7 January 2007
โดยปกติผมมักจะนำเนื้อหาทางด้านวิชาการต่างๆ มานำเสนอท่านผู้อ่านจากงานวิชาการต่างประเทศ แต่เปิดปีใหม่ 2007 ผมขอนำงานวิจัยในเมืองไทยมานำเสนอบ้างนะครับ โดยในช่วงปีใหม่ผมได้รับหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งจาก ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ท่านหนึ่งของไทยและเป็นรองอธิการบดีของจุฬาฯ หนังสือเล่มนี้ชื่อ สังคม สว. (ผู้สูงวัย) ซึ่งเป็นหนังสือที่อ.เกื้อ เขียนโดยกลั่นมาจากงานวิชาการต่างๆ ที่ผ่านมาเกี่ยวกับประชากรศาสตร์ในเมืองไทย ให้อยู่ในลักษณะที่สามารถอ่านและเข้าใจง่าย ซึ่งพอได้อ่านแล้วผมก็อดไม่ได้ที่จะขอนำเนื้อหาในบางส่วนมานำเสนอท่านผู้อ่าน
เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทราบกันอยู่แล้วนะครับว่าในอนาคตประเทศไทย รวมทั้งอีกหลายๆ ประเทศในเอเซีย จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น ในประเทศไทยเองเราเคยมีปัญหาเรื่องประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างสูงในอดีต ทำให้ประเทศไทยต้องมีการรณรงค์เรื่องการคุมกำเนิดกันอย่างขนานใหญ่ ทำให้อัตราเจริญพันธุ์รวมลดจาก 6.3 คนในช่วงปี 2507-2508 เป็น 1.82 ในช่วงปี 2543-2548 และ 1.8 ในปี 2549 ซึ่งอัตราเจริญพันธุ์ที่ 1.8 นั้นทางประชากรศาสตร์เขาถือว่าต่ำว่าระดับทดแทนที่มีค่าอยู่ที่ประมาณ 2.05-2.1 (อัตราทดแทนคิดง่ายๆ ครับว่าสตรีท่านหนึ่งควรจะมีลูกเพื่อทดแทนตนเองและสามี ดังนั้นอัตราทดแทนที่เหมาะสมจึงอยู่ประมาณสองกว่าๆ)
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะครับว่าทำไมอยู่ดีๆ อัตราการเจริญพันธุ์ของคนไทยถึงได้ลดลงอย่างมากมายขนาดนี้ การรณรงค์เรื่องของการคุมกำเนิดก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งนะครับ (ยังจำพวกคำขวัญต่างๆ ได้หรือเปล่าครับ เช่น “มีลูกมากจะยากจน” หรือ “มีลูกดีไม่เกินสอง”) ส่วนสาเหตุอื่นๆ ก็มีอีกครับ เช่น อายุเฉลี่ยของคู่สมรสมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งสังเกตได้ชัดเจนครับว่าหนุ่มสาวในปัจจุบันกว่าจะได้เริ่มแต่งงานก็มักจะใกล้หรือเลยเลขสามไปแล้ว ในขณะที่อดีตนั้นจะอยู่ที่เลขสองกลางๆ ผลจากการแต่งงานช้า ทำให้หญิงไทยมีบุตรคนแรกเมื่อมีอายุสูงขึ้น และทำให้มักจะลังเลที่จะมีบุตรคนที่สองเนื่องจากอายุที่มากขึ้น
นอกจากนี้สาเหตุที่สำคัญอีกประการที่ทำให้อัตราเจริญพันธุ์ของไทยลดลงก็คือแนวโน้มที่คนไทยจะอยู่เป็นโสดมากขึ้น ซึ่งถ้าพิจารณาจากข้อมูลสำมะโนประชากรย้อนหลังกลับไปสามสิบปี จะพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโสดมากกว่าผู้ชาย ซึ่งสาเหตุสำคัญก็พอจะเดากันได้ครับว่าหนีไม่พ้นการที่หญิงไทยมีระดับการศึกษาสูงขึ้น ทำงานนอกบ้านมากขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจก็คือในบางประเทศนั้น หญิงชายที่อยู่เป็นโสดจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มกาฝาก (Parasite Single) ครับ (เขียนถึงตรงนี้ก็เสียวสันหลังครับ เพราะยังมีเพื่อนเป็นโสดอยู่เยอะครับ โดยเฉพาะสุภาพสตรี) โดยเขามองกันว่ายิ่งกลุ่มกาฝากเพิ่มมากขึ้นเท่าใด สัดส่วนของผู้สูงอายุก็จะเพิ่มสูงเร็วขึ้นเท่านั้น ในประเทศญี่ปุ่นเองเขาจะมีการให้สิทธิพิเศษทางภาษีให้กับหญิงที่ทำงานและมีบุตร เพื่อเป็นการขอบคุณแก่หญิงเหล่านั้นครับ และมองว่าสตรีโสดไม่ควรจะออกมาเรียกร้องสิทธิดังกล่าวกล่าว เนื่องจากสตรีที่มีลูกนั้นจะใช้เวลาไปกับการเลี้ยงดูบุตรที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต ส่วนสตรีโสดนั้นมีเวลาที่จะเที่ยว พักผ่อนมากกว่า (อันนี้อ้างมานะครับ สุภาพสตรีโสดทั้งหลายโปรดเข้าใจนะครับ)
สาเหตุที่สำคัญประกาศสุดท้ายก็คืออัตราหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้น จากสาเหตุหลักๆ ทั้งสามประการ (แต่งงานช้าลง เป็นโสดมากขึ้น หย่าร้างมากขึ้น) ทำให้อัตราเจริญพันธุ์ของไทยลดลง ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และองค์กร ในด้านสังคมนั้นที่ชัดเจนที่สุดก็คือประชากรวัยแรงงานจะลดลง และประชากรวัยสูงอายุจะเพิ่มขึ้น ในปี 2543 มีประชากรวันสูงอายุ ร้อยละ 9.43 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 19.99 ในปี 2568 ในครอบครัวๆ หนึ่งบุคคลที่สูงวัยก็จะมีมากกว่ารุ่นเด็กๆ โดยอีกหน่อยจะเข้าสู่ยุค 1:2:4 ครับ คือเด็กรุ่นหลายหนึ่งคน ดูแลพ่อแม่สองคน และดูแลรุ่นปู่ย่าตายายอีกสี่คน ซึ่งบ้านไหนมีผู้ใหญ่เยอะและเด็กน้อย เราก็มักจะพบเหตุการณ์ที่เด็กถูกตามใจ และไม่เข้มแข็งพอเช่นในอดีต (ขาดพี่น้องที่จะมาฝึกความเข้มแข็งด้วยครับ)
สำหรับผลทางด้านเศรษฐกิจนั้น การที่ประชากรวัยทำงานลดลง โดยไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพต่อประชากรขึ้น ก็จะส่งผลต่อผลิตภาพ (Productivity) ของทั้งประเทศ นอกจากนี้กลยุทธ์การแข่งขันขององค์กรธุรกิจต่างๆ ก็ต้องปรับตัวไป โดยหันมาให้ความสนใจต่อประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น สินค้าและบริการต่างๆ ก็ต้องได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อประชากรสูงอายุ ซึ่งความต้องการต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไป นอกจากนี้องค์กรธุรกิจก็ต้องแบ่ง Segment ของประชากรสูงอายุให้ชัดเจนด้วยครับ เรามักจะนึกว่าคนอายุเกินหกสิบขึ้นไปคือผู้สูงอายุเหมือนกันหมด แต่ถ้านักการตลาดไปพิจารณาดีๆ จะพบว่าในกลุ่มคนที่อายุเกิน 60 นั้น ยังสามารถแบ่งออกเป็น Segment ย่อยๆ ได้อีก ตามความต้องการที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งก็เป็นความท้าทายของนักการตลาดต่างๆ ต่อไป
ประเด็นสุดท้ายคือผลต่อการบริหารจัดการภายในองค์กรครับ ด้วยวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์ ทำให้ในอนาคตเราจะพบประชากรสูงอายุยังคงทำงานอยู่ไปเรื่อยๆ แม้จะเลยวัยเกษียณไปแล้ว โดยบุคคลเหล่านี้ยังสามารถทำงานด้วยความกระฉับกระเฉง แถมเต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ที่สะสมมานาน (ทำให้นึกถึงรัฐบาลขิงแก่เลยครับ) ความท้าทายก็คือ จะบริหารบุคคลเหล่านี้อย่างไร? โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่อ่อนอาวุโสกว่า เนื่องจากในสังคมไทยยังเป็นสังคมที่ยังเคารพต่อผู้อาวุโส บางครั้งการมีผู้อาวุโสอยู่มากก็ทำให้ผู้บริหารรุ่นลูกรุ่นหลาน ยากที่จะตัดสินใจและทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้อย่างราบรื่น ก็ถือว่าเป็นความท้าทายในการบริหารองค์กรอย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ
เป็นอย่างไรครับ เรื่องการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของหลายๆ องค์กรนะครับ ท่านผู้อ่านที่อยากจะทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสังคม สว. ก็ลองหาหนังสือของอ.เกื้อ อ่านดูนะครับ มีขายอยู่ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ