20 October 2005
เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะพอได้ยินแนวคิดเกี่ยวกับ Game Theory กันมาบ้างนะครับ โดยในเฉพาะในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เป็นนักวิชาการสองท่านที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการนำ Game Theory ได้แก่ Thomas Schelling จากอเมริกา และ Robert Aumann จากอิสราเอล โดยทั้งคู่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการนำ Game Theory มาใช้ในการทำความเข้าใจในความขัดแย้งและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และปีนี้ไม่ใช่ปีแรกที่มีการให้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ให้กับผู้ที่ศึกษาทางด้าน Game Theory นะครับ ในปี 1994 นักวิชาการสามท่านที่เป็นผู้บุกเบิกเรื่องของ Game Theory (John Nash, John Harsanyi, Reinhart Selten) ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ จริงๆ แล้วเรื่องของ Game Theory ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่นะครับ นักเศรษฐศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ รวมทั้งนักต่างๆ ได้มีการศึกษาในเรื่องของ Game Theory มากกว่า 50 ปีแล้วครับ อาจจะกล่าวได้ว่า Game Theory ถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่กองทัพเรือของอังกฤษหาแนวทางหรือกลวิธีในการไล่จับ (หรือไล่ยิง) กองเรือดำน้ำของเยอรมัน สิ่งที่กองทัพเรืออังกฤษพบก็คือในการเล่นเกมแมวไล่จับหนูกับเรือดำน้ำของเยอรมันนั้น จะต้องมีกระบวนการและระบบในการคิด ที่จะส่งผลให้อัตราการไล่จับเรือดำน้ำเยอรมันมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น และกระบวนการและระบบในการคิดดังกล่าวก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็น Game Theory
จริงๆ แล้ว Game Theory เป็นแนวคิดในเชิงบูรณาการที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ แนวคิดนี้จะเกี่ยวข้องกับหลักการทางคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมและพฤติกรรม ในปี 1944 นักคณิตศาสตร์ชื่อ John von Neuman และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Oskar Morgenstern ได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ Game Theroy ออกมาเล่มแรกชื่อ Theory of Game and Economic Behavior ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาแนวคิดในด้านของ Game Theory และในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามที่จะผสมผสานแนวคิดของ Game Theory เข้ากับเรื่องของกลยุทธ์ และก็ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับวงการกลยุทธ์และการแข่งขันพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำ Game Theory เข้ามาใช้ในเรื่องของกลยุทธ์ในการแข่งขันและการร่วมมือกันระหว่างองค์กรธุรกิจ การนำ Game Theory มาใช้ในเรื่องของกลยุทธ์จะช่วยเรื่องของกลยุทธ์ในประเด็นหลักๆ สองประเด็นได้แก่เรื่องของการเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสม และการตัดสินใจที่ถูกต้อง ซึ่งถึงแม้จะเป็นแค่สองเรื่อง แต่ก็เป็นสองเรื่องที่ถือเป็นแก่นของกลยุทธ์แล้วนะครับ
เรามักจะชอบเปรียบเปรยกลยุทธ์การแข่งขันเป็นเหมือนการเล่นเกมหมากรุก ในปัจจุบันพบว่าพวกที่เล่นหมากรุกเก่งๆ หลายคนได้เข้ามารับผิดชอบเกี่ยวกับการวางกลยุทธ์ในบริษัทชั้นนำหลายแห่ง ทั้งนี้เนื่องจากพวกที่เล่นหมากรุกเก่งๆ จะคิดเป็นระบบและตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ได้ดี กว่าที่คนเหล่านี้จะเดินตัวเบี้ยซักตัว เขาจะต้องคิดและไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าเมื่อเขาเดินเบี้ยตัวหนึ่งไปแล้ว คู่ต่อสู้จะเดินตัวไหนเป็นการแก้เกม และเมื่อคู่ต่อสู้เดินแบบนั้นแล้ว เขาเองก็ต้องคิดล่วงหน้าสองตาล่วงหน้าเลยว่าจะต้องตอบโต้อย่างไร นอกจากนี้พวกนี้เขาจะศึกษาตัวคู่แข่งมาก่อนล่วงหน้าเพื่อทราบถึงอุปนิสัยและพฤติกรรมในการเดินหมาก เพื่อที่จะเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจต่างๆ ความสามารถในการคิดในลักษณะข้างต้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับกลยุทธ์ธุรกิจนะครับ ถ้าท่านสามารถมีข้อมูลและสามารถคิดได้ล่วงหน้าว่าการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งของบริษัทท่าน (เช่นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่) คู่แข่งจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร และท่านควรจะมีปฏิกิริยาโต้กลับอย่างไร และการเคลื่อนไหวแต่ละประการของคู่แข่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแสวงหากำไรของท่านจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างไร
ถ้าสามารถทำตามสิ่งที่นำเสนอข้างต้นได้คงจะเป็นยอดปรารถนาของผู้บริหารจำนวนมาก แต่ทุกท่านคงทราบว่าในทางปฏิบัติแล้วยากที่จะทำได้ง่ายๆ เหมือนที่ผมเขียนไป แต่ Game Theory ถือเป็นแนวคิดสำคัญที่ช่วยทำให้เกิดกระบวนการในการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อทำความเข้าใจถึงพฤติกรรม การเคลื่อนไหวของผู้เล่นต่างๆ อันจะส่งผลต่อการเลือกกลยุทธ์และการตัดสินใจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร
ถ้ามองที่พื้นฐานของ Game Theory ชื่อก็บอกไว้อย่างชัดเจนแล้วครับว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเกม ท่านผู้อ่านอาจจะนึกถึงเกมเศรษฐีที่ท่านเล่นสนุกๆ ก็ได้นะครับ ที่ในแต่ละเกมจะต้องมีกฎหรือกติกาของเกมนั้น และภายใต้แต่ละเกมก็จะประกอบด้วยผู้เล่นต่างๆ การตัดสินใจของผู้เล่นแต่ละรายจะส่งผลกระทบต่อผู้เล่นคนอื่น เพราะฉะนั้นเวลาท่านตัดสินใจแต่ละครั้ง (เช่นจะซื้อบ้านหรือคอนโดในเกมเศรษฐี) ท่านก็จะต้องคิดต่อด้วยนะครับว่าการตัดสินใจของท่านนั้นจะส่งผลต่อผู้เล่นรายอื่นๆ อย่างไร และผู้เล่นรายอื่นๆ นั้นจะมีการตัดสินใจหรือโต้ตอบอย่างไร และท่านจะได้รับผลกระทบอย่างไร ดูๆ แล้วอาจจะกล่าวได้นะครับว่า Game Theory เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราคิดในเชิงระบบได้พอสมควรนะครับ (System Thinking) ทีนี้ถ้ามองย้อนกลับมาที่การทำธุรกิจ เราก็ต้องยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจก็ถือเป็นเกมอย่างหนึ่งนะครับ ที่มีกฎกติกาของเกม มีผู้เล่นหลายๆ ราย คล้ายๆ กับเล่นเกมเศรษฐี แต่ความแตกต่างระหว่างเกมธุรกิจกับเกมเศรษฐีมีสองประการสำคัญครับ นั้นคือในเกมธุรกิจนั้นไม่จำเป็นต้องมีผู้ชนะเพียงแค่ผู้เดียว องค์กรที่เล่นอยู่ในเกมเดียวกันอาจจะประสบความสำเร็จมากกว่าหนึ่งรายก็ได้ ไม่เหมือนกับเกมเศรษฐีที่สุดท้ายแล้วจะมีผู้ที่ชนะหรือมีเงินมากที่สุดเพียงแค่คนเดียว นอกจากนี้ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการคือในเกมธุรกิจนั้นมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หยุดนิ่งไม่ว่าจะเป็นกฎกติกา ในการแข่งขัน หรือตัวผู้เล่นและพัฒนาการของผู้เล่นเอง
การจะทำความเข้าใจ Game Theory กับการตัดสินใจทางกลยุทธ์ได้ เราคงต้องมีข้อมูลที่สำคัญหลายประการเหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในสมอง (หัว) ของผู้เล่นต่างๆ ในเกมได้ มีการพูดกันว่าข้อมูลสำคัญห้าประการที่จะต้องมีสำหรับการตัดสินใจทางกลยุทธ์ (โดยอาศัย Game Theory) ประกอบด้วย 1) ประเด็นทางกลยุทธ์ ว่าอะไรคือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการตัดสินใจ 2) ใครคือผู้เล่นที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้เล่นที่จะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ของเรา 3) อะไรคือวัตถุประสงค์ทางกลยุทธ์ที่สำคัญของผู้เล่นแต่ละราย 4) อะไรคือปฏิกิริยา (Potential Actions) ที่เป็นไปได้ของผู้เล่นแต่ละราย 5) ลักษณะและโครงสร้างของเกมและการตัดสินใจเป็นอย่างไร?
เป็นอย่างไรบ้างครับ? สัปดาห์นี้เรียกน้ำย่อยแค่นี้ก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าจะเจาะให้ชัดเจนเลยว่า Game Theory สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจทางกลยุทธ์ได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในเรื่องของ Cooperition ที่พูดกันถึงอย่างแพร่หลาย