15 October 2006
ท่านผู้อ่านมีปัญหาเรื่องการนอนหลับไหมครับ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนอนไม่หลับหรือการนอนน้อย? หรือบางท่านจะต้องทำงานจนดึกดื่นและต้องตื่นแต่เช้าอยู่เป็นประจำ? ท่านผู้อ่านเคยสังเกตบ้างไหมครับว่าปริมาณและคุณภาพในการนอนของท่าน จะมีส่วนสัมพันธ์ต่อความสามารถในการทำงานในแต่ละวันของท่าน? ผมเจอผู้บริหารหลายท่านที่ภาระรับผิดชอบที่เยอะ ทำให้ต้องนอนดึก และรีบตื่นแต่เช้ามาทำงาน ติดต่อกันหลายๆ วัน ซึ่งผลของการนอนน้อยของผู้บริหารเหล่านี้ก็ส่งผลให้ความสามารถในการตัดสินใจ อารมณ์ หรือ ความคิดอ่านต่างๆ ถดถอยกว่าที่เคยเป็นไปได้
จริงๆ แล้วเรื่องของการนอนกับความสามารถในการทำงานเป็นสิ่งที่เรามักจะไม่ค่อยนึกถึงกันเท่าไรนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ทำงานบางแห่งจะมีค่านิยมที่ผิดๆ ด้วยซ้ำไป นั้นคือ ใครนอนดึก (เนื่องจากต้องอยู่สะสางงาน) และต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อมาทำงาน กลับจะได้รับความชื่นชมจากคนรอบข้างว่าเป็นพวกยอดมนุษย์ แต่พวกที่ต้องรีบเข้านอนแต่หัววัน และนอนให้ได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 7-8 ชั่วโมงจะถูกมองว่าเป็นพวกสันหลังยาว ไม่ขยันและกระตือรือร้นในการทำงาน ถ้าองค์กรไหนมีค่านิยมในลักษณะข้างต้น อาจจะเป็นค่านิยมที่ผิดพลาดก็ได้นะครับ เนื่องจากในปัจจุบันบรรดาแพทย์และนักวิชาการทางด้านการบริหาร ได้ออกมารณรงค์ถึงความสำคัญและความจำเป็นในการที่จะต้องนอนอย่างเพียงพอมากขึ้น
เป็นที่ทราบกันว่าการอดนอนหรือขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะส่งผลต่อความสามารถในการทำงานของเรา เพียงแต่มักจะไม่ค่อยได้พูดถึงหรือให้ความสำคัญเท่าใด ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับว่า ถ้าเราตื่นนอนติดต่อกันนานกว่า 18 ชั่วโมง (หรือตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึงเที่ยงคืน) จะทำให้ปฏิกริยาตอบสนอง ความทรงจำทั้งระยะสั้นและระยะยาว สมาธิ ความสามารถในการตัดสินใจ การรับรู้ การคำณวนตัวเลขต่างๆ เริ่มมีปัญหา ในขณะเดียวกันถ้าเราลดจำนวนชั่วโมงในการนอนลงเหลือเพียงห้าถึงหกชั่วโมงต่อวันติดต่อกันหลายๆ วัน ปัญหาต่างๆ ข้างต้นก็จะยิ่งทวีคูณมากขึ้น
ปัญหาจากการอดนอนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวท่านเองนะครับ ยังส่งผลต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อองค์กร และต่อเพื่อนร่วมโลกคนอื่นๆ อีกนะครับ ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนตุลาคมนี้ มีบทความชื่อ Sleep Deficit: The Performance Killer ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ของ Charles A. Czeisler ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้าน Sleep Medicine ที่ Harvard Medical School โดยศาสตราจารย์ด้านการนอนท่านนี้มีความเห็นว่า ในเมื่อองค์กรต่างๆ มีนโยบายในการดูแลสุขภาพพนักงาน และความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน แล้วในเมื่อการนอนเป็นสิ่งที่สำคัญ ทำไมองค์กรถึงไม่มีนโยบายในเรื่องของนอนบ้าง? แถมในหลายๆ องค์กร ยังมีวัฒนธรรมองค์กรที่ชื่นชมพวกที่นอนน้อยอีกต่างหาก
ศาสตราจารย์ Czeisler เขาได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการนอนโดยเฉพาะ และพบว่ามีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการนอนของเราครับ ลองมาดูกันนะครับ ประการแรกก็คือโดยธรรมชาติแล้วร่างกายเราจะมีการปรับความสมดุลในตัวเราเองอยู่แล้วให้นอนหลับ โดยดูจากจำนวนชั่วโมงที่เราตื่นนอน ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านจะคิดว่าตัวเราเองเป็นผู้ควบคุมว่าเราจะนอนเมื่อไรและนานแค่ไหน แต่จริงๆ แล้ว เมื่อเราเริ่มรู้สึกง่วงนอนสมองเราจะเข้ามาควบคุมการนอนของเราโดยไม่รู้ตัว และยิ่งเมื่อมีความกดดันที่ต้องนอนหลับมากขึ้นเท่าใด สมองและร่างกายของเราจะกระตุ้นให้เซลประสาทในสมองเราเข้าสู่ภาวะ “การหลับ” ซึ่งท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับ ถ้าในระหว่างนั้นเรากำลังขับรถอยู่ และสมองเราเข้ามาควบคุมภาวะการหลับของเรา อะไรจะเกิดขึ้น? ดังนั้นท่านผู้อ่านต้องอย่าย่ามใจคิดว่าตนเองสามารถควบคุมภาวะ “การหลับ” ของตนเองได้นะครับ เพราะพอถึงภาวะหนึ่งแล้ว สมองเราจะเข้ามาควบคุมภาวะ “การหลับ” ของเราโดยไม่รู้ตัวครับ
ประเด็นที่น่าสนใจถัดมาก็คือถ้าเราสามารถนอนหลับได้ไม่ต่ำกว่าแปดชั่วโมง (ผมยังมีความสงสัยเรื่องจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมอยู่เหมือนกันนะครับว่าทำไมศาสตราจารย์ท่านนี้ถึงให้ตั้งแปดชั่วโมง!) ระดับความตื่นตัวและความสามารถในการทำงานของเราก็จะอยู่ในระดับที่ดีตลอดทั้งวัน แต่ถ้าเรานอนน้อยกว่าแปดชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลาหลายๆ วัน เราจะเริ่มสร้างปัญหาในการทำงานให้กับสมองของเราแล้วครับ งานวิจัยชี้ชัดแล้วครับว่าถ้าเรานอนเพียงแค่สี่ชั่วโมงต่อวันติดต่อกันสี่ถึงห้าวัน ระดับการรับรู้และการทำงานของสมองเราจะเทียบเท่ากับผู้ที่อดนอนมาถึง 24 ชั่วโมงเลยครับ ซึ่งเทียบเท่ากับระดับของการเมาสุรา (ตามกม.สหรัฐนะครับ) และที่สำคัญก็คือยิ่งเรานอนน้อยเท่าไร ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะมากขึ้นเท่านั้น เช่นถ้าดื่มเบียร์หนึ่งกระป๋องในช่วงที่นอนน้อย จะมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองเราได้เท่ากับการดื่มเบียร์ถึงหกกระป๋องเลยครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับ ไม่ทราบเนื้อหาในบทความนี้พอจะเริ่มทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นความสำคัญของการนอนอย่างเพียงพอบ้างหรือยัง? แต่สำหรับผมแล้วอ่านบทความใน HBR จบก็นอนไม่หลับครับ เครียดไปหลายวัน เนื่องจากกลัวจะนอนไม่พอ หวังว่าท่านผู้อ่านคงไม่เป็นแบบผมนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาดูเนื้อหาเกี่ยวกับการนอนและความสามารถในการทำงานต่อนะครับ