5 November 2006
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เริ่มต้นไว้เรื่องของแนวทางของการจัดทำแผนกลยุทธ์ โดยเฉพาะนำเสนอข้อมูลที่ทาง McKinsey เขาได้สำรวจถึงกระบวนการในการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรต่างๆ ทั่วโลก แล้วก็ประจวบเหมาะกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งท่านผู้อ่านก็คงจะได้ติดตามข่าวสารต่างๆ ถึงคำวิจารณทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อนโยบายของรัฐบาล ซึ่งผมขอไม่นำมาเสนอซ้ำนะครับ แต่อยากจะฝากประเด็นข้อสังเกตจากนโยบายรัฐบาล รวมทั้งข้อวิจารณ์ต่างๆ เผื่อท่านผู้อ่านจะได้ลองนำไปปรับใช้ในการวางแผนกลยุทธ์สำหรับองค์กรท่านครับ
ประเด็นแรกซึ่งเป็นข้อสังเกตจากนโยบายของรัฐบาลก็คือ ในการจัดทำแผนในระดับองค์กรนั้น (ไม่ว่าจะเรียกเป็น นโยบาย แผนบริหารราชการแผ่นดิน แผนยุทธศาสตร์ หรือ แผนกลยุทธ์) จริงๆ แล้วองค์กรควรจะเริ่มต้นจากการกำหนดวัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมายที่ต้องการบรรลุ ก่อนจากนั้นถึงกำหนดแผนหรือสิ่งที่จะทำเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว (ตามแนวทางขององค์กรทั่วไปและตามหลักสากลนิยม) หรือ กำหนดแผนงาน นโยบาย สิ่งที่จะทำก่อนแล้วค่อยมากำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ต้องการบรรลุภายหลัง (แบบกรณีนโยบายรัฐบาล)
จริงอยู่นะครับที่หลักปฏิบัติทั่วไปนั้นจะเริ่มต้นจากการกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ต้องการบรรลุก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจน มีผลผลิตและผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่ก็มีบางทฤษฎีเหมือนกันนะครับที่เขากำหนดสิ่งที่จะทำก่อนแล้วค่อยกำหนดเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ บางท่านอาจจะบอกว่าการคิดสิ่งที่จะทำก่อนแล้วค่อยตั้งเป้านั้น เหมือนกับคนที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร พอรู้แล้วค่อยมาตั้งเป้าในภายหลัง แต่ก็มีตัวอย่างหลายๆ ตัวอย่างที่ผู้บริหารเองทราบว่าควรจะต้องทำอะไร เพียงแต่ยังไม่สามารถตั้งเป้าหมายได้ เพียงแต่รู้ว่าจะต้องทำอะไร และเมื่อทำไปได้ซักระยะหนึ่งความชัดเจนก็จะมากขึ้น ซึ่งพอเริ่มชัดเจนมากขึ้น ก็สามารถตั้งเป้าหมายได้ ซึ่งในกรณีของนโยบายรัฐบาลก็คงต้องติดตามต่อไปนะครับ ว่าภายหลังจากเริ่มดำเนินงานไปได้ระยะหนึ่งแล้วจะมีการตั้งเป้าหมายในการบริหารประเทศที่ชัดเจนขึ้น
จะกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในช่วงใดก็ตาม ในความคิดเห็นของผมแล้ว จะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน เนื่องจากถ้านโยบาย แผนยุทธศาสตร์ หรือ กลยุทธ์ ขาดเป้าหมาย ผลผลิต ผลลัพธ์ที่ชัดเจนแล้ว ก็จะนำไปสู่ปัญหาอีกประการครับ นั้นคือ ไม่สามารถติดตาม ความคืบหน้าและความสำเร็จในการดำเนินงานตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งถ้าองค์กรขาดกระบวนการดังกล่าวแล้ว นอกเหนือจากการขาดกลไกในการติดตามและประเมินแล้ว ยังทำให้องค์กรไม่สามารถมีข้อมูลสำหรับการพัฒนา หรือ ปรับปรุงแผนงานที่ได้ดำเนินการไปให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากไม่ทราบว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาได้บรรลุผลสำเร็จหรือไม่? และถ้าไม่บรรลุผลสำเร็จจะต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร? ผมเองยังสงสัยอยู่เหมือนกันครับว่าเมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันหมดวาระแล้ว จะมีการแถลงหรือบอกถึงความสำเร็จในการดำเนินงานตามนโยบายได้อย่างไร ถ้าในตัวนโยบายเองขาดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ที่ชัดเจน
ในการสำรวจของ McKinsey ที่ได้เคยนำเสนอไว้ในสัปดาห์ที่แล้วนั้น ผลการสำรวจจากผู้บริหารทั่วโลกก็ชี้ออกมาตรงกันครับว่าผู้บริหารส่วนใหญ่ยังไม่พอใจกับกระบวนการในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามกลยุทธ์ เพียงแค่ร้อยละ 56 ของผู้ตอบแบบสอบถามของ McKinsey ระบุว่าที่องค์กรของตนเองมีกระบวนการในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามกลยุทธ์
ประเด็นที่สองมาจากข้อวิจารณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่หลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลจะมีอายุประมาณหนึ่งปี แต่เมื่อพิจารณาจากนโยบายต่างๆ แล้วก็เกิดข้อสงสัยว่าสิ่งต่างๆ ที่ได้แถลงนั้นจะสามารถทำได้มากน้อยเพียงใดภายในระยะเวลาหนึ่งปี ในส่วนนี้เองก็มีหลักการทางด้านการวางแผนกลยุทธ์ขึ้นมาสนับสนุนเหมือนกันนะครับ นักวิชาการต่างๆ ล้วนแล้วแต่แสดงความคิดเห็นเหมือนกันว่ากลยุทธ์ที่ดีนั้นจะต้องไม่มุ่งเน้นในทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ต้องรู้จักที่จะ Trade-Off นั้นคือเลือกที่จะทำในสิ่งที่สำคัญ จำเป็น และตนเองมีความโดดเด่น บางท่านบอกด้วยซ้ำไปว่าการตัดสินใจที่ดีทางกลยุทธ์ คือการตัดสินใจที่จะเลือกไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นการยากที่จะให้องค์กรเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับทุกคน
การที่จะเลือกหรือ Trade-Off ในการจัดทำกลยุทธ์นั้น ผู้บริหารจะต้องสามารถแยกให้ออกระหว่างานประจำที่ต้องทำเป็นปกติกับงานเชิงกลยุทธ์ครับ งานที่ทำเป็นปกตินั้นเป็นสิ่งที่องค์กรดำเนินการเป็นประจำอยู่แล้ว และสามารถทำได้ดีอยู่แล้ว ส่วนงานเชิงกลยุทธ์นั้นเป็นการพัฒนางานประจำให้ดีขึ้นหรืองานใหม่ๆ ที่จะมุ่งเน้น ดังนั้นเวลาจัดทำนโยบายหรือจัดทำแผนยุทธศาสตร์นั้น ประเด็นคำถามสำคัญที่ผู้บริหารจะต้องถามก็คือ อะไรคืองานเชิงกลยุทธ์ที่องค์กรจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญ ไม่ใช่การเขียนแผนที่ครอบคลุมงานทุกอย่างที่มีหรือดำเนินในองค์กร การคิดเชิงกลยุทธ์นั้นคือการเลือกที่จะไม่ทำในบางสิ่งบางอย่างนะครับ
ก่อนจบขอฝากประชาสัมพันธ์หนังสือของผมหน่อยนะครับ หนังสือเล่มใหม่ของผมชื่อ “ผู้นำทะลุคัมภีร์” ซึ่งเป็นหนังสือที่เรียบเรียงและรวบรวมมาจากบทความต่างๆ ที่ได้ลงในกรุงเทพธุรกิจ ได้ออกวางจำหน่ายแล้วนะครับ ท่านผู้อ่านที่สนใจก็สามารถหาได้จากร้านหนังสือทั่วไปครับ