3 December 2006
สองสัปดาห์ที่ผ่านผมได้นำเนื้อหาในเรื่องเกี่ยวกับความฉลาดทางสังคม หรือ ที่เรียกว่า Social Intelligence (โดยนำเนื้อหามาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ Daniel Goleman) มานำเสนอไว้ เนื้อหาในสองสัปดาห์ก่อนได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับการค้นพบใหม่ๆ ในด้านประสาทวิทยา ซึ่งทำให้นำไปสู่พัฒนาการของการค้นพบแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) ในสัปดาห์นี้เราเข้าสู่เนื้อหาหลักนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาดูว่าความฉลาดทางสังคมคืออะไร? มีองค์ประกอบอย่างไร? และท่านผู้อ่านก็ลองพิจารณาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ท่านพบเจอในชีวิตประจำวันนะครับ เผื่อจะสามารถพัฒนาความฉลาดทางสังคมได้ขึ้นมาอีก
เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทราบกันแล้วว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมประเภทหนึ่ง เราต้องอยู่ในสังคมตลอดเวลา แต่ท่านผู้อ่านลองสังเกตซิครับว่าคนบางคนก็สามารถเข้าสังคมเก่ง บางคนก็มีปัญหาในด้านการเข้าสังคม แต่เรื่องของความฉลาดทางสังคมนั้น ไม่ใช่เรื่องของการเข้าสังคมเก่งอย่างเดียวนะครับ แต่ผมมองว่าเป็นความสามารถของเราในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมในอย่างกลมกลืน และมีความสุข และในขณะเดียวกันก็สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมเพื่อให้บรรลุในวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ Daniel Goleman ได้แบ่งความฉลาดทางสังคมออกเป็นสองประเด็นใหญ่ๆ ครับ เรื่องแรกคือ Social Awareness หรือความสามารถของเราในการรับรู้เกี่ยวกับผู้อื่นในสังคม ซึ่งในส่วนนี้รวมทั้งการรับรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความเข้าใจในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น เรียกได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้เกี่ยวกับบุคคลและสังคมที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง
ในส่วนที่สองเป็นสิ่งที่เรียกว่า Social Facility นั้นคือปฏิสัมพันธ์ที่เราแสดงกับผู้อื่นในสังคม โดยเรื่องของ Social Facility นั้นจะเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องจาก Social Awareness นะครับ โดยเมื่อเรารับรู้เกี่ยวกับบุคคลและสังคมรอบข้าง ก็ต้องมีความต่อเนื่องครับ นั้นคือเราจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่มีความเหมาะสมและประสิทธิผล เพื่อให้เราสามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข
เราลองมาดูทีละประเด็นกันนะครับ แล้วท่านผู้อ่านจะพบว่าเรื่องของ Social Intelligence นั้นเป็นสิ่งที่เรารับรู้และปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องแล้ว เพียงแต่ขาดการอธิบายโดยใช้หลักทางด้านวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์เข้ามาช่วยเหมือนที่จะนำเสนอต่อไป ในส่วนของ Social Awareness หรือ การตระหนักหรือรับรู้ทางสังคมนั้น มีองค์ประกอบย่อยอีกสี่ประการครับ ได้แก่ Primal Empathy, Attunement, Empathic Accuracy, และ Social Cognition ครับ Primal Empathy นั้นเป็นเรื่องของการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่นในสังคมครับ โดยการที่เราสามารถรับรู้อารมณ์หรือความรู้สึกของผู้อื่นได้นั้น ซึ่งการที่เรารับรู้อารมณ์และความรู้ของผู้อื่นนั้นก็เนื่องมาจาก Mirror Neuron ดังที่ผมได้เคยนำเสนอไว้แล้วในสองสัปดาห์ที่แล้ว
การรับรู้ถึงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้อื่นตามแนวทาง Primal Empathy นั้น มักจะเป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นตามสัญาชาติญาณที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นเมื่อรับรู้แล้ว ก็เข้าสู่ขั้นที่สองหรือ Attunement ครับ ซึ่งเป็นเรื่องของการให้ความสนใจและตั้งใจฟังบุคคลอื่นอย่างเต็มที่ เพื่อให้สมองของเราและคู่สนทนาสามารถที่จะเชื่อมต่อและส่งสัญญาณถึงกันได้อย่างเต็มที่ ความสามารถในการรับฟังอย่างสนใจและตั้งใจ เป็นความสามารถที่สำคัญทางสังคมอย่างหนึ่ง เพราะการฟังอย่างตั้งใจจริงๆ จะทำให้เราสามารถจับสัญญาณต่างๆ ที่มากับอวัจนะภาษามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง สายตา หรือ สีหน้า การฟังที่ดีจะทำให้เราเข้าใจในอารมณ์และความต้องการของคู่สนทนาได้มากขึ้น มีการกล่าวกันว่าความสามารถและความสนใจในการฟังที่ดีนั้นเป็นตัวแปรที่สำคัญในการทำให้คนบางคนประสบความสำเร็จเหนือผู้อื่น เนื่องจากถ้าเราเป็นผู้ฟังที่ดี ก็จะทำให้เราเข้าใจทั้งอารมณ์ ความรู้ และความต้องการของผู้พูดได้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญการฟังอย่างตั้งใจยังช่วยให้อารมณ์ของทั้งผู้พูดและผู้ฟังเชื่อมโยงกันมากขึ้น
แนวทางประการที่สามคือ Empathic Accuracy ซึ่งก็คือการทำความเข้าใจในความคิด อารมณ์ และความปราถนาของคู่สนทนา ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากสองแนวคิดแรกครับ โดยการอ่านหรือทำความเข้าใจที่ถูกต้องต่อ อารมณ์ ความคิด และความมุ่งหวังของอีกฝ่ายถือเป็นปัจจัยที่สำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ครับ สังเกตได้ง่ายๆ ก็บรรดาคู่สมรสต่างๆ ครับ ท่านผู้อ่านลองดูนะครับ ถ้าสามี ภรรยา คู่ไหนสามารถทำความเข้าใจในอารมณ์ ความรู้สึก และความมุ่งหวังของอีกฝ่ายได้ดีเท่าใด ก็น่าจะยิ่งทำให้ชีวิตสมรสมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและยืนยาวมากขึ้นเท่านั้น
ประการสุดท้ายคือ Social Cognition ครับ ซึ่งเป็นความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับสังคมรอบๆ ตัวเราครับ ซึ่งใน Social Cognition นั้น จะส่งผลต่อการแสดงปฏิกริยาต่างๆ ในสังคม เช่น ถ้าเราเข้าไปในสถานที่ๆ สงบ เช่น ศาสนสถาน เราก็ควรจะปฏิบัติตัวด้วยความสงบ นอกจากนี้คนที่เก่งทางด้าน Social Cognition ก็เป็นพวกที่สามารถอ่านสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในองค์กรขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ท่านผู้อ่านสังเกตซิครับ บางครั้งเราเข้าไปในห้องแล้วมีความรู้สึกว่าบรรยากาศในห้องกำลังอึมครึม ทั้งๆ ที่ไม่มีใครบอกเรา ก็ถือว่าเป็นความสามารถทางด้าน Social Cognition อย่างหนึ่งครับ คนที่มี Social Cognition เก่ง จะมีความสามารถในการประเมินสถานการณ์รอบๆ ด้านและปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ได้อย่างดี ลองสังเกตพวกที่ Social Cognition ไม่ดีซิครับ คนพวกนี้พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด ในสถานการณ์ที่ไม่ควรพูด เรียกได้ว่าพูดไม่ดูตาม้าตาเรือครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับเรื่องของ Social Awareness คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับ ท่านผู้อ่านลองนำไปทบทวนดูในการดำเนินชีวิตของท่านนะครับ โดยเฉพาะเมื่อท่านเข้าสังคมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้น ท่านมีความสามารถในการรับรู้ อารมณ์ ความรู้สึก ของคู่สนทนาหรือไม่? และท่านตั้งใจฟัง เพื่อเข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึกของบุคคลผู้นั้นอย่างลึกซึ้งหรือไม่? และท่านรับรู้ต่อสถานการณ์รอบๆ ตัวท่านที่กำลังเกิดขึ้นหรือไม่? สัปดาห์หน้าเราจะมาพิจารณากันต่อนะครับ ว่าเมื่อเรารับรู้ต่อสัญญาณต่างๆ เหล่านี้แล้ว เราควรจะเข้าไปทำอะไรได้บ้าง