต่งงานจะมีอายุยืนกว่าคนที่เป็นโสด

ปัจจัยประการที่สองคือเรื่องงานครับ โดยเฉพาะงานที่เมื่อทำแล้วรู้สึกว่าตนเองมีประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคมหรือบุคคลอื่น จะทำให้เรามีความสุขเพิ่มมากขึ้น พบว่าเมื่อคนเราตกงาน ระดับความสุขจะลดลง ซึ่งไม่ใช่เพราะรายได้ลดลงนะครับ แต่เกิดจากความรู้สึกในประโยชน์และคุณค่าของตนเองลดลง

ปัจจัยประการที่สามคือสังคมรอบๆ ตัวและเพื่อนร่วมงานครับ ถ้าเรามีความรู้สึกว่าคนรอบๆ ตัวเรามีความเป็นมิตร สามารถที่จะไว้วางใจได้ จะทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นครับ มีงานวิจัยที่ถามว่าเราสามารถไว้ใจคนรอบข้างได้หรือไม่? ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับว่าคำตอบจากประเทศต่างๆ ในโลกนี้ต่างกันมากเลยครับ ในประเทศบราซิลนั้นอยู่ที่ 5% ส่วนประเทศนอร์เวย์อยู่ที่ 64% นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ผู้วิจัยแกล้งทำกระเป๋าเงินตกลงบนท้องถนน โดยมีชื่อที่อยู่ของเจ้าของกระเป๋าอยู่ และพบว่าในประเทศที่มีอัตราการส่งกลับคืนสูงสุดนั้นเป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เช่นเดียวกันครับ น่าสนใจนะครับ อยากจะรู้เหมือนกันว่าอัตราการส่งคืนในเมืองไทยจะเท่ากับเท่าใด

ปัจจัยประการที่สี่เป็นเรื่องของสุขภาพครับ ซึ่งเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะเห็นด้วย เพียงแต่เรื่องที่น่าแปลกใจก็คือสุขภาพกลับไม่ได้เป็นปัจจัยอันดับแรกที่ส่งผลต่อความสุขของคนนะครับ เข้าใจว่าเป็นเพราะเราสามารถปรับตัวและยอมรับต่อสุขภาพของเราได้เป็นอย่างดีครับ

ปัจจัยประการที่ห้าได้แก่ความอิสระส่วนตัว หรือ Personal Freedom ครับ ตอนแรกผมก็นึกว่าเป็นอิสระส่วนบุคคลนะครับ แต่คนที่เขียนหนังสือดังกล่าวเป็นนักเศรษฐศาสตร์เขาก็เลยมองเรื่องของ Personal Freedom เป็นเรื่องมหภาคครับ จากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ จะพบว่าในประเทศที่ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียง รัฐบาลที่มีคุณภาพ (ปราศจากการทุจริตและระบบการบริการที่มีประสิทธิผล) ประเทศปราศจากความรุนแรง ประชาชนในประเทศนั้นจะมีความสุขมากกว่าประเทศที่มีลักษณะตรงข้าม (น่าสงสัยนะครับว่าประเทศไทยในรอบสามสี่ปีที่ผ่านมา ประชาชนจะมีความสุขเพิ่มขึ้นหรือลดลง?)

ปัจจัยประการสุดท้ายเป็นเรื่องค่านิยมของแต่ละคนครับ (Personal Value หรือ Philosophy of Life)  ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ และเป็นเรื่องที่เรากำลังให้ความสำคัญในปัจจุบันครับ เนื่องจากความสุขของแต่ละคนย่อมจะมาจากตัวเราเองครับ คนเราจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้น เมื่อพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่เปรียบเทียบกับผู้อื่น เราจะพบความสุขจากภายในตัวเราเองครับ มีงานวิจัยที่พบอีกครับว่าผู้ที่เชื่อในศาสนาหรือพระเจ้า จะมีความสุขมากกว่าผู้ที่ไม่ศรัทธา ทำให้เกิดข้อสงสัยเหมือนกันนะครับว่า ความเชื่อนั้นนำไปสู่ความสุข หรือ เมื่อเรามีความสุขแล้วจะทำให้เราเชื่อ แต่ก็เชื่อว่าปัจจัยทั้งสองประการมีส่วนสัมพันธ์กันครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับปัจจัยทั้งหมดที่นำไปสู่ความสุข? จริงๆ สิ่งที่ฝรั่งเขาคิดก็ไม่แปลกใหม่นะครับ เพียงแต่มีพื้นฐานมาจากงานวิจัยเป็นหลักครับ ทำให้มีสิ่งที่พิสูจน์หรืออ้างอิงได้ครับ นอกจากนี้ยังมีการพบอีกครับเรายากที่จะมีความสุขถ้าไม่มีการตั้งเป้าหมายต่างๆ ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายในเรื่องต่างๆ และพยายามเพื่อให้บรรลุเป้านั้นเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขเหมือนกันครับ เหมือนกับหลักการด้านการบริหารจัดการเลยครับ ที่ต้องเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายเป็นหลัก อย่างไรก็ดียังพบอีกนะครับว่าถ้าเป้าต่ำเกินไปก็ทำให้เราเบื่อได้ง่ายครับ แต่ถ้าสูงเกินไปและยากที่จะบรรลุก็ทำให้เราหงุดหงิดครับ ดังนั้นเคล็ดลับก็คือเป้าจะต้องท้าทายแต่ก็ไม่ยากจนเกินไปครับ เป้าที่ไม่สามารถบรรลุได้ จะทำให้เราหดหู่ครับ แต่เป้าที่ต่ำเกินไปก็น่าเบื่อนะครับ