12 October 2005

ประมาณสองสามเดือนที่แล้วผมได้เขียนบทความผ่านทางคอลัมภ์นี้เกี่ยวกับเรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์ (Strategic Risks) ไว้สองตอน พอดีเพิ่งไปอ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม เลยอยากจะนำเสนอเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้ด้วยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราพิจารณาในประเด็นที่ว่าความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่เป็นเรื่องที่เรามักจะลืมคิดถึงและละเลย บทความที่ผมไปเจอนั้นมาจากวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนเมษายน 2548 นี้ เขียนโดย Adrian J. Slywotzky และ John Drzik ในชื่อ Countering the Biggest Risk of All ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งคือคำนิยามของความเสี่ยงทางกลยุทธ์ ซึ่งดูเหมือนว่าแต่ละตำราจะยังไม่ตรงกันซักเท่าไหร่ ในบทความที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อสองสามเดือนที่แล้วนั้น ได้เสนอทางเลือกของนิยามของความเสี่ยงทางกลยุทธ์ไว้สองแนวทาง แนวทางแรก ความเสี่ยงทางกลยุทธ์คือความเสี่ยงที่ได้เลือกกลยุทธ์ที่ผิดพลาด หรืออีกนัยหนึ่งคือความเสี่ยงที่ไม่เลือกกลยุทธ์ที่ถูกต้อง อีกแนวทางหนึ่งนั้น ความเสี่ยงทางกลยุทธ์คือความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ที่สำคัญขององค์กร

ทีนี้ในบทความที่จะนำมาเสนอนี้เขากำหนดนิยามความเสี่ยงทางกลยุทธ์ในอีกแง่หนึ่ง นั้นคือความเสี่ยงทางกลยุทธ์เป็นปัจจัย เหตุการณ์ หรือแนวโน้ม ภายนอกที่จะส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ และมูลค่าที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้นะครับว่านิยามในบทความดังกล่าวค่อนข้างใกล้เคียงกับนิยามในแนวทางที่สองที่ได้เคยนำเสนอไว้แล้ว จริงๆ แล้วถ้ามองดูโดยระเอียดจะพบนะครับว่าถ้ายึดตามนิยามในบทความดังกล่าวนั้น ความเสี่ยงทางกลยุทธ์จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับข้อจำกัดหรือภัยคุกคาม (Threats) ที่เราคุ้นเคยกันดีจากการวิเคราะห์ SWOT เพียงแต่ปัจจัยภายนอกหรือข้อจำกัดเหล่านี้เป็นปัจจัยที่มีระดับความรุนแรงที่จะส่งผลต่อการเติบโตขององค์กร

ประเด็นสำคัญในการพิจารณาความเสี่ยงทางกลยุทธ์ก็คือ จะต้องพิจารณาความเสี่ยงดังกล่าวในมุมที่กว้างกว่าที่คุ้นๆ กัน เนื่องจากเราจะคุ้นกับความเสี่ยงในประเด็นที่ค่อนข้างย่อยและจำเพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของสถาบันการเงินในการที่ลูกหนี้จะกู้เงินไปและหนี้สูญ หรือ ความเสี่ยงของการรับประกันภัย หรือความเสี่ยงในการดำเนินงาน (Operational Risk) แต่ความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้นจำต้องมองในภาพกว้างและสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากพัฒนาการของเทคโนโลยีที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราล้าสมัย หรือ ความเสี่ยงที่เกิดจากพัฒนาการของตลาดที่ทำให้ตราสินค้าของเราล้าสมัย หรือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ประเด็นสำคัญของการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ก็คือจะต้องหาหนทางที่เหมาะสมในการประเมินความเสี่ยง และตอบสนองต่อความเสี่ยงเหล่านั้น จริงอยู่นะครับที่การจะวิเคราะห์ ประเมิน และหาแนวทางในการตอบสนองความเสี่ยงทางการกลยุทธ์ทุกประการย่อมเป็นเรื่องยาก ในทางปฏิบัติย่อมจะมีปัจจัยที่เราไม่ได้คำนึงและเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กร ดังนั้นยิ่งมีความจำเป็นใหญ่ครับ ที่จะต้องบริหารความเสี่ยงที่เรารู้จักให้ได้ดี

ผู้เขียนบทความดังกล่าวเขาได้จัดกลุ่มความเสี่ยงทางกลยุทธ์ที่สำคัญออกเป็นเจ็ดกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มนั้นจะเป็นกรอบกว้างๆ ที่ช่วยให้เราคิดความเสี่ยงได้ชัดเจนขึ้น และเป็นความเสี่ยงมาตรฐานที่เรามักจะพบในทุกๆ องค์กร นอกเหนือจากการจัดกลุ่มความเสี่ยงทางกลยุทธ์เหล่านั้นแล้ว ยังได้มีการเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขไว้ด้วยครับ เรามาพิจารณาความเสี่ยงทั้งเจ็ดกลุ่มกันดูนะครับ และท่านผู้อ่านก็ลองคิดขององค์กรท่านไปพร้อมๆ กันนะครับ

กลุ่มแรกจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากอัตรากำไรในอุตสาหกรรมที่เริ่มลดน้อยลง (Industry Margin Squeeze) ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ และจะพบว่าในทุกๆ อุตสาหกรรมจะมีพัฒนาการของตนเอง และการที่อุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรมพัฒนาจากขั้นตอนหนึ่งไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่งย่อมจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ย่อมจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับองค์กรในอุตสาหกรรม เช่นในอุตสาหกรรมที่กำลังเข้าสู่ยุคของการเปิดเสรีมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือธุรกิจใหม่ๆ จะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น อันจะนำไปสู่การแข่งขันในเรื่องของราคามากยิ่งขึ้น และเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้โอกาสในการได้กำไรลดน้อยลง ตัวอย่างง่ายๆ เช่น อุตสาหกรรมสายการบินในบ้านเราที่ในอดีตเรามีสายการบินไทยเจ้าเดียวที่บินภายในประเทศ แต่จากพัฒนาการของอุตสาหกรรมนี้ทำให้มีสายการบินใหม่ๆ ที่บินภายในประเทศมากขึ้น และส่วนใหญ่จะเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ส่งผลให้โอกาสในการแสวงหากำไรของการบินไทยลดน้อยลง

นอกจากนี้เรายังพบอีกนะครับว่าจากพัฒนาการของอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มักจะนำไปสู่ภาวะที่อุปทานมากกว่าอุปสงค์ (Overcapacity) สินค้าและบริการมีลักษณะเหมือนกันมากขึ้น (Commoditization) ทำให้โอกาสในการได้กำไรของบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมลดน้อยลง และสุดท้ายอุตสาหกรรมนั้นก็จะเข้าสู่ภาวะอุตสาหกรรมที่ยากจะเกิดกำไร (No-Profit Zone) เป็นไงครับความเสี่ยงในเรื่องนี้ คิดว่าเป็นความเสี่ยงทางกลยุทธ์ที่ทุกๆ องค์กรจะต้องเผชิญอยู่แล้ว เพียงแต่จะเผชิญเมื่อใดเท่านั้นเอง และส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปตามพัฒนาการของแต่ละอุตสาหกรรม ดังนั้นเมื่อเราทราบว่าจะต้องเผชิญความเสี่ยงดังกล่าว จะหาแนวทางในการป้องกัน แก้ไข หรือ ลดความเสี่ยงนั้นได้อย่างไร?

ผู้เขียนบทความนี้ได้เสนอว่าแนวทางในการลดและแก้ไขความเสี่ยงนี้สามารถทำได้โดยการที่บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมหันหน้าเข้าหากัน จับมือเป็นพันธมิตรร่วมกันมากขึ้น โดยในช่วงแรกที่ความเสี่ยงนั้นยังไม่เกิด บริษัทต่างๆ ยังสามารถที่จะแข่งขันกันเองโดยอิสระได้ แต่พอความเสี่ยงจากอัตรากำไรที่ลดลงเริ่มปรากฏ บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมคงจะต้องหันหน้าเข้ามาทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยการหันหน้าเข้าหากันนั้นสามารถที่จะทำในรูปแบบต่างๆ ได้หลายแบบ ประเด็นสำคัญอยู่ที่บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมจะต้องสามารถติดตามและประเมินความเสี่ยงในประเด็นนี้ให้ได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะตอบสนองและปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็วเมื่อความเสี่ยงเริ่มปรากฏ ถ้าความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ เกิดขึ้นช้าเกินไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือบริษัทต่างๆ ก็จะเริ่มเจ็บตัวจากการไม่สามารถประเมินและหาทางลดผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าวได้ล่วงหน้า

สัปดาห์นี้คงจะนำเสนอได้แค่ความเสี่ยงในกลุ่มแรกนะครับ ในสัปดาห์หน้าเราจะมาพิจารณาในกลุ่มอื่นๆ ต่อไป แต่ท่านผู้อ่านก็อย่าลืมเอาแนวคิดนี้ลองไปคิดในสถานการณ์ของท่านดูนะครับว่าเกิดความเสี่ยงจากพัฒนาการของอุตสาหกรรมหรือยัง?