24 September 2006

เนื้อหาสัปดาห์นี้ยังสืบเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ นั้นคือเรื่องของผู้นำกับการบริหารความขัดแย้ง ซึ่งนำมาจากหนังสือชื่อ Leading Through Conflict เขียนโดย Mark Gerzon  ซึ่งในสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอในเรื่องของความขัดแย้ง กับภาวะผู้นำ (ซึ่งพอลงตีพิมพ์ได้วันหนึ่ง ดูเหมือนว่าความขัดแย้งในบ้านเราก็เริ่มจะคลี่คลายนะครับ) ในสัปดาห์นี้จะมาดูประเภทของผู้นำกับความขัดแย้งกันหน่อยครับ ว่าในสภาวะที่เราเผชิญหน้ากับความขัดแย้งต่างๆ มากมายเช่นในปัจจุบัน ผู้นำจะมีวิธีการหรือแนวทางอย่างไรในการนำพาองค์กรผ่านความขัดแย้งไปได้ และผู้นำประเภทไหนที่มีประสิทธิผลที่สุด

Gerzon แบ่งลักษณะของผู้นำเมื่อเผชิญความขัดแย้งเป็นสามประเภทครับ ประเภทแรกเรียกว่า Demagogue ซึ่งพอเปิดพจนานุกรมดูก็เห็นเขาแปลไว้ว่า เป็นผู้ที่ตั้งตนเป็นผู้นำ โดยการล่อหลอก หรือ นักกวนเมือง ประเภทที่สองคือ Manager หรือ ผู้จัดการ และประเภทที่สามคือ Mediator หรือผู้ที่ปรองดอง พออ่านผู้นำทั้งสามประเภทแล้ว ท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นนะครับว่าผู้นำประเภทไหนที่จะมีประสิทธิผลที่สุดในการนำพอองค์กรผ่านความขัดแย้งต่างๆ เรามาพิจารณาทีละประเภทนะครับ

ขอเริ่มจากผู้นำที่เรียกว่า Demagogue ก่อนนะครับ ตัวอย่างของผู้นำประเภทนี้ในองค์กรธุรกิจอาจจะไม่เห็นชัดเจนครับ แต่ถ้ามองในระดับบ้านเมืองจะเห็นได้ชัดเจนครับ ผู้นำที่เราเรียกว่าเป็นทรราชย์หรือเผด็จการทั้งหลาย คุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำประเภทนี้คือ ชี้นำและสั่งการอื่นโดยอาศัยการข่มขู่ การทำให้ผู้อื่นหวาดกลัว ใช้การโกหกและการสร้างภาพเพื่อทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยสูญเสียภาพพจน์และความน่าเชื่อถือ

ผู้นำประเภทนี้จะชอบแบ่ง “พวกเรา” และ “พวกเขา” เพื่อก่อให้เกิดความแตกแยก เรียกว่าเป็นการบริหารด้วยการสร้างความแตกแยก นอกจากนี้ผู้นำประเภทนี้ยังชอบบิดเบือนความจริงต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ส่วนใครที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของตนเองนั้นก็ถือเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือพวกที่ทรยศ อีกทั้งยังถูกแบนไม่ให้แสดงความคิดเห็น และที่สำคัญก็ยังบิดเบือนช่องทางการสื่อสารต่างๆ ทำให้ไม่มีช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ถ้าผู้นำประเภทนี้ประสบความล้มเหลวในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็จะโทษหรือกล่าวหาคนอื่นเป็นสาเหตุหลักของความล้มเหลว (อ่านๆ ไป เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านจะเกิดความรู้สึกคุ้นๆ กับพฤติกรรมเหล่านี้นะครับ:>)

ผู้นำประเภทที่สองเรียกว่าเป็น Manager หรือ ถ้าแปลเป็นไทยตรงๆ ก็ผู้จัดการครับ จริงๆ แล้วผู้นำประเภทนี้ดีนะครับ ผิดกับประเภทแรก เนื่องจากผู้นำประเภทแรกนั้นเรียกได้ว่าไม่มีเจตนาที่ดีต่อผู้อื่นหรือทั้งองค์กร แต่ผู้นำประเภทที่สองนั้นมีเจตนาที่ดีครับ เพียงแต่วิธีการอาจจะไม่ถูกต้อง เนื่องจากมุมมอง ความต้องการ หรือแนวประพฤติของคนที่เป็นผู้จัดการนั้น จะมุ่งเน้นแต่ในส่วนงานหรือสิ่งที่ตนเองรับผิดชอบ โดยลืมภาพรวมของทั้งองค์กร ผู้นำในลักษณะจะพบได้บ่อยครับ ผมเองก็พบบ่อยในผู้บริหารระดับกลางหลายๆ ท่าน โดยผู้บริหารเหล่านี้ท่านมีเจตนาดีและมุ่งดีต่อหน่วยงานที่ท่านรับผิดชอบหรือดูแล ผู้นำประเภทนี้จะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของหน่วยงานหรือลูกน้องที่ตนเองรับผิดชอบ

ในสถานการณ์ปกติทั้งหลายที่ต่างคนต่างทำงานไป ผู้นำประภทนี้จะเป็นผู้นำที่ดีครับ เนื่องจากจะมุ่งเน้นพัฒนาลูกน้องในสังกัดตลอดเวลา อีกทั้งพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้หน่วยงานของตนเองดีขึ้น เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ สถานการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนกัน ปัญหาและการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทวีมากขึ้นทุกขณะ ดังนั้นเมื่อผู้นำที่มีลักษณะเป็น Manager จะต้องเผชิญกับปัญหาหรือความขัดแย้งที่เป็นระหว่างหน่วยงานมากขึ้น ลักษณะผู้นำแบบ Manager จึงไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันอีกต่อไป ดังนั้นถ้าท่านยังเป็นผู้นำที่เป็นแบบ Manager อยู่ ก็อาจจะต้องตระหนักแล้วครับว่า ลักษณะภาวะผู้นำของท่านถึงแม้จะมีเจตนาและความมุ่งหวังที่ดี แต่ก็ไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่มีความสลับซับซ้อนเช่นในปัจจุบัน

เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะเดาได้แต่แรกแล้วนะครับว่าลักษณะของผู้นำที่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งกันมากๆ ควรจะเป็นผู้นำที่มีลักษณะเป็น Mediator หรือผู้นำแบบปรองดอง หรือถ้าจะใช้ศัพท์ที่แพร่หลายกันในปัจจุบัน ก็ต้องเป็นผู้นำแบบสมานฉันท์ ฟังชื่อดูอาจจะนึกว่าผู้นำแบบนี้จะเน้นความปรองดอง อลุ่มอล่วยเป็นหลักนะครับ แต่ในความหมายของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้แล้ว เขามองว่า Mediator ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่การปรองดองเพียงอย่างเดียว ผู้นำในลักษณะนี้ จะต้องสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ในลักษณะองค์รวมหรือภาพรวมได้ แทนที่จะมองที่ละชิ้นหรือทีละส่วนแบบ Manager ทั่วๆ ไป ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถคิดให้เป็นระบบ (Systematic Thinking) อีกทั้งยังมีความใฝ่ที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา และเพื่อให้สามารถเกิดความปรองดองหรือสมานฉันท์ระหว่างแต่ละภาคส่วน ผู้นำประเภทนี้ก็จะต้องสามารถสร้างให้เกิดความไว้วางใจกับบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆ ได้ และสุดท้ายที่สำคัญ คือผู้นำประเภทนี้จะต้องเสาะแสวงหาแนวทางหรือโอกาสใหม่ๆ ในการเปลี่ยนความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ให้กลายเป็นโอกาส

อ่านดูคุณลักษณะของผู้นำแบบสมานฉันท์ ก็ท้าทายดีนะครับ แต่เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยว่าในสถานการณ์ปัจจุบันเราต้องการผู้นำที่มีคุณลักษณะดังกล่าวกันมาก ในทุกระดับเลยนะครับ ตั้งแต่ระดับชาติ ไล่ลงมาถึงระดับองค์กร และหน่วยงานย่อยต่างๆ