16 November 2005
เนื้อหาในสัปดาห์นี้ยังคงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ นั้นคือเรื่องของการศึกษาเพื่อแสวงหาองค์กรที่เป็นเลิศ โดยพวกนักวิชาการฝรั่งเขาชอบทำวิจัยเรื่องนี้กัน ก็เลยมีงานประเภทนี้ออกมาเยอะ ทีนี้พอออกมาเยอะเข้าก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี เพราะทุกคนก็พยายามบอกว่า อยากจะเป็นเลิศต้องทำแบบนี้ ในขณะที่อีกคนก็บอกว่าอยากจะเป็นเลิศ ต้องทำอีกแบบ แล้วทุกคนก็ยกสถิติและงานวิจัยของตนเองออกมาอ้างอิงทั้งสิ้น ทีนี้ผมก็เลยไปเจอบทความของ Julia Kirby ซึ่งเขียนในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกรกฎาคม 2548 นี้เอง ชื่อ Toward a Theory of High Performance ซึ่งได้พยายามไปรวบรวมและวิเคราะห์พวกงานวิจัยเหล่านี้ ให้เราดูกันอีกที โดยในสัปดาห์ที่แล้วผมได้เกริ่นถึงเกณฑ์หรือแนวทางที่เขาใช้ในการสำรวจว่าบริษัทไหนมีความเป็นเลิศมากกว่ากัน ซึ่งก็หาข้อสรุปไม่ได้อีกครับ เนื่องจากนักวิชาการแต่ละคนเขาก็ใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็พอจะสรุปได้อย่างหนึ่งนะครับ นั้นคือถ้าอยากจะให้องค์กรไหนมีความเป็นเลิศ ก็สามารถสร้างเกณฑ์ที่ดูแล้วเหมาะสม เพื่อให้องค์กรนั้นดูเป็นเลิศได้
ผมว่าปัญหาสำคัญที่เราอยากจะรู้มากกว่าคือ จากการศึกษางานวิจัยเหล่านี้จำนวนมาก พอจะหาได้หรือไม่ว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญร่วม ที่ทำให้องค์กรเกิดความเป็นเลิศ และการที่องค์กรมีปัจจัยเหล่านี้พอจะเป็นเครื่องพยากรณ์หรือแนวทางได้ไหมว่าจะทำให้องค์กรนั้นมีความเป็นเลิศ?
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือเมื่อเราอ่านงานวิจัยหรือหนังสือที่พยายามหาปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความเป็นเลิศนั้น เรามักจะลืมไปว่าหนังสือและตัวอย่างในหนังสือนั้นถูกเขียนและหยิบยกขึ้นมา ภายใต้บริบทและสภาวะแวดล้อมอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่สามารถใช้ได้กับอีกบริบทหนึ่ง หรือให้ง่ายเข้าก็คืออาจจะใช้ได้กับบางบริษัท บางอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาก็คือบรรดานักวิชาการมักจะศึกษาองค์กรที่ประสบความสำเร็จไม่กี่แห่ง และเมื่อเจอปัจจัยที่มีลักษณะเหมือนกันแล้ว ก็จะอนุโลมเอาเองว่าปัจจัยเหล่านั้นสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกๆ บริษัท แล้วรีบกลับไปเขียนหนังสือทันที
ท่านผู้อ่านนึกภาพง่ายๆ นะครับ ถ้าผมอยากจะทำการศึกษาในลักษณะเดียวกันในประเทศไทย ผมอาจจะไปศึกษาแนวทางการบริหารของบริษัทที่ประสบความสำเร็จที่เรายอมรับกัน อย่างเช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย เครือสหพัฒน์ ฯลฯ แล้วถ้าเจอปัจจัยที่เหมือนๆ กันซักสี่ถึงห้าประเด็น ผมก็จะมาสรุปว่าปัจจัยทั้งห้าประเด็นดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จและความเป็นเลิศ พร้อมทั้งยกตัวอย่างของบริษัทเหล่านี้เต็มหนังสือผมไปหมด ถ้าบริษัทไหนอยากจะประสบความสำเร็จเหมือนบริษัทเหล่านี้จะต้องขวนขวายและหาทางพัฒนาปัจจัยทั้งห้าประการข้างต้น ท่านผู้อ่านคิดว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จเหล่านั้นจะสามารถนำไปใช้ในทุกองค์กรได้ไหมครับ? ถ้าทุกองค์กรมีทั้งห้าปัจจัยเหมือนบริษัทต้นแบบแล้ว จะประสบความสำเร็จตาม? ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ก็คงไม่เห็นด้วยเนื่องจากภายใต้สถานการณ์ รูปแบบองค์กร ขนาดองค์กร ลักษณะของอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ประเทศที่ต่างกัน ย่อมจะทำให้ปัจจัยที่นำไปสู่ความเป็นเลิศขององค์กรไม่เหมือนกัน เช่น ปัจจัยแห่งความสำเร็จในธุรกิจขนาดใหญ่ย่อมไม่สามารถใช้ได้ในธุรกิจขนาดเล็ก หรือ อย่างที่ต่างชาติเขาสำรวจมาแล้วครับว่าการประเมินผลโดยใช้ 360 องศา (ประเมินทั้งเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง) อาจจะใช้ได้ดีในอเมริกา แต่ไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมแบบไทยๆ
นอกจากนี้ประเด็นที่ยังน่าถกเถียงกันอีกคือเรื่องของเวลาครับ ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จชั่วนิจนิรันดรหรือไม่? หรือเหมาะกับช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น? ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะต่อต้านงานประเภทนี้นะครับ เพียงแต่อยากจะเตือนให้ระวังเท่านั้นเองว่า บางทีฝรั่งเขาเขียนอะไรออกมาอ่านๆ ดูก็ดูน่าเชื่อถือดีหรอก แต่ต้องอ่านลึกๆ และเปรียบเทียบกันพอสมควร ถึงจะรู้ว่ามันใช้ได้จริงหรือมีประโยชน์เพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาพแวดล้อมแบบไทยๆ ไม่ใช่ว่าฝรั่งเขียนอะไรออกมาแล้วดีหมด
อย่างไรก็ดีเพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพที่ชัดเจน ผมขอยกตัวอย่างปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของงานบางชิ้นมาให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูแล้วกันนะครับ บางเรื่องก็เคยนำลงในบทความนี้แล้ว และขออนุญาตไม่แปลเป็นภาษาไทยนะครับ กลัวผิดความหมาย
เจ้าแรกก็ผลงานอมตะของ Peters และ Waterman ใน In Search of Excellence ครับ – 1) having a bias for action 2) staying close to the customer 3) fostering autonomy and entrepreneurship 4) gaining productivity through people 5) having hadns-on, value-driven management 6) sticking to the knitting 7) having a simple form and lean staff 8) having simulataneous loose-tight properties
เจ้าที่สองของ Arun Kumar Jain จาก Corporate Excellence ซึ่งเขาศึกษาจากบริษัทที่ประสบความสำเร็จในอินเดีย (ลองดูของเอเชียบ้างครับ) – 1) collective decision making 2) communication of core value and purpose 3) a guiding vision and stretch goals 4) development of new competencies 5) entrepreneurship and innovation 6) constant learning from the balancing of all factors 7) employee empowerment and sense of ownership 8) courage and ‘fire in the belly’ 9) global benchmarks of excellence
สุดท้ายลองดูงานของ Accenture โดย Breene และ Nunes กันบ้างนะครับ – 1) market focus and position 2) distinctive capabilities 3) high-performance anatomy
เป็นไงครับ ดูแล้วชวนปวดหัวไหมครับ? ในความเห็นของผมแล้ว งานเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ครับ แต่เราคงต้องมาเลือกดูในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเรามากกว่า ไม่ใช่ว่าเขาว่าสิ่งใดดีแล้วเราเชื่อหรือเห็นด้วยหมด ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ช่วงนี้งานจุฬาฯ วิชาการ 48 เริ่มแล้วนะครับ และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 27 พ.ย. นี้ครับ มีโครงงาน การสัมมนา และอภิปรายที่น่าสนใจหลายอย่างครับ เช่น การนำเทคโนโลยีซิวเวอร์นาโนมาผสมกับเส้นใยเสื้อผ้า ที่เมื่อใส่แล้วจะลดอัตราการเกิดแบคทีเรียลงได้ถึง 99% เลยครับ ตอนนี้ทำออกมาเป็นเสื้อยืดแล้วด้วยครับ คนทำเขาบอกผมเลยครับว่าใส่แล้วตัวไม่เหม็น ท่านผู้อ่านอย่าลืมหาโอกาสแวะไปเยี่ยมชมกันนะครับ